กระทรวงอุตฯ สั่งการ กสอ. ลงพื้นที่ เสริมแกร่งเศรษฐกิจชุมชนห้วยยายจิ๋ว เร่งสร้างนักธุรกิจเกษตรรายใหม่ในพื้นที่ชัยภูมิ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

กระทรวงอุตฯ สั่งการ กสอ. ลงพื้นที่ เสริมแกร่งเศรษฐกิจชุมชนห้วยยายจิ๋ว เร่งสร้างนักธุรกิจเกษตรรายใหม่ในพื้นที่ชัยภูมิ

กระทรวงอุตฯ สั่งการ กสอ. ลงพื้นที่ เสริมแกร่งเศรษฐกิจชุมชนห้วยยายจิ๋ว เร่งสร้างนักธุรกิจเกษตรรายใหม่ในพื้นที่ชัยภูมิ

กระทรวงอุตสาหกรรม มอบหมาย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เสริมศักยภาพชุมชนห้วยยายจิ๋ว ขับเคลื่อนการพัฒนาในมิติเชิงพื้นที่ ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับเกษตรกร และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างเครือข่ายเกษตรกรห้วยยายจิ๋ว ต่อยอดสู่การบริหารจัดการและพัฒนากลุ่มของชุมชนอย่างยั่งยืน พร้อมเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ชุมชนและภูมิปัญญากับการท่องเที่ยว ยกระดับศักยภาพในการบริหารจัดการได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน ลดการเคลื่อนย้ายแรงงานจากชุมชนสู่เมือง ตลอดจนเป็นการกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หมุนเวียนภายในชุมชน

นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากนโยบายเร่งด่วนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก ด้วยการยกระดับเกษตรอุตสาหกรรม ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เนื่องจากภาคการเกษตร ถือเป็นหนึ่งใน 4 ของกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่ล่าสุด นำทีมกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ เยี่ยมชมแนวทางการดำเนินงานของศูนย์การเรียนรู้อาชีวศึกษาเพื่อการพัฒนาชนบท (อศ.กช.) วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชัยภูมิ ชมผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปห้วยยายจิ๋ว จังหวัดชัยภูมิ พร้อมดำเนินโครงการ “ห้วยยายจิ๋ว จิ๋วแต่แจ๋ว” เพื่อสร้างผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมรายใหม่ และเป็นการยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรห้วยยายจิ๋วตลอดจนผู้อยู่ในห่วงโซ่อุทานเกษตรอุตสาหกรรมในพื้นที่ สู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ห้วยยายจิ๋ว ผ่าน 2 กิจกรรม ประกอบด้วย
  • กิจกรรมฝึกอบรม 3 หลักสูตร ได้แก่ การสร้างนักธุรกิจเกษตรเบื้องต้น การสร้างกลุ่มเครือข่ายเกษตร นักธุรกิจเกษตรแบบดีพร้อม เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ในการประกอบธุรกิจ เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้ เพื่อพัฒนาสู่เกษตรอุตสาหกรรม
  • กิจกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ผ่านการใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตสินค้าเกษตรแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตชุมชน
นายวิจักขณ์ รัตนสุวรรณ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า กสอ. โดยกองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ จึงได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในระดับส่วนกลาง ระดับชุมชน และระดับอำเภอ จัดกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ในหลักสูตร “การสร้างนักธุรกิจเกษตรเบื้องต้น” ภายใต้แนวคิดของการส่งเสริมแบบ “ปรับตัวให้ถูกทางอย่างยั่งยืน” การขับเคลื่อนการพัฒนาในมิติเชิงพื้นที่ (Area-based Development Policy) เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีแก่ผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรม สร้างแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และแนวทางการพัฒนาห้วยยายจิ๋วสู่ความยั่งยืน ตลอดจนยกระดับจากวิถีการทำเกษตรดั้งเดิมสู่เกษตรสมัยใหม่ หรือที่เรียกว่า “ผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมรายใหม่” (NEC Local Economy) ที่มีกระบวนการคิด วางแผนในรูปแบบใหม่ รวมถึงเน้นให้เกิดการแปรรูปสินค้าทางการเกษตร เพื่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่ม และเชื่อมโยงทางการตลาดแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนาอาชีพจากเกษตรกร
ทั้งนี้ ผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้ ได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในชุมชนห้วยยายจิ๋วกว่า 7.7 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.87 เท่า ผ่านการเกิดผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมรายใหม่ จำนวน 20 ราย โดยกว่าร้อยละ 50 ของผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมรายใหม่ มีรายได้เพิ่มขึ้น 200,000 บาทต่อปี และกว่าร้อยละ 20 ของผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมรายใหม่ มีการลงทุนเพิ่มขึ้น 50,000 บาท หรือ 200,000 บาท เกิดผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม จำนวน 7 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ไก่อบโอ่ง แจ่วมะเขือเทศ พริกผัดเอนกประสงค์ ข้าวเกรียบกลอย น้ำมันกลอย มะเขือเทศหยี และมะเขือเทศบัดดี้ ที่สามารถสร้างรายได้จากการจัดจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 4,141,720 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ยังเกิดการรวมกลุ่มในพื้นที่ถึง 5 เครือข่าย
นอกจากนี้ กสอ. ยังผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างผลิตภัณฑ์ชุมชนและภูมิปัญญากับการท่องเที่ยวผ่านโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village) หรือ CIV ที่มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ประยุกต์ใช้ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและภูมิปัญญา ควบคู่กับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และกิจกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวแบบคนท้องถิ่น พร้อมเรียนรู้วิถีชีวิตภายในชุมชน และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชุมชนกลับไป อันจะก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจบนแนวคิดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ยกระดับศักยภาพในการบริหารจัดการได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน ลดการเคลื่อนย้ายแรงงานจากชุมชนสู่เมือง ตลอดจนเป็นการกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หมุนเวียนภายในชุมชน นายวิจักขณ์ กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ หรือ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2202 4502 หรือติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ www.facebook.com/dipindustry และ www.dip.go.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad