องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก จัดกิจกรรม ส่งมอบกว่า 20,000 รายชื่อผู้สนับสนุนโครงการ Change for Chickens ให้กับKFC หนุนการยกระดับสวัสดิภาพไก่ในประเทศไทย - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก จัดกิจกรรม ส่งมอบกว่า 20,000 รายชื่อผู้สนับสนุนโครงการ Change for Chickens ให้กับKFC หนุนการยกระดับสวัสดิภาพไก่ในประเทศไทย

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก จัดกิจกรรม ส่งมอบกว่า 20,000 รายชื่อผู้สนับสนุนโครงการ Change for Chickens ให้กับKFC

หนุนการยกระดับสวัสดิภาพไก่ในประเทศไทย

 

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก จัดกิจกรรมส่งมอบรายชื่อผู้สนับสนุนโครงการ Change for Chickensจำนวนกว่า 20,000 รายชื่อ ที่ต้องการให้ เคเอฟซี ประเทศไทย เร่งประกาศเจตนารมณ์ในการกระดับสวัสดิภาพไก่ด้วยการลงนามใน The Better Chicken Commitment ณ บริเวณหน้าศูนย์การค้าอัมรินทร์ พลาซ่า เมื่อวันก่อน

นางสาวโรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวว่า “ ไก่เป็นหนึ่งในสัตว์ที่ถูกบริโภคมากที่สุด คนไทยบริโภคไก่เฉลี่ยคนละประมาณ 15 กิโลกรัมต่อปี หรือคิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณเนื้อสัตว์ทั้งหมดที่บริโภคเฉลี่ยคนละ 30กิโลกรัมต่อปี  ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา การบริโภคไก่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะหาง่าย อร่อย และมีราคาถูก แต่สิ่งนี้สวนทางกับสภาพความเป็นอยู่ของไก่ที่นับวันมีแต่จะแย่ลง ไก่ที่เราบริโภคกันทุกวันนี้ส่วนใหญ่ มาจากอุตสาหกรรมฟาร์มไก่ขนาดใหญ่ไม่ใช่การเลี้ยงไก่ในเล้าหลังบ้าน เหมือนเมื่อ 40 กว่าปีก่อนอีกต่อไปแล้ว อุตสาหกรรมฟาร์มไก่ส่วนใหญ่สามารถจุไก่ได้มากนับหมื่นๆตัว ไก่มีชีวิตอันแสนสั้น น่าเบื่อและขาดอิสระ ไก่ส่วนใหญ่จะมีอายุเพียงไม่เกิน 5-6 สัปดาห์เท่านั้น และส่วนมากต้องใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แออัดและไม่เอื้อต่อการแสดงพฤติกรรมทางธรรมชาติ โดยในประเทศไทยนั้น เคเอฟซี เป็นหนึ่งในบริษัทฟาสต์ฟู้ดที่ใช้ไก่เป็นเมนูหลัก แต่ปัจจุบันยังไม่ได้แสดงถึงความใส่ใจในเรื่องสวัสดิภาพไก่เท่าที่ควร ด้วยเหตุนี้เราจึงมอบรายชื่อผู้สนับสนุนกว่า20,000 คน ที่ต้องการให้ เคเอฟซี ประเทศไทย ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่ามีมาตรการใดในการปกป้องสวัสดิภาพของไก่รวมถึงประกาศคำมั่นสัญญาสาธารณะว่า จะยกระดับสวัสดิภาพไก่โดยเลือกซื้อเนื้อไก่จากฟาร์มที่ใส่ใจในสวัสดิภาพสัตว์”

นางสาวเหมือนดาว คงวรรณรัตน์ ผู้จัดการโครงการสัตว์ฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวเสริมว่า “น่าเสียดายที่วันนี้ เคเอฟซี ไม่ได้เข้ารับมอบรายชื่อผู้สนับสนุน 20,000 คน แต่อย่างไรก็ตาม เราก็หวังว่าทาง เคเอฟซี ประเทศไทย จะออกมาเปิดเผยข้อมูลว่ามีมาตรการใดในการปกป้องสวัสดิภาพของไก่รวมถึงประกาศคำมั่นสัญญาสาธารณะว่าจะยกระดับสวัสดิภาพไก่โดยเลือกซื้อเนื้อไก่จากฟาร์มที่ใส่ใจในสวัสดิภาพสัตว์ อย่างไรก็ตาม เคเอฟซี ประเทศไทยควรจะแสดงจุดยืนที่จริงจังและจริงใจในการผลิตอาหารที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และยกระดับคุณภาพชีวิตไก่ในฟาร์ม โดยมาร่วมมือกันกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกในการสร้างแนวทางที่เป็นมาตรฐาน เพื่อพัฒนาสวัสดิภาพของไก่ให้มากขึ้น“

มารีญา พูลเลิศลาภ ทูตองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ในโครงการ Food System เปิดเผยว่า “มารีญารู้สึกดีใจมากค่ะ ที่มีคนเริ่มหันมาสนใจในเรื่องสวัสดิภาพของสัตว์ฟาร์มกันมากขึ้น จะเห็นได้จากจำนวนของผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนโครงการนี้ที่มีมากกว่า 20,000 รายชื่อ ในฐานะที่มารีญาได้เป็นทูตองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก มารีญาจะทำหน้าที่ร่วมเป็นกระบอกเสียง รณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของสวัสดิภาพสัตว์เพิ่มขึ้นค่ะ โดยเฉพาะสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์มในประเทศไทย ภายใต้โครงการ Food System ค่ะ และตอนนี้ค่ะองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกก็ได้โพสต์คลิปวีดีโอทางเฟสบุ๊ค ซึ่งคลิปนี้จะทำให้เราได้เห็นว่า ในแต่ละปี มีสัตว์ฟาร์มจำนวนมากขนาดไหนที่ต้องทุกข์ทรมาน เนื่องจากการเลี้ยงดูที่ไม่คำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งทางเลือกหนึ่งที่เราจะช่วยบรรเทาปัญหานี้ได้ คือ การบริโภคแบบ Less and Better Meat ค่ะ”

กิจกรรมนี้จัดขึ้นโดย องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เพื่อร่วมส่งมอบรายชื่อผู้บริโภคที่สนับสนุนการยกระดับสวัสดิภาพไก่ ให้แก่บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด โดยมี มารีญา พูลเลิศลาภ ทูตองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก โครงการFood System เข้าร่วมพร้อมผู้สนับสนุนโครงการ และเจ้าหน้าที่ขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เพื่อแสดงให้เห็นถึงจุดยืนที่ชัดเจนของเคเอฟซี ที่ใส่ใจในประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสะท้อนถึงความเป็นผู้นำในแบรนด์ไก่ทอดที่ได้รับความนิยมในเมืองไทยมายาวนาน ผ่านการดำเนินธุรกิจด้านอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณภาพแก่ผู้บริโภค และเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างชื่อเสียงและแสดงความเป็นผู้นำในการยกระดับคุณภาพชีวิตไก่ในฟาร์มจำนวนมาก

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์มไปพร้อมกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้ที่เฟซบุ๊กเพจ World Animal Protection Thailandหรือ www.worldanimalprotection.or.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad