8 ความเปลี่ยนแปลง “พฤติกรรมผู้บริโภค” ในโลกหลัง Covid-19 - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2563

8 ความเปลี่ยนแปลง “พฤติกรรมผู้บริโภค” ในโลกหลัง Covid-19

ตอนนี้เชื่อว่านอกจากการโฟกัสกับการบริหารจัดการไวรัส Covid-19 ของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ธุรกิจต้องให้ความสนใจก็คือ ผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปมากแค่ไหนในโลกที่ไวรัสผ่านพ้นไปแล้ว วันนี้เราเลยขอนำบทวิเคราะห์ และการคาดการณ์ Consumer Trends ที่น่าสนใจจาก TrendWatching มาฝากกัน 8 ข้อดังนี้ค่ะ
ผู้บริโภคมองหาผู้ช่วยสอนทักษะงานบ้าน
เพราะโลกก่อนหน้าที่ Covid-19 จะมาเยือนคือโลกที่ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยนิยมทำให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้นด้วยบริการแบบ On-Demand ทั้งสั่งอาหารผ่านบริการ Food Delivery, ซื้อของชำ, ล้างแอร์, ล้างรถ, ตัดผม, ฯลฯ แต่เมื่อเจอพิษไวรัส ความเปลี่ยนแปลงข้อหนึ่งคือเราชักไม่แน่ใจเรื่องความปลอดภัยจากการใช้บริการ On-Demand เหล่านั้นเสียแล้ว และนั่นอาจทำให้ผู้บริโภคจำนวนหนึ่งเริ่มเปิดคลิปสอนทำอาหาร คลิปสอนล้างแอร์ คลิปสอนปลูกผัก ฯลฯ และฝึกทำเองเพื่อความปลอดภัยในชีวิต ซึ่งในจำนวนคนที่ต้องหัดทำกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ อาจมีหลายคนที่ติดใจกับการทำงานบ้านด้วยตัวเองมากขึ้นก็เป็นได้ ทำให้หลังจาก Covid-19 ผ่านพ้นไป ธุรกิจการ “สอน” เหล่านี้จะกลายเป็นสิ่งจำเป็นมากขึ้น
ผู้บริโภคอยากซื้อของอย่างมั่นใจมากขึ้น
ในวันที่คนไม่สามารถออกไปเดินซื้อข้าวของในตลาดได้อย่างสะดวกเหมือนในอดีต พวกเขาก็จะหันไปหาซื้อบนโลกออนไลน์ แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็คือการโพสต์สินค้าด้วยภาพนิ่งอย่างเดียวอาจไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว แต่ผู้ขายอาจต้อง Live-Streaming สินค้าของพวกเขาให้ผู้ซื้อได้ดูกันสด ๆ เพื่อเพิ่มความมั่นใจ
ตัวอย่างการสตรีมมิ่งผลผลิตทางการเกษตรบน Taobao
หนึ่งในตลาดที่เห็นผลของการ Live-Streaming อย่างมากก็คือตลาดจีน โดยพบว่า เกษตรกรจีนมีการสตรีมมิ่งพืชผักของตนเองเพื่อขายบน Taobao ด้วย โดยสามารถทำรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรได้ราว 10,000 หยวนต่อเดือนเลยทีเดียว
ผู้บริโภคอยากได้ระบบอัตโนมัติ 
หากยังไม่ลืมกัน ก่อนหน้าที่เราจะเจอไวรัส Covid-19 โลกของเอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ก็กำลังพัฒนาตัวเองไปอย่างรวดเร็ว แถมในการต่อสู้กับเชื้อไวรัสก็มีการนำเอไอมาใช้หลากหลายรูปแบบ โลกหลังจากไวรัส Covid-19 ผ่านพ้นไปก็เช่นกัน เอไอจะกลับมาพัฒนาตัวเองต่ออย่างแข็งขัน โดยเฉพาะงานในกลุ่ม Contact-free Interactions เพื่อที่ว่าในอนาคต มันจะได้เข้ามาแทนที่มนุษย์ได้อย่างเต็มรูปแบบ ชนิดที่ว่าต่อให้มีการแพร่ระบาดของไวรัสกันอีก บริการพื้นฐานเหล่านี้ก็ยังคงดำเนินต่อไปได้
หรือหากยกตัวอย่างกันอีกสักนิดก็คงเป็นบริการของ Domino’s Pizza ที่นำรถยนต์อัจฉริยะมาใช้ในการจัดส่งพิซซ่าโดยที่คนขับควบคุมมาจากระยะไกลนั่นเอง
รถ Nuro ของ Domino’s Pizza ที่ไม่ต้องมีคนขับนั่งไปด้วย
ผู้บริโภคอยาก “เก่งขึ้น” 
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงักได้ แถมยังเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของผู้คนให้ขึ้นมาอยู่บนโลกออนไลน์กันเป็นแถวนั้น อาจถือเป็นความพ่ายแพ้ครั้งสำคัญของมนุษยชาติก็จริง แต่ในความพ่ายแพ้นี้จะทำให้คนบางส่วนหันกลับไปพัฒนาตัวเองเพิ่มเติม หรือไม่ก็หาทักษะใหม่ ๆ มาเสริมแกร่งให้ชีวิตกันมากขึ้น
ที่สำคัญ พื้นที่ความรู้ที่คนเราจะเข้าไปหานั้นคือบรรดาแพลตฟอร์มออนไลน์ หาใช่โรงเรียนสอนพิเศษแบบที่เคยเป็นมาอีกแล้ว ดังนั้น นาทีนับจากนี้ไปจึงเป็นโอกาสของธุรกิจการศึกษาที่มีแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างแท้จริง
ผู้บริโภคมองหาธุรกิจที่มั่นใจได้ในความสะอาด
เมื่อโลกเราผ่านพ้นวิกฤติไวรัส Covid-19 ไปได้ แน่นอนว่าสิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือเราคงจะล้างมือหรือใช้เจลฆ่าเชื้อโรคกันน้อยลงจนกลับสู่ภาวะปกติ แต่เชื่อว่าจะมีอีกหลายคนที่พบเหตุการณ์ฝังใจ เช่น อาจมีญาติ หรือเพื่อนสนิทที่ต้องป่วยด้วยไวรัสดังกล่าว และจะทำให้ธุรกิจที่โปรโมตตัวเองด้านความสะอาดกลายเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ ของคนกลุ่มนี้
หรือหากยังไม่เห็นภาพ อาจขอยกกรณีของแบรนด์ Stella McCartney ที่เปิดตัว Flagship Store โดยชูจุดขายด้านระบบกรองอากาศในร้านว่าสามารถกำจัดมลพิษจากอากาศภายนอกร้านได้มากถึง 95%
แบรนด์ Stella McCartney ที่เปิดตัว Flagship Store โดยชูจุดขายด้านระบบกรองอากาศ
ผู้บริโภคมองหาธุรกิจที่ช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจ
แม้จะมีข้อมูลหลาย ๆ ด้านชี้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ไม่ใช่โรคระบาดครั้งใหญ่ที่คร่าชีวิตผู้คนได้เป็นจำนวนมาก แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก Covid-19 ก็ร้ายแรง และสามารถทำให้หลายคนสิ้นเนื้อประดาตัวไปตาม ๆ กัน ด้วยเหตุนี้ อีกหนึ่งธุรกิจที่จะโดดเด่นหลังจากไวรัสผ่านพ้นไปจึงอาจเป็นเรื่องของการสร้างขวัญกำลังใจให้กลับมาอีกครั้ง รวมถึงธุรกิจที่สามารถสร้างบรรยากาศในการดูแลลูกค้าให้ดียิ่งกว่าเดิม
ผู้บริโภคมองหาธุรกิจที่พร้อมจะร่วมมือกับผู้อื่น
ที่ผ่านมา การแก้ปัญหาให้ผ่านพ้นไปได้ต้องเกิดจากความร่วมมือร่วมใจกัน และผู้บริโภคจะไม่โอเคเลยกับการสร้างความขัดแย้ง การไม่คุยกันดี ๆ หรือการแข่งขันกันในเรื่องที่ไม่จำเป็น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในประเทศเราอาจเป็นการที่กระทรวงหนึ่งแถลงข่าวตอนเช้า อีกกระทรวงหนึ่งแถลงข่าวตอนบ่ายให้มันขัดแย้งกันเสียอย่างนั้น
หนึ่งในตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นและทำให้ปัญหาจราจรในเมืองใหญ่ของโลกได้รับการแก้ไขคือการที่ Uber, Ford และ Lyft แชร์ Data ของการใช้ถนนร่วมกันบนแพลตฟอร์มกลางอย่าง SharedStreets ซึ่งพัฒนาโดยใช้เงินสนับสนุนจาก Bloomberg Philanthropies โดยการตัดสินใจเช่นนั้นทำให้ทางตัวเมืองนำข้อมูลไปบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น (เรื่องนี้เกิดในปี 2018 ซึ่งเมืองใหญ่ต่าง ๆ เต็มไปด้วยปัญหาจราจร)
ผู้บริโภคมองหา Virtual Goods สำหรับแสดงสถานะของตนบนโลกออนไลน์
แนวคิดนี้ของ TrendWatching มองว่า มนุษย์ชอบแสดงสถานะของตนเองผ่าน “อะไรบางอย่าง” ซึ่งอะไรบางอย่างที่ว่านั้น ในอดีตกาลมันอาจเป็นกระเป๋าแบรนด์เนม โทรศัพท์มือถือ หรืออะไรก็ตามที่จับต้องได้ แต่เมื่อเราย้ายตัวตนมาอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้น สิ่งที่เราจะใช้บ่งบอกสถานะก็อาจจะเปลี่ยนไปเป็น Virtual Goods ด้วยเช่นกัน
ที่มา Brandbuffet

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad