มูลนิธิรามาธิบดีฯ เปิดตัว “โครงการรามาธิบดีเพื่อโรงพยาบาลชุมชน”
ส่งต่อความช่วยเหลือคนด้อยโอกาสที่อยู่ห่างไกล
กรุงเทพฯ – 29 กันยายน 2564 – มูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีสานต่อภารกิจแห่งการให้ เชิญคนไทยร่วมส่งต่อความช่วยเหลือให้กับโรงพยาบาลชุมชน เพื่อให้คนด้อยโอกาสที่อยู่ห่างไกลได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน ผ่าน โครงการรามาธิบดีเพื่อโรงพยาบาลชุมชน
โครงการรามาธิบดีเพื่อโรงพยาบาลชุมชน ก่อตั้งโดยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมกับ 4 โรงพยาบาลชุมชน ได้แก่ โรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จ.เลย โรงพยาบาลน้ำพอง และโรงพยาบาลอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสที่อยู่ห่างไกล ผ่านการสนับสนุนโรงพยาบาลชุมชนในด้านทุนทรัพย์สำหรับการปรับปรุงอาคารสถานที่ จัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ งบวิจัยสำหรับส่งเสริมการเรียนการสอนและการป้องกันสุขภาพ เช่น การรับมือการแพร่ระบาดของโควิด – 19รวมถึงงบประมาณสำหรับการผลิตนักบริบาลชุมชนให้แก่ 23โรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ* ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือชุมชนในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านสุขภาพ และการดำรงชีวิต ซึ่งโรงพยาบาลชุมชนเหล่านี้ไม่เพียงเป็นที่พึ่งของชุมชน แต่ยังเป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่บุคลากรการแพทย์สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น
ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิรามาธิบดีฯกล่าวว่า “โรงพยาบาลรามาธิบดีในฐานะโรงพยาบาลรัฐและโรงเรียนแพทย์ของประเทศ ตระหนักดีว่า “โรงพยาบาลชุมชน” มีศักยภาพในการขับเคลื่อนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส อีกทั้งยังเป็นห้องเรียนนอกสถานที่ของนักศึกษาทางการแพทย์ และเป็นที่ทำงานของแพทย์ใช้ทุนหลังเรียนจบอีกด้วย ดังนั้นการสนับสนุนงานของโรงพยาบาลชุมชนในมิติต่าง ๆ นั้นจะช่วยทำให้ฟันเฟืองนี้เข้มแข็งขึ้น และหวังว่าโครงการนี้จะเป็นต้นแบบและสร้างแรงบันดาลใจให้กับหน่วยงานอื่น ๆ ให้เข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนโรงพยาบาลชุมชนที่มีอยู่จำนวนมากทั่วประเทศต่อไปในอนาคต หากชุมชนแข็งแรง ก็จะช่วยสร้างรากฐานระบบสาธารณสุขไทยให้แข็งแรงยิ่งขึ้น”
ด้านนางสาวพรรณสิรี คุณากรไพบูลย์ศิริ ผู้จัดการมูลนิธิรามาธิบดีฯ เผยว่า “โครงการนี้ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจเพราะครั้งนี้มูลนิธิรามาธิบดีฯ ได้ทำหน้าที่เป็นสะพานบุญเชื่อมน้ำใจของผู้ให้ไปช่วยเหลือผู้คนที่อยู่ห่างไกล ดังปณิธานที่ว่า #คำว่าให้ไม่สิ้นสุด เงินที่ท่านบริจาคให้โครงการรามาธิบดีเพื่อโรงพยาบาลชุมชนไม่เพียงแต่เป็นการช่วยเหลือเรื่องการรักษาผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังช่วยครอบครัวให้เข็มแข็ง สร้างอาชีพให้ผู้พิการ สร้างความรู้เป็นเกราะป้องกันโรค และที่สำคัญช่วยให้โรงพยาบาลชุมชนมีความคล่องตัวในการดำเนินงานเพื่อเป็นที่พึ่งของชุมชนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป”
โครงการรามาธิบดีเพื่อโรงพยาบาลชุมชน เปรียบเสมือนแรงผลักดันที่จะช่วยพัฒนาในชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยได้นำหนึ่งในเรื่องราวจริงของชีวิตผู้ป่วยที่ได้รับความช่วยเหลือจากโรงพยาบาลชุมชนมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ประชาสัมพันธ์สะท้อนให้เห็นถึงผลของการให้…ได้อะไรมากกว่าที่คุณคิด พร้อมเชิญคนไทยร่วมบริจาค โครงการรามาธิบดีเพื่อโรงพยาบาลชุมชน เพื่อส่งต่อความช่วยเหลือแก่คนในชุมชนชนที่อยู่ห่างไกลทั่วประเทศ
#คำว่าให้ไม่สิ้นสุด
คำกล่าวเพิ่มเติมจากผู้บริหารโรงพยาบาลชุมชน 4 โรงพยาบาลต้นแบบ
“สร้าง” สุขภาพที่ดี จะได้ไม่ต้องมา “ซ่อม” ทีหลัง
นพ.อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น หนึ่งในโรงพยาบาลต้นแบบการส่งเสริมระบบดูแลสุขภาพ กล่าวว่า “การสร้างบ้านให้ดีให้แข็งแรงไม่ต้องมาซ่อมทีหลัง สุขภาพก็เช่นกัน เพราะการซ่อมสุขภาพเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ จากงานวิจัยของโรงพยาบาลอุบลรัตน์พบว่า การเจ็บป่วยของประชาชน ร้อยละ75 สามารถดูแลรักษาตัวเองที่บ้านและชุมชนได้ มีเพียงร้อยละ 25 ที่ต้องมาพบแพทย์ เมื่อเราไปสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวและชุมชนในการดูแลรักษาพยาบาลที่บ้านและชุมชน จะทำให้โรงพยาบาลมีงานลดลง ทีมงานของโรงพยาบาลมีเวลาไปสร้างสุขภาพ ป้องกันโรค และสนับสนุนการแก้ปัญหาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต ทำให้ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็งจนพึ่งตนเองได้ในระยะยาว และมีสุขภาพดีขึ้นทั้งทางกาย ทางใจ ทางสังคม และทางสติปัญญา ไม่ต้องซ่อมสุขภาพเสียจนคนไข้ล้นโรงพยาบาลดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน”
“คนไม่ได้พิการ สิ่งแวดล้อมต่างหากที่พิการ”
นพ.ภักดี สืบนุการณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จังหวัดเลย หนึ่งในโรงพยาบาลต้นแบบการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพผู้พิการ กล่าวว่า “โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย มีแนวคิดว่าคนพิการควรได้รับการดูแลและส่งเสริมความสามารถอย่างรอบด้าน เพื่อให้มีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับ เพื่อให้มีอาชีพที่เป็นประโยชน์สร้างรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ โดยผู้พิการก็คือคนปกติ โดยสิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุดคือโอกาส เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นสามารถกลับสู่สังคมอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสามารถดำรงชีวิตประจำวันใกล้เคียงบุคคลปกติให้ได้มากที่สุด”
“ใจรักบริการ ทำงานใกล้ชิดชุมชนดุจญาติมิตร”
นพ.วิชัย อัศวภาคย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น หนึ่งในโรงพยาบาลต้นแบบที่ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ กล่าวว่า “จุดเริ่มต้นของการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์เกิดจากปัญหาการขาดแคลนบุคลากรสาธารณสุข โรงพยาบาลน้ำพองจึงทดลองรูปแบบการพัฒนาคน โดยใช้โครงสร้างของพยาบาลชุมชน เพื่อชุมชน ของชุมชน โดยชุมชน ด้วยการจัดหาทุนส่งเสริมเพื่อเพิ่มกำลังสำคัญในการให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง เช่น การส่งเสริมศักยภาพนักกายภาพบำบัด รวมถึงขยายหน่วยการรักษาที่สำคัญออกสู่พื้นที่ชุมชนมากขึ้น เช่น ศูนย์ตรวจผ่าตัดต้อกระจก ศูนย์ฟอกไต ควบคู่ไปกับงานเสริมสร้างสุขภาพและป้องกันโรคด้วยนักบริบาลชุมชนเพราะถ้าหากได้คนดีมีคุณภาพในปริมาณที่มากพอเข้ามาทำงาน ย่อมจะช่วยสนับสนุนระบบสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ ต่อยอดให้ประชาชนมีสุขภาวะที่ดีทั้งทางกาย ทางใจ ทางสังคม และทางปัญญา”
“ดูแลทุกคน ทุกเชื้อชาติด้วยมาตรฐานเดียวกัน เพราะโรคภัยไม่เลือกเขตแดน”
นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จังหวัดตาก หนึ่งในโรงพยาบาลต้นแบบด้านการส่งเสริมสุขภาพประชาชนในพื้นที่ชายแดน กล่าวว่า “โรงพยาบาลอุ้มผางคือที่พึ่งของชาวบ้านยามเจ็บป่วยราว 73,000 กว่าชีวิตในแต่ละปี แต่ขณะเดียวกันมากกว่าครึ่งของประชาชนเหล่านั้นมีสถานะเป็นบุคคลไร้สัญชาติ เราจึงทำงานเชิงรุกเพื่อผลักดัน พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ครอบคลุมบุคคลไร้สัญชาติในประเทศไทย เพื่อให้ชาวบ้านเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพพร้อมแก้ไขปัญหาโรคติดต่อในพื้นที่เพื่อลดการแพร่กระจายเข้าสู่พื้นที่ในเขตเมือง รวมถึงยังส่งเสริมการดูแลปัญหาเชิงพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น