พิษโควิดทำฉลามติดดอย สัตว์เลี้ยงถูกปล่อยเกาะในรพ.ปิดชั่วคราว - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563

พิษโควิดทำฉลามติดดอย สัตว์เลี้ยงถูกปล่อยเกาะในรพ.ปิดชั่วคราว

เหตุจากการประกาศปิดสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัส COVID-19 เชียงใหม่ ซู อควาเรียม ได้รับผลกระทบหนักทางเศรษฐกิจจนอาจต้องปิดกิจการ บอกลาสัตว์ทะเลกว่า 20,000  ชีวิต ขณะสัตว์เลี้ยงจำนวนหนึ่งถูกละทิ้งตามโรงพยาบาลสัตว์และร้านค้าสัตว์เลี้ยงที่ถูกสั่งปิดชั่วคราวทั่วกรุงเทพฯ
นฤทัติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้บริหารเชียงใหม่  ซู อควาเรียม ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเรียนรู้สัตว์น้ำจืดและน้ำเค็มบนดอยที่มีสัตว์น้ำกว่า 20,000 ตัว เผยกับสำนักข่าวไทย ถึงแนวโน้มปิดกิจการถาวร เพราะอควาเรียมไม่สามารถแบกรับต้นทุนค่าดูแลสวนสัตว์ อาทิ ค่าระบบออกซิเจน ค่าอาหารปลา ค่าพนักงาน สูง 3 ล้านบาทต่อเดือน เขาเปิดเผยว่า มีทุนดูแลสัตว์น้ำเหล่านี้ต่อได้เพียงเดือนเดียว
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ เชียงใหม่  ซู อควาเรียม ชี้แจงว่าปัจจุบันอควาเรียมปิดชั่วคราวเป็นเวลาสองสัปดาห์ระหว่างวันที่ 19 – 31 มีนาคม พ.ศ.2563 และอยู่ในขั้นตอนรอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ โดยยังมีเจ้าหน้าที่ดูแลสัตว์น้ำและช่างระบบเข้ามาทำงาน ถ้าหากสถานการณ์ร้ายแรงจนถึงขั้นต้องปิดกิจการ จะต้องดำเนินการหาทางส่งสัตว์น้ำทั้งหมดให้ผู้อื่นดูแลต่อ
ด้าน ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการทางทะเล โพสในเฟซบุ๊กว่า เป็นห่วงความเป็นอยู่ของสัตว์น้ำในอควาเรียม เรียกร้องให้รัฐบาลหาทางเยียวยาผู้ประกอบการ และหวังให้เป็นบทเรียนในอนาคตถึงการเปิดสถานเลี้ยงสัตว์น้ำที่ไกลจากทะเล 
ไม่เพียงแค่สัตว์ในสถานเลี้ยงเอกชนเท่านั้น สัตว์เลี้ยงทั่วไปเองก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 เช่นกัน โรเจอร์ โลหะนันท์ ผู้ก่อตั้งสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย เปิดเผย วันนี้ (24 มีนาคม พ.ศ.2563) ว่าสมาคมได้รับการร้องเรียนจำนวนมากเรื่องโรงพยาบาลสัตว์และร้านค้าสัตว์หลายแห่งถูกสั่งปิด เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครจำนวนหนึ่งเข้าใจประกาศสั่งปิดสถานที่ชั่วคราวคลาดเคลื่อน ทำให้เข้าห้ามเจ้าของกิจการร้านสัตว์เลี้ยงเข้ามาดูแลสัตว์เลี้ยง และสั่งปิดโรงพยาบาลสัตว์ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นสถานพยาบาล ไม่ใช่สถานบริการทั่วไป
เขาฝากให้กทม.ชี้แจงแก่หน่วยงานต่างๆ ให้ชัดเจน พร้อมย้ำว่าการปิดสถานพยาบาลสัตว์ อาจทำให้สัตว์ป่วยหรือตาย นับเป็นการทารุณกรรมสัตว์ ผิดพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์พ.ศ.2557 มาตรา 22 ซึ่งเจ้าของต้องจัดสวัสดิภาพสัตว์ และ มาตรา 23 การทอดทิ้งสัตว์  นอกจากนี้อาจเสี่ยงก่อให้เกิดโรคระบาดจากสัตว์เพิ่มเช่นกัน ทั้งนี้อาจขอความร่วมมือกับสถานพยาบาลสัตว์ต่างๆ ให้งดบริการที่ไม่จำเป็นต่อสุขภาพสัตว์ชั่วคราว เช่น บริการอาบน้ำตัดขน 
นอกจากนั้นเขายังลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ให้ สถานพยาบาลหรือสถานประกอบการที่จำเป็นต้องปิด ควรมีมาตรการดูแลสัตว์ในการดูแล และแจ้งให้กองสวัสดิภาพสัตว์ กรมปศุสัตว์ รับทราบด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ที่มาGreenNews

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad