“สินิตย์”สั่งดันขึ้นทะเบียน GI สินค้าชุมชน จ.หนองคาย-เลยเพิ่ม ชี้เป้า 4 รายการ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

“สินิตย์”สั่งดันขึ้นทะเบียน GI สินค้าชุมชน จ.หนองคาย-เลยเพิ่ม ชี้เป้า 4 รายการ

img

“สินิตย์”มอบกรมทรัพย์สินทางปัญญาผลักดันขึ้นทะเบียน GI สินค้าชุมชนของ จ.หนองคาย และ จ.เลย เพิ่มขึ้น เผยพบสินค้าที่มีโอกาส ทั้งสับปะรดศรีเชียงใหม่ ปลานิลแม่น้ำโขง ข้าวเหนียวแดงเมืองเลย และข้าวเหนียวซิวเกลี้ยงเมืองเลย

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่จังหวัดหนองคายและจังหวัดเลย ว่า ได้มอบหมายให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาเดินหน้าสำรวจผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นในพื้นที่อีสานเหนือ เพื่อผลักดันให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) โดยพบว่ามีสินค้าท้องถิ่นอีกหลายรายการที่มีเอกลักษณ์และมีศักยภาพที่อาจผลักดันให้ขึ้นทะเบียน GI ได้ เช่น สับปะรดศรีเชียงใหม่ ที่มีเนื้อฉ่ำ หวาน หอม แกนหวานกรอบ ทานได้ตลอดทั้งปี และปลานิลแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นปลานิลในกระชังเลี้ยงในแม่น้ำโขงที่มีมัดกล้ามเนื้อมาก เนื้อปลาเมื่อปรุงสุกมีรสชาติหวานมัน ของจังหวัดหนองคาย และข้าวเหนียวแดงเมืองเลย ที่เป็นข้าวเหนียวพันธุ์พื้นเมืองที่มีกลิ่นหอมเฉพาะเป็นเอกลักษณ์ และข้าวเหนียวซิวเกลี้ยงเมืองเลย ของจังหวัดเลย ที่เมื่อนึ่งสุกนุ่มจะมีกลิ่นหอม เป็นต้น

“จากนี้ไป กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเดินหน้าตรวจสอบรายละเอียด และผลักดันสินค้าให้เข้าสู่ระบบการคุ้มครอง GI ต่อไป และคาดว่าสินค้าเหล่านี้จะเป็นอีกตัวแปรสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในอนาคต”นายสินิตย์กล่าว

ก่อนหน้านี้ ได้มีการขึ้นทะเบียน GI สินค้ากล้วยตากสังคม ของจังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นต้นแบบธุรกิจชุมชนที่ประสบความสำเร็จ ทั้งในแง่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและรักษาคุณภาพการผลิตด้วยระบบการคุ้มครอง GI อย่างเป็นรูปธรรม โดยมียอดการผลิตปีละกว่า 25,000 กิโลกรัม และสร้างรายได้ให้กับชุมชนปีละกว่า 3,750,000 บาท

สำหรับการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าชุมชนที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI แล้ว กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา จะเข้าไปช่วยจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้า การส่งเสริมช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ การพัฒนาศักยภาพของสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาด การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การโปรโมตสินค้าให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และการเชื่อมโยงแหล่งผลิตสินค้า GI ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยว และเลือกซื้อสินค้า  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad