
ส่งออก ส.ค.66 เพิ่ม 2.6% บวกครั้งแรกในรอบ 11 เดือน รวม 8 เดือนยังลบ 4.5%
“พาณิชย์”เผยการส่งออก ส.ค.66 ทำได้มูลค่า 24,279.
ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 2.6% พลิกบวกครั้งแรกในรอบ 11 เดือน สินค้าเกษตร
บวกครั้งแรกรอบ 4 เดือน และสินค้าอุตสาหกรรม บวกครั้งแรกรอบ 3 เดือน รวม 8
เดือน ยังลบ 4.5% คาดเดือน ก.ย. ยังมีลุ้น แต่ฐานสูงมาก ส่วนไตรมาส 4
เป็นบวกแน่ ทั้งปียังมีเป้าทำงาน 1-2% ถ้าไม่ได้
จะพยายามให้ติดลบน้อยที่สุด
นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน ส.ค.2566
มีมูลค่า 24,279.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.6%
เป็นการพลิกกลับมาบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 11 เดือน ถือเป็นสัญญาณที่ดี
เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 824,938.0 ล้านบาท การนำเข้ามีมูลค่า 23,919.7
ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 12.8% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 822,476.4 ล้านบาท
ได้ดุลการค้ามูลค่า 359.9 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 2,461.6
ล้านบาท รวมการส่งออก 8 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่า 187,593.1
ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 4.5% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 6,379,734.3 ล้านบาท
นำเข้ามูลค่า 195,518.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 5.7% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า
6,732,833.5 ล้านบาท ขาดดุลการค้า มูลค่า 7,925.4 ล้านเหรียญสหรัฐ
คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 353,099.2 ล้านบาท
ทั้งนี้ การส่งออกของไทยเดือน ส.ค.2566 ที่กลับมาเป็นบวกได้ 2.6%
เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ถือว่าไทยทำได้ดี โดยอินเดีย ลบ 6.9% ไต้หวัน ลบ
7.3% เกาหลีใต้ ลบ 8.3% จีน ลบ 8.8% สิงคโปร์ ลบ 12.6% มาเลเซีย ลบ 21.2%
และอินโดนีเซีย ลบ 21.2% เป็นต้น
สำหรับการส่งออกที่เพิ่มขึ้น มาจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าเกษตร 4.2%
เป็นบวกครั้งแรกในรอบ 4 เดือน แต่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ยังลดลง 7.6%
โดยสินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น เช่น ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง เพิ่ม 99.8%
เฉพาะมังคุดสด เพิ่ม 28,175% ข้าว เพิ่ม 10.8% สิ่งปรุงรสอาหาร เพิ่ม
28.6% ผักกระป๋องและผักแปรรูป เพิ่ม 26.5% นมและผลิตภัณฑ์นม เพิ่ม 13.2%
ผักสดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง เพิ่ม 22.8% ส่วนยางพารา ลด 32.9%
ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ลด 12.8% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ลด 9.7%
น้ำตาลทราย ลด 23.1% ไก่แปรรูป ลด 12.8% ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ลด
57.4%
ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 2.5% เป็นบวกครั้งแรกในรอบ 3 เดือน
โดยสินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่ม 5.2%
แผงวงจรไฟฟ้า เพิ่ม 39.8% เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เพิ่ม 6.4%
เครื่องโทรศัพท์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่ม 36.9% อุปกรณ์กึ่งตัวนำ
ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เพิ่ม 74.5% หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เพิ่ม 59.1%
ส่วนเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ลด 26.9% ผลิตภัณฑ์ยาง ลด
4.7% อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ลด 10.4%
เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ลด 23.4%
ทางด้านการส่งออกไปตลาดสำคัญ ตลาดหลัก เพิ่ม 2.3% โดยสหรัฐฯ เพิ่ม 21.7%
จีน 1.9% และญี่ปุ่น 15.7% แต่อาเซียน (5) CLMV และสหภาพยุโรป (27) ลด 1.5 ,
21.3 และ 11.6% ตลาดรอง เพิ่ม 2.4% โดยทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 22.4% แอฟริกา
4.9% รัสเซียและกลุ่ม CIS 30.4% และสหราชอาณาจักร 10.7%
ขณะที่ตลาดเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกา ลด 0.9 , 12.6 และ 11.7%
และตลาดอื่น ๆ เพิ่ม 62.8% เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 53.6%
นายกีรติกล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกเดือน ก.ย.2566
ยังหวังว่าจะฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง แต่ก็มีข้อสังเกตเดือน ก.ย.2565
ฐานสูงมาก มีมูลค่า 24,953.1 ล้านเหรียญสหรัฐ
ก็ต้องมามารอดูว่าจะส่งออกได้เกิน 2 หมื่นเหรียญสหรัฐไปเท่าไร
แต่ตัวเลขตั้งแต่เดือน ต.ค.-ธ.ค.2566 น่าจะเห็นอะไรดี ๆ เข้ามา
เพราะเป็นช่วงที่คำสั่งซื้อเข้ามาเยอะ ส่วนเป้าทั้งปี
ยังคงมีเป้าทำงานไว้ที่ 1-2% ถ้าทำเป็นบวกไม่ได้ ก็ต้องให้ติดลบน้อยที่สุด
ซึ่งต้องถือว่าเอกชนของไทย
ยืนอยู่แถวหน้าได้เลยในเรื่องการส่งออกด้วยศักยภาพที่มีอยู่
และยังมีการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนที่ช่วยขับเคลื่อนการส่งออก
ทั้งรักษาตลาดเดิม เปิดตลาดใหม่ ที่เป็นปัจจัยสนับสนุน
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า
ภาคเอกชนมองว่าแนวโน้มการส่งออกในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ จะกลับมาเป็นบวกได้
และในช่วงที่เหลืออีก 4 เดือน หากจะให้การส่งออกพลิกกลับมาขยายตัว 0%
การส่งออกแต่ละเดือนต้องทำให้ได้มูลค่า 24,960 ล้านเหรียญสหรัฐ และถ้าติดลบ
1% จะต้องส่งออกให้ได้เฉลี่ย 24,200 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ถ้าจะให้ฟันธง
ทั้งปีน่าจะติดลบ 1%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การส่งออกเดือน ส.ค.2566 ที่เพิ่มขึ้น 2.6%
เป็นการกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 11 เดือน หลังจากที่ก่อนหน้านี้
การส่งออกติดลบต่อเนื่องมาแล้ว 10 ติดต่อกัน นับตั้งแต่เดือน ต.ค.2565
ที่ลดลง 4.2% พ.ย.2565 ลด 5.6% ธ.ค.2565 ลด 14.3% ม.ค.2566 ลด 4.6%
ก.พ.2566 ลด 4.8% มี.ค.ลด 4.2% เม.ย.2566 ลด 7.7% พ.ค.ลด 4.6% มิ.ย. ลด
6.5% ก.ค.ลด 6.2%
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น