โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมปี 2567 เติบโตตามกระแสการใช้ไฟฟ้าสีเขียว ท่ามกลางแรงหนุนจากต้นทุนโรงไฟฟ้าที่ต่ำลง - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมปี 2567 เติบโตตามกระแสการใช้ไฟฟ้าสีเขียว ท่ามกลางแรงหนุนจากต้นทุนโรงไฟฟ้าที่ต่ำลง


โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมปี 2567 เติบโตตามกระแสการใช้ไฟฟ้าสีเขียว ท่ามกลางแรงหนุนจากต้นทุนโรงไฟฟ้าที่ต่ำลง

การผลิตไฟฟ้าหมุนเวียนจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar) และพลังงานลม (Wind) ปี 2024 มีแนวโน้มขยายตัวตามความต้องการใช้ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ผลจากเป้าหมาย Net zero pathway ที่มีร่วมกันของหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย นอกจากนี้ ยังหนุนให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องเติบโตตาม อาทิ แผงโซลาร์และอุปกรณ์กังหันลม รวมถึงโครงข่ายไฟฟ้า (Grids) 

การผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ของทั่วโลก

ตลาดการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ของทั่วโลกยังคงเติบโตได้ดีต่อเนื่อง (ในปี 2024 ขยายตัว 29% ต่อปี) และทยอยเพิ่มบทบาทในการผลิตไฟฟ้าของโลก ปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ได้แก่ 1. การลดการพึ่งพาไฟฟ้าจากพลังงาน Fossil ที่ราคามีความผันผวน (โดยเฉพาะในแถบแอฟริกา) 2. แผนการเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกเกือบ 50% ภายในปี 2028 และเข้าสู่ Net zero ภายในปี 2050 3. การอุดหนุนของภาครัฐเพื่อสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง (Self-consumption) และ 4. ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่ต่ำเมื่อเทียบกับแหล่งพลังงานอื่น ๆ ผนวกกับต้นทุนของแบตเตอรี่ ESS ที่ทยอยปรับตัวลดลง ช่วยลดข้อจำกัดในการใช้ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ลง ทั้งนี้จากแนวโน้มการเติบโตข้างต้น เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนในตลาด PPA ในต่างประเทศ เช่น ตลาดอินเดียและบางประเทศในแอฟริกา ที่การผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เติบโตดีในอีก 5 ปีข้างหน้า ท่ามกลางศักยภาพของพื้นที่เหมาะสม และนโยบายสนับสนุนตลาด PPA (พิจารณาจาก PPA policy score ที่จัดทำโดย EY1)

การผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ของไทย

ในส่วนของตลาดไทย การผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์มีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากแรงหนุนของตลาดที่ขายไฟให้ลูกค้าโดยตรง (Private PPA) และ Self consumption (ทั้งสองตลาดมีโอกาสเติบโตเร่งขึ้นอีกมาก หากภาครัฐให้การสนับสนุน เช่น นโยบาย TPA : Third Party Access & Wheeling charges2) นอกจากนี้ ตลาดที่ขายไฟให้ภาครัฐ (Public PPA) ยังมีโอกาสเติบโต ทั้งจากโครงการที่อยู่ระหว่างเตรียมเปิดประมูลเฟส 2 ราว 2.6 GW และแผน PDP ใหม่ที่คาดว่าอาจประกาศได้ในปี 2024 (ซึ่งเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในสิ้นปี 2037 อาจจะเพิ่มขึ้นจากแผน PDP2018Rev1 กว่า 200%)

ความต้องการใช้แผงโซลาร์ของทั่วโลก

ความต้องการใช้แผงโซลาร์ทั่วโลกเติบโตได้ดีตามตลาดการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ โดยในปี 2024 ขยายตัวราว 24%YOY และขยายตัวได้ต่อเนื่องในระยะกลาง โดยเฉพาะตลาด Self consumption ที่กำลังเพิ่มบทบาทมากขึ้นและขยายตัวได้ดีกว่าตลาดโรงไฟฟ้า ในส่วนของแนวโน้มราคาแผงโซลาร์ในปี 2024 คาดว่ายังคงลดลงต่อเนื่อง เป็นผลมาจาก 1. ราคา Polysilicon ที่ลดลงจากกำลังการผลิตต้นทุนต่ำที่มีมากขึ้น 2. การแข่งขันที่มากขึ้นจากผู้เล่นรายใหญ่ที่กำลังกินส่วนแบ่งการตลาด และ 3. การเข้าสู่ช่วงกลางของเทคโนโลยี (ช่วงที่การผลิตขนาดใหญ่ หรือ Mass-production level) ทำให้ต้นทุนต่อ Watt ต่ำลง ในระยะกลาง คาดว่าราคาจะลดลงต่อเนื่อง แต่ในอัตราที่ชะลอลง ตามกำลังการผลิตที่เติบโตในอัตราที่ชะลอลง ผนวกกับแนวโน้มนโยบายกีดกันการค้าที่มีมากขึ้น

ความท้าทายของภาพรวมธุรกิจแผงโซลาร์

1. นโยบายกีดกันทางการค้าที่อาจมีมากขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ใช้ภาษีนำเข้าเพื่อลดการเข้ามาแข่งขันของแผงโซลาร์นำเข้าจากจีนหรือจากประเทศที่จีนใช้เป็นฐานการผลิต เช่น ไทย และนำมาสู่การลงทุนและการจ้างงานในสหรัฐฯ ที่มากขึ้น

2. ข้อจำกัดบางประการที่อาจส่งผลให้ตลาดเติบโตได้จำกัด อาทิ Grid bottleneck, การขาดแคลนแรงงานและพื้นที่สำหรับติดตั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ราคาที่ดินอยู่ในระดับสูง (เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และยุโรป)

3. การแข่งขันที่ยังมีแนวโน้มรุนแรงต่อเนื่อง (ทำให้ผู้ผลิตที่บริหารต้นทุนได้ดีกว่า ผนวกกับการกระจายตัวตลาดผู้ซื้อที่มากกว่าจะช่วยลดความเสี่ยงลงได้)

การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม

การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมมีการเติบโตได้ดีที่ 14%YOY ในปี 2024 และขยายตัวต่อเนื่องที่ราว 28% ในปี 2025-2027 ตามนโยบายการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนทั่วโลก ทำให้ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม รวมไปถึง Supply chain ของอุตสาหกรรมมีการเติบโตตามไปด้วย อาทิ การลงทุนใหม่ในการสร้างโรงงานผลิตกังหันลม (Blade) และห้องขับเคลื่อนกังหันลม (Nacelle) ในประเทศจีน ของทั้ง On-shore wind และ Off-shore wind โดยคาดว่าจะมีการลงทุนในโรงงานใหม่โดยรวมมากถึง 1.08 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2026 และมากถึง 1.47 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2030 ขณะเดียวกัน ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมก็มีแนวโน้มลดลงซึ่งจะช่วยหนุนให้การลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมมีโอกาสเกิดขึ้นได้มาก โดยปัจจุบันมีการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังงานลมทั่วโลก ทั้งที่ก่อสร้างรวมมากกว่า 5,000 โครงการและแผนโครงการใหม่อีกมากกว่า 1,700 โครงการ อย่างไรก็ดีกลุ่ม ASEAN ก็มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมเช่นกัน โดยเฉพาะประเทศเวียดนามที่มีภูมิประเทศที่มีศักยภาพและได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ส่วนประเทศไทยมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมที่ยังเติบโตได้จากแผนพลังงาน (PDP2018 Rev.1) ที่มีเป้าหมายรวมประมาณรวม 2,989 MW (ทั้งนี้เป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในแผน PDP ใหม่ที่คาดว่าจะประกาศในปี 2024 มีโอกาสเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวจากแผน PDP2018 Rev.1)

สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เติบโตสูง มีความจำเป็นต้องมีโครงข่ายไฟฟ้า (Grids) ที่สามารถรองรับการเติบโตของไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ดังนั้น การพัฒนา Grids จึงเป็นส่วนสำคัญที่ต้องพร้อมรองรับกับตลาดพลังงานหมุนเวียนทั้งในแง่ของโครงข่ายเชื่อมต่อ (Transmission) และการกระจายไฟฟ้า (Distribution) ซึ่งเม็ดเงินลงทุนเพื่อก่อสร้างโครงข่ายไฟฟ้า (Grids) ของโลกจะขยายตัวเฉลี่ยปีละ 6-10% ในช่วง 2023-2030 ซึ่งเป็นหนึ่งในโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะใช้ประโยชน์จากการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศหรือ Connection ที่มีอยู่แล้วในต่างประเทศ นอกเหนือจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านโครงข่ายแล้ว การพัฒนาระบบส่งและระบบจำหน่ายให้มีความทันสมัย (Grid modernization) อาทิ Third Party Access (TPA) และ Smart grid หรือ Micro smart grid ที่จะเป็นส่วนส่งเสริมให้มีการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้อย่างแพร่หลายมากขึ้น และมีต้นทุนการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าที่ถูกลง ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจตามนโยบายการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมากขึ้น

การผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน นอกจากจะได้ซื้อขายไฟฟ้าที่เป็นพลังงานสะอาดแล้ว โรงไฟฟ้ายังสามารถเพิ่มมูลค่าทางรายได้อื่น ๆ เพิ่มเติม อาทิ Renewable Energy Certificates (RECs) และ Carbon credit ที่ทางผู้ผลิตไฟฟ้าสามารถนำมาเป็นส่วนเพิ่มรายได้ ทั้งนี้ในปัจจุบันเอกชนเริ่มนำ RECs มาใช้เพื่อช่วยลดการปล่อยคาร์บอน (Carbon emission) ใน scope II อย่างแพร่หลาย และมีแนวโน้มเติบโตมากกว่า 100% ในช่วงปี 2022-2023 สำหรับ Carbon credit ที่สามารถใช้ลด Emission ใน scope I,II และ III ก็มีแนวโน้มเติบโตเช่นกัน โดยเฉพาะในไทยที่เริ่มมีการซื้อขายในตลาดเสรี และมีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้นถึง 103%(CAGR) ในปี 2016-2022

1 PPA policy score เป็นคะแนนชี้วัดความยากง่ายในการดำเนินงานในตลาด Private/Corporate PPA (คะแนนสูง แสดงว่ามีความง่ายในการดำเนินงาน) ซึ่งหากตลาดมีศักยภาพในการเติบโตต้องมีนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อให้ตลาดขยายตัวมีประสิทธิภาพและมีขนาดใหญ่ โดยจะพิจารณาจากข้อมูล 5 ด้าน ได้แก่ ดัชนีความง่ายในการทำธุรกิจ สัดส่วนพลังงานทดแทนต่อการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด สัดส่วนของประชากรที่สามารถเข้าถึงไฟฟ้า การคาดการณ์การเติบโตของการใช้พลังงาน และการปล่อย CO2

2 นโยบายที่เปิดให้บุคคลที่สามสามารถใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าทั้ง 3 การไฟฟ้า (EGAT, PEA, MEA) โดยมีการจ่ายค่าบริการสายส่งไฟฟ้า (Wheeling charge) ให้แก่เจ้าของโครงข่าย

                                                                                                                                                                  1699279406192

                                    1699279402092 

ผู้เขียนบทวิเคราะห์ :

นางสาวนพมาศ ฮวบเจริญ

      นักวิเคราะห์อาวุโส     

 นายจิรวุฒิ อิ่มรัตน์

       นักวิเคราะห์อาวุโส


1699279411747

           ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)

              EIC Online : www.scbeic.com

              Line : @scbeic

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad