เอสซีจี แถลงผลประกอบการ ปี 2566 ท้าทายแต่ไม่
ถอย เร่งเครื่องธุรกิจกรีน
ส่งออกปูนคาร์บอนต่ำสู่อเมริกา ปิโตรเคมีเวียดนาม
เตรียมป้อนเม็ดพลาสติกสู่ตลาดโลก
กรุงเทพฯ : 25 มกราคม 2567 – เอสซีจี แถลงผลประกอบการปี 2566 ธุรกิจมั่นคง แม้ยอดขายลดลงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เผยแผนเร่งเครื่องธุรกิจปี 2567 สู้ทุกความท้าทาย รุกธุรกิจกรีน มุ่งสร้างการเติบโตพร้อมสังคม Net Zero งบลงทุน 40,000 ล้านบาท ดันนวัตกรรมรักษ์โลก-ลุยพลังงานสะอาด-ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งออกปูนคาร์บอนต่ำสู่ตลาดอเมริกา ปิโตรเคมีเวียดนาม LSP เตรียมป้อนนวัตกรรมเม็ดพลาสติกคุณภาพสูงสู่ตลาดโลก ปักหมุดซาอุฯ เชื่อมต่อการค้าทั่วโลก เดินหน้าทรานส์ฟอร์มโครงสร้างธุรกิจ สร้างความคล่องตัว แข็งแกร่ง เติบโตไกล ล่าสุด คว้าที่หนึ่ง ดัชนี ESG ชั้นนำของโลก Morningstar Sustainalytics
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “ผลประกอบการ เอสซีจี ปี 2566 มั่นคง แม้ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก จีน และอาเซียนชะลอตัว ตลาดปิโตรเคมียังอ่อนตัว ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ลดลง มีรายได้ 499,646 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 12 จากปีก่อน สาเหตุหลักมาจากราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับตัวลดลง และการไม่รวมยอดขายของ SCG Logistics กำไร 25,915 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 จากปีก่อน สาเหตุหลักจากกำไรของการปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนในช่วงครึ่งแรกของปี 2566
ไตรมาส 4 ปี 2566 มีรายได้ 120,618 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4 จากไตรมาสก่อน จากปริมาณขายที่ลดลงของธุรกิจเคมิคอลส์และธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง กำไรจากการดำเนินงาน ซึ่งไม่รวมรายการพิเศษ 502 ล้านบาท ทั้งนี้ มีขาดทุนสำหรับงวด 1,134 ล้านบาท จากการด้อยค่าสินทรัพย์ของโรงงานซีเมนต์ในเมียนมา และรวมผลประกอบการของโรงงานปิโตรเคมี ลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ (Long Son Petrochemicals – LSP) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นต้นทุนคงที่ อย่างไรก็ตาม เอสซีจียังคงรักษาความมั่นคงของสถานะการเงินได้อย่างต่อเนื่อง สิ้นปี 2566 มีเงินสดคงเหลือ 68,000 ล้านบาท
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ปี 2567 เอสซีจีทุกกลุ่มธุรกิจเร่งเครื่องสร้างการเติบโตอย่างเต็มที่ทั้งไทยและภูมิภาคอาเซียน ด้วยนวัตกรรมปูนคาร์บอนต่ำ สมาร์ทโซลูชันเพื่อการอยู่อาศัย พลาสติกรักษ์โลก บรรจุภัณฑ์ยั่งยืนที่ใช้ซ้ำ รีไซเคิลได้ พลังงานสะอาดครบวงจร และนวัตกรรมเม็ดพลาสติกคุณภาพสูงจากโครงการลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ เน้นบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ คว้าโอกาสจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริการของไทย คาดว่าตลาดอาเซียนจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะอินโดนีเซียและเวียดนาม มุ่งสู่ผู้นำธุรกิจกรีนที่สร้างการเติบโตให้ธุรกิจพร้อมสร้างสังคม Net Zero ที่น่าอยู่สำหรับทุกคน ตั้งงบลงทุน 40,000 ล้านบาท เน้นลงทุนนวัตกรรมรักษ์โลก พลังงานสะอาด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีความต้องการและเติบโตได้อีกมาก สะท้อนจากยอดขาย SCG Green Choice ปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 54 ของยอดขายทั้งหมด อีกทั้งเร่งพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High-Value Added Products & Services – HVA) เชื่อมั่นสามารถเพิ่มความหลากหลาย ตอบโจทย์ลูกค้าตรงใจ ฉับไว พร้อมเร่งทรานส์ฟอร์มโครงสร้างธุรกิจตามกลยุทธ์สร้างความคล่องตัว แข็งแกร่งและเติบโตระยะยาว เพื่อรับความท้าทายต่าง ๆ ให้ทันท่วงที เช่น ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ส่งผลให้ต้นทุนพลังงานและค่าขนส่งผันผวน เศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวไม่เต็มที่
ธุรกิจเคมิคอลส์ หรือ SCGC ตลาดปิโตรเคมีคาดว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 จากความต้องการสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นและอุปทานที่ลดลง โดยธุรกิจเร่งพัฒนาพลาสติกรักษ์โลก รวมทั้งสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (High-Value Added Products & Services – HVA) ให้มีสัดส่วนสูงขึ้น ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมาตลาดมีความต้องการมากขึ้น ส่งผลให้มียอดขายร้อยละ 39 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ซึ่งจะช่วยหนุนความสามารถการแข่งขันในภาวะตลาดฟื้นตัวได้เป็นอย่างดี ล่าสุด ‘โครงการลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์’ ดำเนินการก่อสร้างลุล่วงตามแผนภายใต้งบประมาณที่กำหนดไว้ การเดินเครื่องจักรและทดสอบประสิทธิภาพการเดินโรงงานทั้งระบบเป็นไปได้ด้วยดี คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 สำหรับนวัตกรรมพลาสติกรักษ์โลก ‘SCGC GREEN POLYMERTM’ ในปีที่ผ่านมามียอดขายเติบโตเป็นที่น่าพอใจ อยู่ที่ 218,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 56 จากปีก่อน โดยมุ่งสู่ Green polymer 1 ล้านตัน ในปี 2573 นอกจากนี้ ธุรกิจยังเร่งขยายเข้าสู่ ‘อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า’ ด้วยนวัตกรรมพลาสติกสำหรับการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์น้ำหนักเบา ช่วยประหยัดพลังงาน และความร่วมมือกับ Denka ในการผลิตและจำหน่ายอะเซทิลีนแบล็ก (Acetylene Black) ส่วนประกอบสำคัญสำหรับนำไฟฟ้าในการผลิตขั้วแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบชาร์จไฟได้สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีปริมาณความต้องการสูง
โครงการลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ธุรกิจเอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชัน บริหารต้นทุนพลังงานได้ดี ปี 2566 เพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทดแทนมาอยู่ที่ร้อยละ 40 สำหรับปี 2567 พร้อมเดินหน้าการผลิตและส่งมอบโซลูชันรับการฟื้นตัวของตลาดไทย ทั้งส่วนของอสังหาริมทรัพย์และโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ควบคู่กับตอบสนองความต้องการของตลาดอาเซียนที่ส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น โดยมุ่งนำเสนอโซลูชันการออกแบบอาคารที่ช่วยคำนวณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในการก่อสร้าง ด้วยแพลตฟอร์ม ‘KITCARBON’ พร้อมทั้งเดินหน้า ‘ปูนคาร์บอนต่ำ’ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้านคุณภาพที่มีความแข็งแรง ทนทานและผิวเรียบเนียนเป็นพิเศษ โดยมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากปีก่อน ล่าสุด ขยายการส่งออกไปประเทศสหรัฐอเมริกาและมาเลเซีย ปีนี้เตรียมออกปูนคาร์บอนต่ำ เจนเนเรชันที่ 2 ซึ่งลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพิ่มขึ้นจากรุ่นแรก อีกร้อยละ 5
ปูนคาร์บอนต่ำ เอสซีจีธุรกิจเอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง เติบโตต่อเนื่อง เน้นบริหารจัดการต้นทุนด้วยการปรับใช้พลังงานสะอาดในกระบวนการผลิต พร้อมทั้งพัฒนาสมาร์ทโซลูชันตอบโจทย์การใช้ชีวิตยุคใหม่ที่ต้องการประหยัดพลังงาน มีสุขอนามัยที่ดี ห่างไกล PM 2.5 และมีความปลอดภัยในการใช้ชีวิต เช่น ‘SCG Active Air Quality’ นวัตกรรมเติมอากาศดีให้บ้าน ป้องกันมลพิษ ฝุ่น PM 2.5 เชื้อโรค แบคทีเรีย ไวรัส ‘หลังคาเอสซีจี เมทัลรูฟ รุ่น คอมฟอร์ท ลอน Snap Lock’ นวัตกรรมหลังคาช่วยป้องกันเสียงจากภายนอก และกันความร้อน ประหยัดการใช้พลังงานภายในบ้าน และ ‘SCG Solar Roof Solutions’ ซึ่งมียอดขายเติบโตโดดเด่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 105 จากปีก่อน ทั้งยังมุ่งขยายสมาร์ทโซลูชันสู่ตลาดใหม่ ๆ อาทิ ติดตั้งนวัตกรรมบำบัดอากาศเสียพร้อมประหยัดพลังงาน ‘SCG Air Scrubber’ ให้อาคาร Keppel Bay Tower โครงการอสังหาฯ ระดับโลกที่ใหญ่ที่สุดของประเทศสิงคโปร์ และเป็นอาคารแห่งแรกในสิงคโปร์ที่ได้รางวัล Green Mark Platinum (Zero Energy) หรือรางวัลอาคารประหยัดพลังงาน ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวช่วยประหยัดพลังงานจากระบบปรับอากาศได้สูงสุด ร้อยละ 30
นวัตกรรมบำบัดอากาศเสียพร้อมประหยัดพลังงาน ‘SCG Air Scrubber’ธุรกิจเอสซีจี ดิสทริบิวชั่น แอนด์ รีเทล เร่งขยายความแข็งแกร่งสู่ตลาดที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง อย่างภูมิภาค SAMEA (เอเซียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา) โดย SCG International ตั้งสำนักงานในกรุงริยาด ซาอุดิอาระเบียอย่างเป็นทางการ พร้อมเป็น International Supply Chain Partner บริหารจัดการตั้งแต่การหาแหล่งผลิตสินค้าจนถึงการสร้างตลาดให้คู่ค้าจากทั่วทุกมุมโลก ขยายโอกาสธุรกิจและเจาะโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ (Giga Project) ร่วมสร้างสังคม Net Zero ผ่านกลุ่มสินค้าซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างรักษ์โลก พร้อมด้วยกลุ่มสินค้าวัตถุดิบ ชิ้นส่วนอุตสาหกรรม กระดาษและแพคเกจจิ้ง
SCG International ปักหมุดซาอุฯ เชื่อมต่อการค้าทั่วโลกธุรกิจเอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ พลังงานสะอาดครบวงจร เติบโตต่อเนื่องและมีแนวโน้มขยายตัวได้อีกมากจากความต้องการใช้พลังงานสะอาดที่มากขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของโลกและจากจุดแข็งของธุรกิจด้านการบริการที่มีความน่าเชื่อถือ โดดเด่นด้วยระบบ Smart Grid ที่ช่วยให้การซื้อ-ขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเข้าถึงได้สะดวกยิ่งขึ้น ปี 2566 มีกำลังการผลิตที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ รวม 450 เมกะวัตต์ ล่าสุด ติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ในหลายพื้นที่ อาทิ กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม กลุ่มบริษัทสหยูเนี่ยน บางปะกง นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ รวมถึงกลุ่มโรงพยาบาลพญาไทและเปาโล เตรียมขยายไปยังตลาดอาเซียน ทั้งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ในปี 2567
เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ ติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ให้กลุ่มโรงพยาบาลธุรกิจแพคเกจจิ้ง หรือ SCGP จากไตรมาส 4 ปี 2566 ความต้องการภาคบริโภคในเวียดนาม และอินโดนีเซียเริ่มฟื้นตัวได้เป็นอย่างดี รวมทั้งสินค้าส่งออก โดยเฉพาะอาหารแช่แข็งและอาหารสัตว์เลี้ยง และในปี 2567 อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น รวมถึงมีแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวและส่งออก SCGP จึงมุ่งนำเสนอโซลูชันบรรจุภัณฑ์กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม พร้อมทั้งขยายกำลังการผลิตและ M&P (Merger & Partnership) ในธุรกิจวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ บรรจุภัณฑ์อาหาร และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ Bio-Solutions ที่เป็นเมกะเทรนด์และเติบโตสูง ควบคู่กับบริหารต้นทุนและการผลิตสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ นำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิต เพิ่มสัดส่วนใช้พลังงานทางเลือกเป็นร้อยละ 35 ของการใช้พลังงานทั้งหมด เดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจด้วย ESG (Environmental, Social, Governance) และการพัฒนาบุคลากร เพื่อสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
โซลูชันบรรจุภัณฑ์กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มนายธรรมศักดิ์ กล่าวปิดท้ายว่า “เศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดี ซึ่งมีโอกาสเติบโตอีกมาก หากเร่งผลักดันโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพร้อมเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ และอำนวยความสะดวกในการลงทุนเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้ควรส่งเสริมการดำเนินธุรกิจตาม ESG ซึ่งนักลงทุนทั่วโลกให้การยอมรับ เพื่อสร้างการเติบโตระยะยาว ล่าสุด เอสซีจี ได้รับดัชนีความยั่งยืนชั้นนำโลก ESG Industry Top Rated ลำดับที่ 1 จาก 125 บริษัทในกลุ่ม Industrial Conglomerate ทั่วโลก ซึ่งจัดอันดับโดย Morningstar Sustainalytics สะท้อนถึงธุรกิจที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ควบคู่กับการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน จากการดำเนินธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ ESG 4 Plus (มุ่ง Net Zero – Go Green – Lean เหลื่อมล้ำ - ย้ำร่วมมือ - ภายใต้เชื่อมั่น โปร่งใส)
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติให้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติจ่ายเงินปันผลประจำปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 6.0 บาท รวมเป็นเงิน 7,200 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 54 ของกำไรไม่รวมรายการพิเศษ ทั้งนี้ บริษัทได้จ่ายเป็นเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับครึ่งปีแรกในอัตราหุ้นละ 2.5 บาท เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2566 และจะจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายในอัตราหุ้นละ 3.5 บาท
การจ่ายเงินปันผลดังกล่าวให้จ่ายแก่ผู้ถือหุ้นเฉพาะผู้มีสิทธิได้รับเงินปันผลตามข้อบังคับของบริษัท ตามที่ปรากฏรายชื่อ ณ วันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 5 เมษายน 2567 (จะขึ้นเครื่องหมาย XD หรือวันที่ไม่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 4 เมษายน 2567) โดยมีกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 23 เมษายน 2567 และให้รับเงินปันผลภายใน 10 ปี”
**********************
เอกสารแนบ
ข้อมูลสําคัญทางการเงินของเอสซีจี
ผลการดำเนินงานปี 2566 ในภาพรวม
งบการเงินรวมก่อนตรวจสอบของเอสซีจี ประจำปี 2566 มีรายได้จากการขาย 499,646 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 12 จากปีก่อน สาเหตุหลักมาจากราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับตัวลดลง และการไม่รวมยอดขายของ SCG Logistics กำไรสำหรับปี 25,915 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 จากปีก่อน สาเหตุหลักจากกำไรของการปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนในช่วงครึ่งแรกของปี 2566
ไตรมาส 4 ปี 2566 เอสซีจีมีรายได้จากการขาย 120,618 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4 จากไตรมาสก่อน จากปริมาณขายที่ลดลงของธุรกิจเคมิคอลส์และธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง กำไรจากการดำเนินงาน ซึ่งไม่รวมรายการพิเศษ 502 ล้านบาท ทั้งนี้ มีขาดทุนสำหรับงวด 1,134 ล้านบาท จากการด้อยค่าสินทรัพย์ของโรงงานซีเมนต์ในเมียนมา และรวมผลประกอบการของโรงงานปิโตรเคมี ลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ (Long Son Petrochemicals – LSP)
สินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High-Value Added Products & Services – HVA) ปี 2566 มีรายได้ 167,691 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 34 ของรายได้จากการขายรวม
สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม SCG Green Choice ปี 2566 มีรายได้ 270,716 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 54 ของรายได้จากการขายรวม
รายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากประเทศไทยในปี 2566 ทั้งสิ้น 215,630 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43 ของยอดขายรวม
สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 มีมูลค่า 893,601 ล้านบาท โดยร้อยละ 46 เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน (นอกเหนือจากไทย)
ผลการดำเนินงานปี 2566 แยกตามรายธุรกิจ
- ธุรกิจเคมิคอลส์ หรือ SCGC ปี 2566 มีรายได้จากการขาย 191,482 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 19 จากปีก่อน เนื่องจากราคาสินค้าลดลง กำไรสำหรับปี 589 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 90 จากปีก่อน เนื่องจากส่วนต่างราคาขายลดลงและส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลดลง
สำหรับไตรมาส 4 ปี 2566 มีรายได้จากการขาย 46,259 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7 จากไตรมาสก่อน จากปริมาณขายที่ลดลง และเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น มีขาดทุนสำหรับงวด 2,560 ล้านบาท สาเหตุจากส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมที่ลดลงและรับรู้ค่าใช้จ่ายของโครงการลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ ซึ่งมาจากค่าเสื่อมราคาเป็นหลัก
- ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ปี 2566 มีรายได้จากการขาย 189,348 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7 จากปีก่อน สาเหตุหลักจากการไม่รวมยอดขายของ SCG Logistics และสถานการณ์ตลาดในภูมิภาค กำไรสำหรับปี 13,410 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 170 จากปีก่อน สาเหตุหลักมาจากกำไรจากการปรับมูลค่ายุติธรรมในไตรมาสแรกของปี 2566 ขณะที่ กำไรจากการดำเนินงาน ซึ่งไม่รวมรายการพิเศษ อยู่ที่ 3,668 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 34 จากปีก่อน
สำหรับไตรมาส 4 ปี 2566 มีรายได้จากการขาย 45,101 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากการไม่รวมยอดขายของ SCG Logistics รวมถึงได้รับผลกระทบจากตลาดภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนามและกัมพูชา มีขาดทุนสำหรับงวด 1,127 ล้านบาท สาเหตุจากความท้าทายของตลาดอาเซียน และรายการขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ของโรงงานซีเมนต์ในเมียนมา ทั้งนี้ กำไรจากการดำเนินงาน ซึ่งไม่รวมรายการพิเศษ อยู่ที่ 509 ล้านบาท
- ธุรกิจเอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชัน ปี 2566 มีรายได้จากการขาย 85,845 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2 จากปีก่อน และไตรมาส 4 ปี 2566 มีรายได้จากการขาย 20,115 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ธุรกิจเอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง ปี 2566 มีรายได้จากการขาย 24,897 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากปีก่อน ขณะที่ไตรมาส 4 ปี 2566 มีรายได้จากการขาย 5,696 ล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ธุรกิจเอสซีจี เดคคอร์ ปี 2566 มีรายได้จากการขาย 28,312 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6 จากปีก่อน และไตรมาส 4 ปี 2566 มีรายได้จากการขาย 6,802 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ธุรกิจเอสซีจี ดิสทริบิวชั่น แอนด์ รีเทล ปี 2566 มีรายได้จากการขาย 126,941 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6 จากปีก่อน และไตรมาส 4 ปี 2566 มีรายได้จากการขาย 30,526 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ธุรกิจแพคเกจจิ้ง หรือ SCGP ปี 2566 มีรายได้จากการขาย 129,398 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11 จากปีก่อน สาเหตุหลักมาจากปริมาณขายและราคาขายที่ลดลงโดยเฉพาะในกลุ่มกระดาษบรรจุภัณฑ์และเยื่อกระดาษ กำไรสำหรับปี 5,248 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปีก่อน จากปริมาณขายและราคาขายลดลง
สำหรับไตรมาส 4 ปี 2566 มีรายได้จากการขาย 31,881 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการลดลงของราคาขายกระดาษบรรจุภัณฑ์ ท่ามกลางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างล่าช้าโดยเฉพาะในประเทศจีน นอกจากนั้นภาคการส่งออกของภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือยยังชะลอตัว ขณะที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จากไตรมาสก่อน จากการฟื้นตัวของความต้องการบรรจุภัณฑ์ในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคในช่วงเทศกาลปลายปี การส่งออกของภูมิภาคอาเซียนที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะสินค้าจำพวกอาหาร รวมถึงปริมาณการขายกระดาษบรรจุภัณฑ์ในประเทศอินโดนีเซียที่มากขึ้น กำไรสำหรับงวด 1,218 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 171 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจ ประกอบกับการขยายกำลังการผลิตในกลุ่มบรรจุภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค และการจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า ขณะที่ลดลงร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากต้นทุนทางการเงิน ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายทางภาษีที่สูงขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น