ศาลกาญจนบุรีมีคำสั่งอนุญาต คพ. ดำเนินการฟื้นฟู “ลำห้วยคลิตี้” เรียกเก็บค่าเสียหายเอกชน วางบรรทัดฐานหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย ด้าน คพ. เผยฟื้นฟูแล้ว 50%
ศาลจังหวัดกาญจนบุรีมีคำสั่งเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2562 อนุญาตให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี จากการปนเปื้อนของสารตะกั่วให้กลับมามีสภาพที่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ตามมาตรฐาน แทนจำเลยทั้งสองคนตามคำพิพากษาศาลฎีกา โดยให้ถือว่าค่าใช้จ่ายที่เสียไปเป็นหนี้ตามคำพิพากษาที่จะบังคับเอาแก่จำเลยทั้งสองคน ทั้งนี้ให้ คพ. ทำหลักฐานการใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีในส่วนค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไป
สืบเนื่องจากกรณีการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้อันเนื่องจากการทำเหมืองแร่ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านเจ็บป่วย นำไปสู่การฟ้องคดีโดยชาวบ้านคลิตี้ ยื่นฟ้องบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด กับผู้บริหารของบริษัทเป็นจำเลย รวม 2 ราย ต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ 15219/2558 ให้จำเลยร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายแก่โจทก์ และให้จำเลยแก้ไขฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสองจนกว่าลำห้วยคลิตี้จะกลับมามีสภาพที่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ตามมาตรฐานของทางราชการ
คดีนี้หลังจากที่จำเลยได้ชำระเงินค่าเสียหายแก่โจทก์แล้ว จำเลยละเลยไม่ดำเนินการตามคำพิพากษาศาลฎีกาในส่วนของการแก้ไขฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรีขอให้ไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการฟื้นฟูตามคำพิพากษาศาลฎีกา โดยหลังการไต่สวนข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นศาลได้นัดฟังคำสั่ง ในวันที่ 27 มิ.ย. 2562 เวลา 13.30 น.
สำหรับคำวินิจฉัยสรุปได้ว่า เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาแก้ไขฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสองคน จนกว่าลำห้วยคิลิตี้จะกลับมามีสภาพที่สามารถใช้อุปโภคได้ตามมาตรฐานของทางราชการ แต่จำเลยทั้งสองกลับเพิกเฉยต่อคำบังคับที่ให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลฎีกา คพ. จึงมีหน้าที่โดยตรงตามกฎหมายในการคุ้มครองและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งประสานเพื่อให้มีการดำเนินการฟื้นฟู ระงับเหตุที่อาจเป็นอันตรายจากมลพิษในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนมลพิษ
ขณะเดียวกัน คพ. ยังมีหนังสือถึงศาลในคดีนี้ แจ้งว่าสามารถเข้าดำเนินการแก้ไขฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้มีสภาพที่สามารถใช้อุปโภคได้ ตามมาตรฐานของทางราชการแทนจำเลยทั้งสองในคดีนี้ได้ แต่จะต้องไม่รับภาระเพิ่มนอกเหนือไปจากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด
ดังนั้น โจทก์ทั้งแปดในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาจึงมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ คพ. ในฐานะบุคคลภายนอกคดี กระทำการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้กลับมาสามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ ตามมาตรฐานของทางราชการแทนจำเลยทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 358 วรรคหนึ่ง และให้ถือว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ตามมาตรฐานของทางราชการเป็นหนี้ตามคำพิพากษาที่จะบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 358 วรรคสอง
ด้าน นายสมชาย ทรงประกอบ รองอธิบดี คพ. กล่าวว่า ปัจจุบัน คพ. ได้ดำเนินโครงการลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่วไปแล้ว 590 วัน โดยมีความก้าวหน้าของการดำเนินงานเกือบ 50% มีกิจกรรมที่ดำเนินการประกอบด้วย การสำรวจพื้นที่ การจัดทำมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินโครงการ การก่อสร้างหลุมฝังกลบแบบปลอดภัย การปิดคลุมพื้นที่โรงแต่งแร่และบ่อเก็บตะกอนหางแร่ การปรับปรุงถนนระหว่างหมู่บ้านคลิตี้บนและคลิตี้ล่าง และการเตรียมการก่อสร้างฝายดักตะกอนเพิ่มเติมอีก 2 ฝาย
อนึ่ง คำสั่งของศาลคดีนี้ถือเป็นบรรทัดฐานสำคัญ เนื่องจากยืนยันหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย และเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาการฟื้นฟูการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อม กรณีผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ชุมชนผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์สามารถร้องต่อศาลเพื่อให้หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่และมีความเชี่ยวชาญ เข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาและเรียกค่าใช้จ่ายทั้งหมดจากผู้ประกอบการได้ โดยไม่ต้องไปฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีใหม่ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานาน อย่างไรก็ตามแนวปฏิบัติในการบังคับคดีตามกฎหมายต่อจำเลยจะเป็นอย่างไรยังต้องติดตามต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น