ทางรอดสินค้าเกษตรไทย ต้องใช้นวัตกรรมเพิ่มมูลค่า - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันศุกร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2563

ทางรอดสินค้าเกษตรไทย ต้องใช้นวัตกรรมเพิ่มมูลค่า


ที่ผ่านมา หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า "สินค้าเกษตรนวัตกรรม" กันมาบ้าง เพราะปัจจุบันมีสินค้าเกษตรหลายรายการที่ได้มีการนำนวัตกรรมมาใช้ในการผลิต เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเพิ่มมากขึ้น และสินค้าได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่รักสุขภาพ มีหัวใจปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะสินค้าเกษตรนวัตกรรมเหล่านี้ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นลำดับต้นๆ และในปัจจุบันไม่เพียงแค่สามารถทำตลาดภายในประเทศ แต่ยังสามารถขยายตลาดส่งออกไปต่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้นด้วย

          ไปรู้จักหน่วยงานส่งเสริมกันก่อน
          ย้อนกลับไปเมื่อปี 2560 ตอนนั้นคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติให้จัดตั้งสถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรม (APi) ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ศึกษาแนวโน้ม ตลาดสินค้าเกษตรนวัตกรรม การสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจนำนวัตกรรมไปต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่า รวมทั้งกิจกรรมส่งเสริมตลาดและการประชาสัมพันธ์สินค้า โดยมอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ
          บทบาทในตอนนั้น สถาบัน APi ได้เข้ามาทำหน้าที่ด้านการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ โดยการศึกษา วิเคราะห์ สำรวจปัญหาอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ รวมทั้งพิจารณาแนวทางอำนวยความสะดวก และสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจนวัตกรรมนำนวัตกรรมไปต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่า ตลอดจนประสานแก้ไขปัญหาและติดตามความคืบหน้าการดำเนินงาน เพื่อลดปัญหาอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ
          ขณะเดียวกัน ได้ช่วยสนับสนุนด้านการส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์ โดยการศึกษา วิเคราะห์ สำรวจตลาดและแนวโน้มความต้องการสินค้าเกษตรนวัตกรรม ช่องทางการเข้าสู่ตลาด การขยายตลาดด้วยช่องทางใหม่ๆ  ตลอดจนจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด และประชาสัมพันธ์สินค้า รวมทั้งเป็นหน่วยงานในการเชื่อมโยงเครือข่ายให้เกิดการเกื้อกูลทางธุรกิจระหว่างผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้ลงทุนและผู้วิจัย

          นำร่องเพิ่มมูลค่าสินค้า "ข้าว"
          ผลการดำเนินงานในช่วงแรกๆ ได้เริ่มนำร่องที่สินค้า "ข้าว" โดยสถาบัน APi ได้ดำเนินการสร้างช่องทางการตลาดใหม่ๆ ให้กับสินค้าข้าวที่ได้ใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยผลิต ซึ่งมีทั้งกาแฟสำเร็จรูปข้าวสังข์หยด จมูกข้าวชงดื่ม ไอศกรีมข้าวไรซ์เบอร์รี่ น้ำมันรำข้าว น้ำส้มสายชูจากข้าว อาหารเสริมจากข้าว และขนมแปรรูปจากข้าวหลากหลายรูปแบบ เครื่องสำอางจากข้าว ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ผลิตภัณฑ์สปาจากข้าว และผลิตภัณฑ์เคลือบเงารถยนต์ (Rice Wax)  เป็นต้น เริ่มแรกได้จัดแสดงที่องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร หรือที่รู้จักกันในนามตลาด อ.ต.ก. ซึ่งปรากฏว่าได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ถือเป็นการเริ่มต้นสินค้าเกษตรนวัตกรรมได้สวยงาม และได้ขยายเข้าสู่ช่องทางการ จำหน่ายอื่นๆ เช่น ห้างสรรพสินค้าในระยะเวลาต่อมา
          ไม่เพียงแค่นั้น ยังได้ช่วยเปิดตลาดออกสู่ต่างประเทศ มีการจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ ทำให้สินค้านวัตกรรมข้าวเริ่มเป็นที่รู้จักในสายตาผู้ซื้อ ผู้นำเข้า และมีหลายสินค้าขยายตลาดออกสู่ต่างประเทศได้ เช่น อาหารเสริมจากการสกัดน้ำมันรำข้าว
          วาฟเฟิลข้าวไรซ์เบอร์รี่ เยลลี่ข้าวจากเส้นใยใบโอเซลลูโลส วัสดุปิดแผลจากเส้นใยไบโอเซลลูโลสชีวภาพ ผงล้างหน้าจากข้าวลืมผัวและข้าวหอมมะลิ และแชมพูข้าวหอมนิล เป็นต้น ฃณะเดียวกัน ได้นำเปิดตัวและเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวกับอาหาร ยิ่งทำให้สินค้านวัตกรรมที่ผลิตจากข้าวได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

          ขยายไลน์สู่สินค้าเกษตรอื่น
          เมื่อสินค้าเกษตรนวัตกรรมที่ใช้ข้าวมาผลิตเริ่มเป็นที่รู้จัก และสามารถทำตลาดได้แล้ว สถาบัน APi ได้เข้าไปช่วยเหลือและส่งเสริมให้มีการนำสินค้าเกษตรตัวอื่นๆ มาใช้นวัตกรรมในกระบวนการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มอีกหลายตัว เช่น ผลไม้ ยางพารา มีสินค้าที่ประสบความสำเร็จ เช่น เซรัมจากเปลือกส้มโอ แผ่นรองส้นเท้าจากยางพารา และน้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม เป็นต้น
          ขณะที่สินค้าข้าว เริ่มขยายไลน์การผลิตไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างเช่น น้ำนมข้าวยาคู และเมอแรงจากข้าว ซึ่งสินค้าตัวนี้ ได้ถูกนำไปจำหน่ายในคาเฟ่ อเมซอน และส่งออกไปต่างประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น และตลาดต่างประเทศอย่างยุโรป ก็ได้ให้ความสนใจ หลังจากที่นำไปออกงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวกับอาหาร และต่อมาได้ขยายวงกว้างเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ อินเดีย ตะวันออกกลาง ซึ่งล้วนแต่ประสบความสำเร็จ สามารถเปิดตลาดได้

          ร่วมมือฟูด อินโนโพลิส สนับสนุนงานวิจัย
          สถาบัน APi ยังได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งบริหารจัดการเมืองนวัตกรรมอาหาร (ฟูด อินโนโพลิส) เพื่อร่วมมือกันในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการสินค้าเกษตรนวัตกรรมให้มี สินค้านวัตกรรมใหม่ๆ ออกสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะสินค้าอาหาร ที่ต่อยอดจากพืชทางการเกษตร
          โดยเมืองนวัตกรรมอาหารจะเข้ามาช่วยเติมเต็มให้กับ ผู้ประกอบการสินค้าเกษตรนวัตกรรม ที่จะมีงานวิจัยใหม่ๆ มา สนับสนุนการผลิตสินค้าใหม่ออกสู่ตลาด หรือจะช่วยอัปเกรดสินค้าเดิมที่ผลิตโดยใช้นวัตกรรมอยู่แล้วให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก ซึ่งจะช่วยให้มีสินค้าเกษตรนวัตกรรมออกสู่ตลาดได้เพิ่มขึ้น และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรได้มากขึ้น

          โชว์ผลงานปี 62 ลุยตามยุทธศาสตร์ 4 C
          สำหรับผลการดำเนินงานของสถาบัน Api ในปี 2562 ที่ผ่านมา ยังคงดำเนินการตามยุทธศาสตร์ 4 C โดย C แรก คือ  Campaign  ได้จัดทำแค็ตตาล็อกสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยทั้งที่เป็นอาหารและไม่ใช่อาหารกว่า 100 รายการ จัดทำ วีดิทัศน์ประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรนวัตกรรม เพื่อกระตุ้นความต้องการบริโภค
          C ที่สอง คือ Contest ได้จัดการประกวดสินค้าเกษตรนวัตกรรม หรือ Agri Plus Award 2019 ชิงถ้วยรางวัล พระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีสินค้าที่ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทต่างๆ 4 รายการ ได้แก่ สินค้าที่มีวางจำหน่ายแล้ว คือ ผลิตภัณฑ์น้ำส้มสายชูหมักธรรมชาติ จากน้ำมันมะพร้าวแท้, ผลิตภัณฑ์อาหารต้นแบบที่มีงานวิจัยรองรับ คือ ผลิตภัณฑ์เจลให้พลังงานจากน้ำตาลข้าวและเกลือแร่สำหรับนักกีฬา, ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหารที่มีวางจำหน่ายแล้ว คือ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเปลือกตาและขนตาชนิดโฟมมูสส์ที่ใช้สารทำความสะอาดจากธรรมชาติ โดยใช้ข้าวไทยและมะพร้าวออแกนิก และผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหารต้นแบบที่มีงานวิจัยรองรับคือทรายแมวธรรมชาติ  100% ที่ผลิตจากซังข้าวโพด และแกลบข้าวไรซ์เบอร์รี่
          C ที่สาม คือ Connect ได้ทำการการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการสินค้าเกษตรนวัตกรรม กับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น การลงนาม MOU โครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรนวัตกรรม ระหว่างกรมการค้าต่างประเทศ กับบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง จำกัด (Central Lab) เป็นต้น
          C ที่สี่ คือ Channel ได้เพิ่มช่องทางการตลาด เพื่อให้สินค้าเกษตรนวัตกรรมเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น โดยมีกิจกรรมที่หลากหลาย ได้แก่ การจัดงาน APi Parade 2019 ในศูนย์การค้าดิ เอ็มควอเทียร์ งานจำหน่ายสินค้าเกษตรนวัตกรรมร่วมกับศูนย์การค้าเซ็นทรัลใน 3ภูมิภาค ที่ภูเก็ต พัทยา และเชียงใหม่ , การร่วมมือกับร้าน Ecotopia, Big C และ Caf Amazon จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด และการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ เช่น THAIFEX, STYLE, Gulffood, China Beauty Expo 2019, Summer Fancy Food Show 2019, TUTTOFOOD 2019 เป็นต้น รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ ที่ฮ่องกง สิงคโปร์ และญี่ปุ่น มียอดขายและยอด คำสั่งซื้อภายในปี 2562 สูงถึง 104.56 ล้านบาท

          เปิดแผนงานปี 63 สร้างการรู้จักวงกว้าง
          นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ในปี 2563 สถาบัน APi มีแผนที่จะผลักดันและส่งเสริม ผู้ประกอบการสินค้าเกษตรนวัตกรรมให้มีการผลิตและพัฒนาสินค้าเกษตร โดยใช้นวัตกรรมเข้ามาผลิตเพิ่มมากขึ้น เพราะจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรได้มากกว่าการขายสินค้าเกษตรพื้นฐานเพียงอย่างเดียว และยังสามารถเพิ่มมูลค่าต่อเนื่องให้กับเกษตรกรที่เป็นผู้เพาะปลูกสินค้าเกษตรที่จะถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตด้วย
          ส่วนการทำตลาด จะเน้นผลักดันเข้าสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเร่งประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่สินค้าเกษตรนวัตกรรม เพื่อให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคในวงกว้าง ซึ่งในปีนี้จะมีการจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ร่วมกับห้างค้าปลีกขนาดใหญ่เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถรับรู้และเข้าถึงสินค้าเกษตรนวัตกรรมได้ง่ายขึ้น เช่นจัดงาน APiParade 2020 ซึ่งได้จัดไปแล้ว และการเข้าร่วมงาน THAIFEX 2020 เป็นต้น และตลาดต่างประเทศ จะนำสินค้าเกษตรนวัตกรรมของไทยไปร่วมแสดงสินค้าในงาน Gulfood ณ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งได้จัดไปแล้วเช่นเดียวกัน
          นอกจากนี้ จะจัดการประกวด Agri Plus Award 2020 เพื่อเป็นการสร้างแรงผลักดันให้กับผู้ประกอบการได้นำสินค้าเกษตรของไทยมาพัฒนาต่อยอดด้วยนวัตกรรม เพื่อให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว รวมทั้งจะดำเนินการพัฒนาเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ผู้ลงทุน นักวิจัย หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
          ขณะเดียวกัน สถาบัน APi ยังมีแผนที่จะจัดทำฐานข้อมูลผู้ประกอบการ เพื่อรวบรวมสินค้าเกษตรนวัตกรรมของไทยไว้ในแหล่งเดียว โดยผู้ประกอบการหรือผู้บริโภคที่สนใจสามารถค้นหาผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางดังกล่าวได้สะดวก รวดเร็ว และตรงความต้องการมากขึ้น รวมทั้งจะเร่งศึกษาวิเคราะห์แนวโน้มตลาดสินค้าเกษตรนวัตกรรมในต่างประเทศ และเร่งขยายตลาดส่งออกใหม่ๆ เช่น ตลาดสหภาพยุโรป เป็นต้น .

ที่มา: นสพ.ผู้จัดการรายวัน 360 องศา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad