อิมเมจิน ไทยแลนด์ฯ ร่วมกับ สสส. หนุน ”แม่ศรีนวล” สืบสานเพลงลำตัดพ่อ หวังเต๊ะ พร้อมปั้นเด็กรุ่นใหม่ ใช้เพลงลำตัด เป็น Soft Power ขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพุธที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

อิมเมจิน ไทยแลนด์ฯ ร่วมกับ สสส. หนุน ”แม่ศรีนวล” สืบสานเพลงลำตัดพ่อ หวังเต๊ะ พร้อมปั้นเด็กรุ่นใหม่ ใช้เพลงลำตัด เป็น Soft Power ขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ

              

อิมเมจิน ไทยแลนด์ฯ ร่วมกับ สสส. หนุน ”แม่ศรีนวล” สืบสานเพลงลำตัดพ่อ หวังเต๊ะ พร้อมปั้นเด็กรุ่นใหม่ ใช้เพลงลำตัด เป็น Soft Power  ขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ

อีกหนึ่งพื้นที่สุขภาวะต้นแบบเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพที่ได้นำซอฟต์ พาวเวอร์ ด้านศิลปะการแสดงมาใช้เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงสำหรับเยาวชน และคนทั่วไป ผ่านกิจกรรมค่ายลำตัดมาอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ แหล่งเรียนรู้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมลำตัดและเพลงพื้นบ้านภาคกลาง พ่อหวังเต๊ะ-แม่ศรีนวล อ.ดอนตูม จ.นครปฐม โดยเมื่อเร็วๆ นี้  อิมเมจิน ไทยแลนด์ฯ โดยการสนับสนุนจาก สสส.ร่วมกับ แม่ศรีนวล ขำอาจ  ศิลปินแห่งชาติ  จัดค่ายอบรมเชิงปฏิบัติการ “สร้างเสริมสุขภาวะที่ดี ผ่านวิถีเพลงพื้นบ้าน” ครั้งที่ 2 ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ

สำหรับค่ายลำตัดสุขภาวะฯ มีผู้เข้าร่วม กว่า 40 คน ทั้ง นักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์และคนทั่วไป ที่ต่างมาด้วยความหลงรักในมนต์เสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์ของลำตัด ซึ่งบรรยากาศในค่ายตลอด 3 วัน2 คืน อบอวลไปด้วยความอบอุ่น  และเต็มอิ่มกับความสุข และวิชาความรู้ ที่ คุณแม่ศรีนวล ขำอาจ "พี่ปุ๊ก" นิรามัย นิมา (ลูกสาว) และชาวคณะ รวมถึงลูกศิษย์ ได้ทุ่มเทถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ทั้งการร้อง การรำ การเขียนเพลง                โดยนอกจากทุกคนจะได้เรียนรู้ประวัติและผลงานภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าของ 3 ศิลปินแห่งชาติลำตัดคณะ’หวังเต๊ะ’ (พ่อหวังเต๊ะ แม่ศรีนวล และแม่ประยูร) ในพิพิธภัณฑ์  ยังได้ฝึกจริง  ได้ทดลองทำการแสดงจริง                  กับโจทย์ท้าทาย ที่จะต้องบอกเล่าความสำคัญของการมีสุขภาวะที่ดีผ่านเพลงลำตัดด้วย 

ดร.อุดม หงส์ชาติกุล และคุณแม่ศรีนวลขำอาจ

ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการทางสังคม (ประเทศไทย) ผู้นำการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ Imagine Thailand Movement  กล่าวว่า  การเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างสุดขั้ว โซเชียลมีเดียเพิ่มความสลับซับซ้อนของปัญหา ส่งผลทำให้คนในสังคมอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่าเปราะบาง  ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงรายล้อมเต็มไปหมด ยากต่อการคาดเดาว่าจะเกิดอะไรขึ้น  โดยแต่ละปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่มีองค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือผู้นำคนใดคนหนึ่งจะสามารถแก้ไขได้ การหันมาส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญในปัจจุบันและอนาคต โดยองค์ประกอบของสุขภาวะที่ดีมี 4 อย่าง ได้แก่ การมีสุขภาพกายดี มีกินมีใช้ไม่อดอยาก ห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพต่างๆ  มีสุขภาพจิตดี มีความสุข  มีสภาพสังคมที่ดี สงบสุข ปราศจากความขัดแย้ง  และสภาพแวดล้อมดี ที่สนับสนุนการใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข  ซึ่งกิจกรรมค่ายลำตัด โดยแม่ศรีนวล ศิลปินแห่งชาติ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามเพิ่มพื้นที่สุขภาวะและมีกิจกรรมส่งเสริมการมีสุขภาวะที่ดีร่วมกันของคนในสังคม

          อิมเมจิน ไทยแลนด์ฯ ร่วมกับ สสส. หนุน ”แม่ศรีนวล” สืบสานเพลงลำตัดพ่อ หวังเต๊ะ  พร้อมปั้นเด็กรุ่นใหม่ ใช้เพลงลำตัด เป็น Soft Power ขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ

 

ค่ายลำตัดสร้างเสริมสุขภาวะนี้ ออกแบบมาให้ผู้เข้าอบรมได้รับมากกว่าความรู้ ทักษะการร้องลำตัด แต่ยังได้เรียนรู้คุณค่าความหมายของการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีสุขภาวะ สำหรับการร้องเพลงลำตัดค่ายนี้นับว่ามีความพิเศษ เพราะถ่ายทอดจากประสบการณ์ชีวิตที่ถูกกลั่นกรองออกมาเป็นแบบเรียนที่สามารถเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ เพียง 2-3 วัน ก็สามารถร้องและแสดงได้  โดยแม่ศรีนวลและชาวคณะจะสอนให้ทุกคนแบบไม่กั๊ก ทั้งการร้อง การรำ การเขียนเพลง ที่แม่ศรีนวล และพ่อหวังเต๊ะ ได้เรียนรู้มาตลอดชีวิต นำมาถ่ายทอดสู่คนรุ่นใหม่ให้สืบสานต่อตามคำมั่นสัญญาที่แม่ศรีนวลรับปากกับพ่อหวังเต๊ะก่อนสิ้นลมหายใจว่า จะสืบสานการแสดงลำตัดไม่ให้สูญหายไปจากประเทศไทย

คุณแม่ศรีนวล ขำอาจ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ศิลปะพื้นบ้าน-ลำตัด) ประจำปีพุทธศักราช 2562

คุณแม่ศรีนวล ขำอาจ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ศิลปะพื้นบ้าน-ลำตัด) ประจำปีพุทธศักราช 2562 กล่าวว่า  รู้สึกดีใจที่เด็กๆ ให้ความสนใจ แต่ละคนมาด้วยใจ และมาอยู่กับเรา แม่ให้ใจเขาเขาเองก็ให้ใจแม่ มันมีความสุขตรงนี้แหละ ทุกครั้งที่จัดค่าย นอกเหนือจากความรู้เรื่องการแสดงลำตัดที่แม่สอนหมดทุกอย่าง ทั้งร้อง รำ ทำเพลง แล้ว แม่จะสอนเรื่องการใช้ชีวิตที่ถูกที่ควร การอยู่ร่วมกันในสังคม เพราะในค่ายนี้เราไม่ได้อยู่แบบครูกับศิษย์ แต่ทุกคนเป็นลูกหลาน  ในเมื่อเขามาเรียนรู้เพลงพื้นบ้าน ก็ต้องสอนให้เขารู้จักการอยู่ร่วมกัน รู้จักการเสียสละการช่วยเหลือ การแบ่งปัน ด้วยเช่นกัน เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาวะที่ดี ทั้งกาย ใจ

ส่วนผู้เข้าร่วมอบรม ที่มาไกลจากจังหวัดเพชรบุรี อย่าง น้องฟิล์ม-ศุภณัฐ เปลี่ยนขำ  โรงเรียนเบญจมเทพอุทิศจังหวัดเพชรบุรี สะท้อนให้ฟังว่า ปกติชอบลำตัดอยู่แล้ว เพราะมีความเป็นเอกลักษณ์ สามารถออกเพลงได้หลายเพลง เช่น เพลงเรือ เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงขอทาน เพลงนางหงส์   การมาค่ายอบรมนี้ช่วยเติมเต็มดีมาก  นอกจากทำให้ได้รู้เรื่องลำตัดอย่างลึกซึ้ง  ได้ ร้อง รำ แต่งเพลง  ยังได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีสุขภาวะ รู้จักใจเขาใจเรา การพึ่งพา การเข้าสังคม รู้เรื่องมารยาทในวงลำตัด การแบ่งหน้าที่กันในวง  ใครจะร้องเนื้อ ใครเป็นตลก ซึ่งถือเป็นพื้นที่สุขภาวะที่ดี  และที่สำคัญผมว่าลำตัดไม่เชยแล้วนะ เด็กรุ่นใหม่ก็สนใจเพลงลำตัดอย่างมาก 

กิจกรรมค่ายลำตัด

สำหรับค่ายอบรมเชิงปฏิบัติการ "สร้างเสริมสุขภาวะที่ดี ผ่านวิถีเพลงพื้นบ้าน"  จะยังคงเดินหน้าต่อไป เพื่อสืบสานคุณค่าลำตัดตามเจตนารมณ์ของคุณพ่อหวังเต๊ะ และสร้างเสริมสุขภาวะที่ดี ดังความมุ่งหมายของ แม่ศรีนวล และอิมเมจิน ไทยแลนด์ฯ  ที่เชื่อมั่นว่า  ความร่วมมือของ ปราชญ์ ศิลปิน  และผู้ก่อการดีจากหลายภาคส่วน  ในการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ทางสังคม จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้มีสุขภาวะที่ดีห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยง เช่น เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด การพนัน รวมถึงอุบัติเหตุ   โดยสามารถเติบโตเป็นพลังคุณภาพที่ดีของสังคมในที่สุด

แหล่งเรียนรู้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมลำตัดและเพลงพื้นบ้านภาคกลาง พ่อหวังเต๊ะ-แม่ศรีนวล เป็นหนึ่งในแปดพื้นที่สุขภาวะต้นแบบ Imagine Thailand Movement ภายใต้ โครงการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สนับสนุนโดย สสส. ซึ่งผู้สนใจข่าวสารหรือมีส่วนร่วมขับเคลื่อน ดูรายละเอียดได้ที่ Facebook Fanpage: Imagine Thailand Movement และ Website : https://www.imaginethailandmovement.com  หรือติดต่อไลน์ @ https://lin.ee/EjnYxCe

 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad