ทะเลข้าวโพดกำลังท่วมป่า “เขา” รัฐฉาน? - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563

ทะเลข้าวโพดกำลังท่วมป่า “เขา” รัฐฉาน?

“ดูข้างล่างนั้นสิ สีเหลือง ๆ ทั้งหมดนั้นคือทะเลของข้าวโพด” เพื่อนชาวเมียนมาชี้ให้เห็นพื้นที่ปลูก ข้าวโพดขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถมองเห็นได้จากเจดีย์ Shwe Phone Pwint ซึ่งเป็นจุดที่สูงที่สุดของเมืองตองจี
วิวที่พวกเราเห็นสอดคล้องกับคำบอกเล่าของ ไซ เพียว ลวิน อู (Sai Phyo Lwin Oo) สมาชิกหอการค้าของรัฐฉานที่บอกว่ากว่า 90% ของชาวบ้านในตองจีปลูกข้าวโพดกันทั้งนั้น  
ข้าวโพด
พื้นที่ปลูกข้าวโพดขนาดใหญ่ในหมู่บ้านตองนี เป็นพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวโพดใหญ่ที่สุดในรัฐฉานและประเทศเมียนมา ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดประมาณ 1.4 ล้านเอเคอร์ ตามคำบอกเล่าของตัวแทนหอการค้าในรัฐฉาน
เรานั่งรถไปยังหมู่บ้านตองนี (Taungni Village) ในเขตเมืองตองจี (Taunggyi township) ประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีการปลูกข้าวโพดมากที่สุดในเขตรัฐฉานใต้ ระหว่างสองข้างทางเราจะเห็นว่าเต็มไปด้วยต้นข้าวโพดสีเหลืองขนาดสูงท่วมหัวที่พร้อมสำหรับการเก็บเกี่ยวแล้ว ด้วยความสูงของต้นข้าวโพดบวกกับความเร็ว 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงของรถที่เรานั่ง ไร่ข้าวโพดระหว่างทางดูเหมือนเป็นกำแพงที่ถูกทาด้วยสีเหลืองทองเสียมากกว่า 
การปลูกข้าวโพดในรัฐฉานเริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณช่วงคริสตศักราชค.ศ. 1990s ที่ต้องการเพิ่มการลงทุนในประเทศ ซึ่งเขตรัฐฉานที่ขึ้นชื่อว่าเป็นพื้นที่ปลูกฝิ่นก็ มีการนำข้าวโพดมาปลูกเป็นพืชทดแทนการปลูกฝิ่น และได้กลายมาเป็นผลผลิตอันดับสองของประเทศเป็นรองเพียงข้าวเท่านั้น ตั้งแต่ช่วงปีนั้นถึงปัจจุบันการผลิตข้าวโพดในรัฐฉานก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเกือบทุกปี จาก 186,000 ตัน ในปีค.ศ. 1990 จนเป็น 2,300,000 ตัน ในปีค.ศ. 2018 หรือเพิ่มขึ้นมากว่า 12 เท่า หรือประมาณ 7,524,550 ไร่ ตามการรายงานของ greenpeace ในปีค.ศ. 2020 หนึ่งในเหตุผลที่ผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องก็คือข้าวโพดเป็นพืชที่ปลูกง่าย ทนทาน และไม่ต้องดูแลรักษามากเมื่อเทียบกับพืชผลเดิมที่เคยปลูกในพื้นที่ “เมื่อก่อนเราปลูกใบห่อยาสูบ ตอนหน้าฝนแทบไม่ได้นอนเลย ต้องมาอบให้แห้ง ใช้เวลาทั้งคืน” ผา เมืองชาวบ้านจากหมู่บ้านหนองเด เล่าให้ฟังถึงการดูแลผลผลิตที่ยากลำบาก ก่อนที่จะหันมาปลูกข้าวโพดเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน 
ช่วงเวลาที่เริ่มต้นปลูกข้าวโพดของเขาสอดคล้องกับการเริ่มต้นศักราชใหม่ของประเทศเมียนมาในปี ค.ศ. 2008  ที่ได้ออกนโยบายชื่อว่า “ถนนสู่ประชาธิปไตย หรือ Road to Democracy” ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือการลงทุนจากต่างประเทศที่ส่งผลให้มีการลงทุนมากถึง 600% การลงทุนที่เพิ่มขึ้นนี้สอดคล้องกันกับการเพิ่มขึ้นของผู้รับซื้อข้าวโพดที่เพิ่มมากขึ้นในหมู่บ้านตองนี “เมื่อก่อนเราเคยมีร้านรับซื้อข้าวโพดแค่ 2 เจ้าเท่านั้น  แต่หลังปีค.ศ. 2010 มีคนรับซื้อหลายเจ้ามาก” ลี ยิน ชาวบ้านจากหมู่บ้านตองนีที่ปลูกข้าวโพดมากว่า 10 ปี บอกเล่าถึงสถานการณ์ความต้องการข้าวโพดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากหลังการเปิดประเทศ 
ความต้องการข้าวโพดจำนวนมหาศาลสำหรับการส่งออกนี้เองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการปลูกข้าวโพดมากขึ้น “เราใช้กันในประเทศเพียงแค่ 15% เท่านั้น”  ไซ เพียว ลวิน อู พูดถึงจำนวนการใช้ข้าวโพดของประเทศเมียนมา จากทั้งหมดที่ผลิตได้กว่า 3 ล้านตันในปีค.ศ. 2018 ทำให้จำนวนที่เกินมากว่า 85% นั้นใช้เพื่อการส่งออกในต่างประเทศ 
จากการขยายตัวของภาคการเกษตรหลังปีค.ศ. 2010 ที่ส่งผลให้มีความต้องการข้าวโพดที่มากขึ้น ทำให้ชาวบ้านต้องการพื้นที่ในการปลูกข้าวโพดมากขึ้น จึงเกิดการเปิดพื้นที่ป่าใหม่เพื่อใช้ในการปลูกข้าวโพด “พวกเขาจะค่อย ๆ เพิ่มที่ปลูกข้าวโพดไปทีละนิด ๆ ไปสู่พื้นที่ภูเขาและป่า” ขุน ก่อ ชาวบ้านในหมู่บ้านตองนีอธิบายถึงการขยายพื้นที่ปลูกในกรณีของพื้นที่ราบในหมู่บ้านของเขา
แต่ในขณะที่หมู่บ้านหนองเด  ที่เป็นหมู่บ้านในพื้นที่สูงพบว่าชาวบ้านที่เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่สูง เลือกที่จะย้ายลงมายังพื้นที่ราบเพื่อจะได้มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดมากขึ้น “ตอนผมมาซื้อที่ตรงนี้เมื่อก่อนมันเป็นที่ปลูกข้าว เป็นไร่หมุนเวียน ผมซื้อมาแค่ 350,000 จ๊าด (7,000 บาท) แต่เดี๋ยวนี้เขาขายเป็น 10 เท่าแล้ว เพราะเมื่อก่อนใช้เป็นแค่ไร่หมุนเวียนกัน” ผา เมือง เล่าถึงช่วงเวลาที่เขาย้ายจากหมู่บ้านบนพื้นที่สูงลงมาหาพื้นที่ในการปลูกข้าวโพด
ผู้คนในพื้นที่จะบอกว่าการปลูกข้าวโพดทำให้เกิดการบุกรุกป่า โดยจากการศึกษาของของ Prashanti Sharma, Rajesh Bahadur Thapa, และ Mir Abdul Matin ในปีค.ศ. 2019 พบว่าตั้งแต่ปีค.ศ. 2008 จนถึงค.ศ. 2016 ในพื้นที่ของตองจีมีพื้นที่ป่าลดลงประมาณ 8%  สอดคล้องกับผลการวิจัยจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติในปีค.ศ.2015 ที่เปิดเผยว่าตั้งแต่ปีค.ศ. 2010 ถึงปีค.ศ. 2015 เมียนมาสูญเสียป่าไปปีละ 1.3 ล้านเอเคอร์ ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการพื้นที่เกษตร การขยายตัวของเมือง เหมือง และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ส่งผลให้เมียนมากลายเป็นอันดับ 3 ของโลกที่มีอัตราการสูญเสียป่ามากที่สุดรองจากบราซิลและอินโดนีเซีย
อัตราการเติบโตผลผลิตข้าวโพดในพม่า //ที่มา: https://www.indexmundi.com/agriculture/?country=mm&commodity=corn&graph=production
พันธุ์ข้าวโพดที่ได้ความนิยมในการปลูกมากที่สุดก็คือพันธุ์ 888 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่จัดจำหน่ายโดยบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี คิดเป็นกว่า 90% ของจำนวนข้าวโพดที่ปลูกในพื้นที่รัฐฉาน ตามงานวิจัยของ Kevin Woods ในปีค.ศ. 2015 ได้เรียกว่าเป็นเปลี่ยนรัฐฉานจากที่เคยเป็นสังคมเกษตรกรรมขนาดเล็กเข้าสู่อุสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่เต็มรูปแบบ เชื่อมต่อหมู่บ้านเข้าสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะกับตลาดจีนที่มีกำลังซื้อเป็นอันดับหนึ่งของโลกและความต้องการอาหารของชนชั้นกลางจากประเทศจีนที่กำลังขยายตัว ข้าวโพดในรัฐฉานที่ถูกนำไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์จึงเป็นหนึ่งในความพยายามที่จะตอบสนองความต้องการเหล่านี้ เห็นได้ว่ากว่า 85% ของข้าวโพดที่ปลูกในรัฐฉานถูกส่งเข้าไปยังประเทศจีน นอกจากนี้เขายังเสนอว่าการปลูกข้าวโพดในรัฐฉานนี้ส่งผลให้เกิดหนี้สินต่อเกษตกรและความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่มีต้นทุนน้อยอยู่แล้ว 
จากความสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกของข้าวโพดในรัฐฉานและตลาดโลกในปัจจุบันทำให้เมื่อประเทศจีนเข้มงวดเรื่องการซื้อข้าวโพดจากประเทศเมียนมามากขึ้น ทำให้ข้าวโพดที่เหลือกว่า 85% ในขณะนี้กำลังไม่มีที่ไป และข้าวโพดที่ควรจะเก็บเกี่ยวแล้วในช่วงเวลานี้ยังคงคาต้นอยู่
“ตอนนี้เรากำลังติดต่อกรมคลังสินค้าของประเทศไทยให้รับซื้อข้าวโพดที่เหลือ ซึ่งไทยมีความต้องการในการนำเข้าอยู่แล้วกว่า 4 ล้านตัน” ไซ เพียว ลวิน อู บอกเล่าถึงความพยายามในการหาช่องทางปล่อยข้าวโพดจำนวนมหาศาลที่ยังคงค้างอยู่ สอดคล้องกับการรายงานข่าวจาก The Myanmar Time ที่บอกว่าจะมีการตกลงกันได้ภายในสิ้นปี ค.ศ. 2019 และพยายามที่จะขายข้าวโพดจำนวน 1 ล้านตันให้ประเทศไทย
แต่ข้อกังวลที่ควรคำนึงถึงคือ นั่นหมายความว่าผู้รับซื้อข้าวโพดในครั้งนี้และต่อ ๆ ไปควรจะรับผิดชอบต่อกรณีที่พื้นที่ป่าในรัฐฉานลดลงหรือไม่? หรือควรจะมองเพียงแค่ว่าป่าที่หายไปเป็น “ป่าเขา” ไม่ใช่ป่าเราเหมือนอย่างในกรณีของจังหวัดน่าน
ที่มา:GreenNews

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad