SCB จับมือ DeeMoney รุกตลาดเมียนมา เชื่อมประสบการณ์การโอนเงินข้ามพรมแดน โอนง่าย ปลอดภัย รับเงินเร็ว - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

SCB จับมือ DeeMoney รุกตลาดเมียนมา เชื่อมประสบการณ์การโอนเงินข้ามพรมแดน โอนง่าย ปลอดภัย รับเงินเร็ว



SCB จับมือ DeeMoney รุกตลาดเมียนมา

เชื่อมประสบการณ์การโอนเงินข้ามพรมแดน โอน

ง่าย ปลอดภัย รับเงินเร็ว

ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB ผนึกพันธมิตรทางธุรกิจ บริษัท สวัสดีช้อป จำกัด ฟินเทคผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม DeeMoney (ดีมันนี่) แพลตฟอร์มด้านธุรกรรมข้ามพรมแดนสัญชาติไทยที่รองรับมากกว่า 26 สกุลเงิน ครอบคลุมกว่า 50 ประเทศทั่วประเทศ สนับสนุนระบบบริการโอนเงินระหว่างประเทศ (Money Transfer Operators) เพื่ออำนวยความสะดวกชาวเมียนมาที่ทำงานและประกอบธุรกิจในประเทศไทยกว่า 2 ล้านราย ให้โอนเงินกลับประเทศได้อย่างสะดวก รวดเร็ว รับเงินทันที

นายธนวัฒน์ กิตติสุวรรณ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Digital Juristic ธนาคาร ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ภาพรวมการโอนเงินระหว่างประเทศของธุรกิจธนาคารในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 มีทิศทางที่ดีขึ้นแสดงถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าต่างประเทศโดยรวม  ขณะเดียวกันธุรกรรมการเงินในโลกไร้พรมแดนได้ขยายไปยังกลุ่มลูกค้าที่กว้างขวาง และในประเทศใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น จึงทําให้ตลาดมีความต้องการในการโอนเงินในหลากหลายรูปแบบ เพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไปโดยเฉพาะลูกค้าบุคคลธรรมดาและกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กถึงขนาดกลางที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่คล่องตัว และรวดเร็วกว่าการโอนเงินแบบเดิม ธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งมุ่งให้บริการไร้รอยต่อในทุกช่องทางด้วยการนําเสนอโซลูชั่นทางการเงินเพื่อตอบสนองความต้องของลูกค้าในโลกปัจจุบันให้ได้อย่างไร้ขีดจํากัด ธนาคารจึงร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ DeeMoney ฟินเทคที่มีความเชี่ยวชาญการให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศและครอบคลุมเครือข่ายที่กว้างขวางนําเสนอบริการการโอนเงินระหว่างประเทศรูปแบบใหม่ผ่าน แอปพลิเคชัน DeeMoney ให้แก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบธุรกิจเมียนมาในประเทศไทยที่มีบัญชีกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการโอนเงินกลับประเทศที่รวดเร็ว ปลอดภัย และ ค่าธรรมเนียมที่ดีที่สุด

“ปัจจุบันกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบธุรกิจเมียนมาในประเทศไทยมีบัญชีเงินฝากกับธนาคารไทยพาณิชย์จํานวนกว่า 3 แสนบัญชี ซึ่งธนาคารคาดหวังว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยขยายฐานบัญชีและเพิ่มโอกาสในการนําเสนอบริการทางการเงินอื่นๆ ให้แก่ชาวเมียนมาในประเทศไทย นอกจากนี้ความร่วมมือครั้งนี้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของไทยพาณิชย์ในการเป็นศูนย์กลางการโอนเงินในภูมิภาคอาเซียน และแสดงถึงความสําเร็จครั้งสําคัญในภาคฟินเทคและการธนาคาร ซึ่งนําไปสู่ยุคใหม่ของบริการโอนเงินข้ามพรมแดนด้วยการโอนเงินทั่วโลกที่ราบรื่นและขับเคลื่อนการเข้าถึงบริการทางการเงินในประเทศไทย และประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยอนาคตธนาคารมีแผนต่อยอดความร่วมมือดังกล่าวกับ DeeMoney เพื่อให้บริการแก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบธุรกิจเพื่อนบ้านที่อยู่ในประเทศไทย" นายธนวัฒน์ กล่าว

นายอัศวิน พละพงศ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง DeeMoney กล่าวว่า บริษัท สวัสดีช้อป จำกัด ฟินเทคผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม DeeMoney (ดีมันนี่) แพลตฟอร์มด้านธุรกรรมข้ามพรมแดนสัญชาติไทย รองรับกว่า 26 สกุลเงิน ครอบคลุมกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ผนึกพันธมิตรทางธุรกิจกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB ประกาศความร่วมมือสนับสนุนระบบบริการโอนเงินระหว่างประเทศ (Money Transfer Operators) จากประเทศไทยไปยังประเทศเมียนมา มุ่งเน้นการพัฒนาบริการโอนเงินข้ามประเทศให้เป็นเรื่องง่าย สะดวก รวดเร็ว พร้อมให้อัตราแลกเปลี่ยนที่ดีกว่าตลาด เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับแรงงานชาวเมียนมา กว่า 2 ล้านราย รวมไปถึงผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง(SMEs) ที่ต้องการโอนเงินไปยังประเทศเมียนมา  โดยตั้งเป้าที่จะเป็นตัวเลือกแรกของชาวเมียนมาโดยมีผู้ใช้งานประจำ (Active user) ไม่น้อยกว่า 150,000 คน และมีมูลค่าการทำธุรกรรมมากกว่า 2 พันล้านบาท ในสิ้นปี 2567

จากการสำรวจของ DeeMoney ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา พบว่า กว่าร้อยละ 94  ของแรงงานชาวเมียนมา มีการโอนเงินกลับประเทศผ่านตัวแทนโอนเงินนอกระบบ (Hundi) โดยบางส่วนนำเงินกลับประเทศด้วยตนเองหรือผ่านคนรู้จัก และมีเพียงส่วนน้อยที่ใช้การโอนเงินผ่านระบบธนาคาร ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างเต็มที่ (Unbanked) รวมไปถึงอัตราแลกเปลี่ยนในระบบการเงินปกติก็มีอัตราที่สูงกว่าบริการนอกระบบ (Hundi)

ผลสำรวจดังกล่าว จึงนำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือระหว่างสองยักษ์ใหญ่ DeeMoney และ SCB ในการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนไทยบาทและเมียนมาจ๊าดโดยตรง ส่งผลให้ DeeMoney กลายเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการที่เสนออัตราแลกเปลี่ยนที่ดีที่สุดในการโอนเงินจากประเทศไทยไปยังประเทศเมียนมา โดยความร่วมมือดังกล่าวข้างต้นได้รับอนุญาตจากธนาคารกลางทั้งสองประเทศ กล่าวคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand) และธนาคารกลางเมียนมา (Central Bank of Myanmar) อีกด้วย

ในส่วนของประเทศปลายทาง DeeMoney มุ่งมั่นที่จะขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมมากที่สุด เพื่อให้ลูกค้าสามารถโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารชั้นนำในประเทศเมียนมา อาทิเช่น  A Bank, Aya Bank, CB bank, KBZ bank, Yoma bank และอีกมากกว่า 20 ธนาคาร นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายในการเปิดให้บริการโอนเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) ที่มีกลุ่มผู้ใช้งานจำนวนมาก ได้แก่ WAVEPAY หรือ Wave Money, A+ Wallet และ AYA Pay เป็นต้น โดยที่เป้าหมายบัญชีปลายทางที่จะพร้อมรับเงินนั้น มีมากกว่า 8 ล้านบัญชี อีกทั้งผู้รับเงินยังสามารถเบิกถอนเงินสด (Cash-out)  ได้ที่สาขาของธนาคาร ตู้ ATM และจุดให้บริการต่างๆ กว่า 130,000 จุดทั่วประเทศ

DeeMoney ให้ความมั่นใจว่าเงินที่ลูกค้าโอนจะสามารถถึงมือผู้รับได้ทันที หากเลือกที่จะโอนเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) ในขณะที่การโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารก็ใช้เวลาแค่เพียง 1 วันทำการเท่านั้น ทั้งนี้มูลค่าธุรกรรมสูงสุดที่ผู้โอนสามารถทำได้คือ ไม่เกิน 5 หมื่นบาทต่อรายการ

นายอัศวิน กล่าวว่า “DeeMoney และ SCB เป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่ดีต่อกัน ซึ่งเล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาบริการทางการเงินให้แก่ชาวเมียนมาที่มาพํานักและทํางานในประเทศไทยกว่า 2 ล้านราย ที่มีความต้องการส่งเงินกลับประเทศคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.33 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือราว 48,000 ล้านบาทต่อปี ให้สามารถทำการโอนเงินได้ด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชันของ DeeMoney ที่มีความปลอดภัยสูงแทนการโอนเงินแบบพึ่งพานายหน้าอย่างที่ผ่านมา โดยผู้ใช้งานสามารถทำรายการได้ทุกที่ทุกเวลา อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ผ่านแอปพลิเคชัน DeeMoney ด้วยค่าธรรมเนียมคงที่ (Flat Fee) เพียงรายการละ 49 บาท รวมถึงมีแอปพลิเคชัน และคอลเซนเตอร์ให้บริการในภาษาเมียนมาทุกวันอีกด้วย” 

“ทั้งนี้ ปรากฎการณ์ความร่วมมือระหว่าง DeeMoney และ SCB รวมถึงธนาคารพันธมิตรในประเทศเมียนมา จะนำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาระบบนิเวศการโอนเงินข้ามประเทศ (Cross-border remittance ecosystem) ที่สำคัญระหว่างประเทศไทยและประเทศเมียนมาในอนาคต” 

……………..

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad