ชาวเน็ตรวมตัวม็อบจากบ้าน คัดค้านแผนพลิก “จะนะ” เป็นเมืองอุตสาหกรรม - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ชาวเน็ตรวมตัวม็อบจากบ้าน คัดค้านแผนพลิก “จะนะ” เป็นเมืองอุตสาหกรรม

ชาวเน็ตร่วมกิจกรรมประท้วงคัดค้านการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม อ.จะนะ จ.สงขลา และปกป้องแหล่งผลิตอาหารทะเลสำคัญจากมลพิษอุตสาหกรรม ผ่านโซเชียลมีเดีย ด้วยการติดแฮชแท็ก #SAVECHANA ด้าน ‘หมอจุ๊ก’ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ ท้วงรัฐจัดเวทีประชาพิจารณ์ให้โปร่งใส อย่าลักไก่ช่วงโควิด 
เนื่องในวาระครบรอบ 1 ปี มติคณะรัฐมนตรีในสมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประกาศให้ อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ในวันนี้ (7 พฤษภาคม พ.ศ.2563) สื่อสังคมออนไลน์พากันแชร์ภาพทะเลและวิถีชีวิตชาวประมงอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา พร้อมติดแฮชแท็ก #SAVECHANA คัดค้านโครงการพัฒนาพื้นที่เป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยล่าสุดวันที่ 21 มกราคม ปีนี้ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณก้อนแรกจำนวน 18,680 ล้านบาท เพื่อพัฒนาพื้นที่ 16,753 ไร่ 
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ และนักเคลื่อนไหวที่ติดตามโครงการพัฒนาร่วมกับชุมชน กล่าวว่า หากมีการพัฒนาอุตสาหกรรมขนานใหญ่ในพื้นที่จริง พื้นที่สามตำบลติดทะเลของ อ.จะนะ ได้แก่ ต.นาทับ ต.สะกอม และ ต.ตลิ่งชัน จะกลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สุ่มเสี่ยงก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำลายทรัพยากรประมง และวิถีความเป็นอยู่ของชาวประมงพื้นบ้านร่วมหมื่นคนในพื้นที่
“จะนะเป็นพื้นที่ผลิตอาหารสำคัญของจังหวัดสงขลา แม้กระทั่งช่วงไวรัสโควิดระบาด เรายังพบว่าพื้นที่นี้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อยกว่าพื้นที่อื่น  เพราะชาวบ้านมีอาหารอยู่ใกล้ตัว แม้ไม่มีเงิน ไม่มีรายได้ ขายของไม่ได้ แต่ก็ยังมีปลากิน ดังนั้นอัตราการฆ่าตัวตายใน อ.จะนะจึงต่ำมาก”  นพ.สุภัทร กล่าว
“แต่ว่าถ้าจะนะเปลี่ยนเป็นเมืองอุตสาหกรรม ชาวบ้านจำเป็นต้องพึ่งพาเงินจ้างซึ่งก็ไม่ได้มาก ทำให้ไม่มีเงินเก็บมากมาย พอเศรษฐกิจตกต่ำ จะกลับมาหาฐานทรัพยากร ปลูกผักกิน หาปลา ก็ไม่ได้แล้ว เพราะปนเปื้อนมลพิษจากอุตสาหกรรมหมด”
เขาระบุว่า จากสถานการณ์ขาดแคลนอาหารและสินค้าจำเป็นในหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศจากมาตรการล็อคดาวน์ เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ชาวประมง ต.สะกอม ได้รวมรวมปลาทะเล และทำอาหารบริจาคให้ชาวเมืองหาดใหญ่ แสดงให้เห็นถึงจุดแข็งของเมืองจะนะ ในด้านการเป็นพื้นที่ผลิตอาหารสำคัญในยามวิกฤต ดังนั้นถึงแม้ภาครัฐจะอ้างว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่จะก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 100,000 ตำแหน่ง ทว่ารายได้จากการเป็นลูกจ้างโรงงานไม่ใช่สิ่งที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ เขายังตั้งข้อสังเกตว่า โครงการนี้มีความผิดปกติหลายอย่างตั้งแต่เริ่มต้นประกาศโครงการ กล่าวคือ โครงการมาเร็วมาก เพียงหนึ่งปีก่อนหน้านี้ ชาวบ้านและนักวิชาการต่างไม่มีใครรู้เรื่องแผนการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมพิเศษเฉพาะกิจเลยจนกระทั่งมีมติคณะรัฐมนตรีออกมา ในการประชุมครั้งสุดท้ายของคสช. พร้อมทั้งมีการออกระเบียบกฎหมายผ่อนคลายข้อบังคับต่างๆ ให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมได้เร็วที่สุด ในขณะที่ฝั่งภาคธุรกิจเอกชนก็ได้เร่งกว้านซื้อที่ดินขนานใหญ่ 
เขาชี้ว่า จุดเปลี่ยนสำคัญต่อไปคือกรมโยธาธิการและผังเมือง จะต้องปรับกฎหมายประเภทผังเมืองบริเวณดังกล่าวจากพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมและคลังสินค้า (สีม่วง) เพื่อปลดล็อกการทำอุตสาหกรรม 
“ตามกระบวนการทางกฎหมายแล้ว การปรับเปลี่ยนผังเมืองต้องจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น แต่ว่าในช่วงภาวะโรคระบาดตอนนี้ อาจมีการอ้างว่าต้องจำกัดจำนวนคนเข้าร่วม เป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ดังนั้นผู้จัดงานควรจัดกิจกรรมหาทางจัดเวทีประชาพิจารณ์ที่โปร่งใส โดยอาจเป็นการจัดกิจกรรมหลายวันและถ่ายทอดทางสื่อออนไลน์” สุภัทร กล่าว
“ช่วงโควิด ผู้คนในประเทศคงเห็นแล้วว่าประเทศเราเป็นแหล่งผลิตอาหาร ความอดอยากในประเทศมีน้อย อยากให้คนไทยทุกคนช่วยปกป้องจะนะเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ จะนะไม่ควรกลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เหมือนที่มาตพุดเป็น จะหยุดมติครม.ได้คงต้องใช้ความร่วมมือร่วมใจของทุกคน Mob From Home ครั้งนี้เป็นการปรับตัวมารณรงค์ออนไลน์ครั้งแรก แล้วเราจะเดินหน้าต่อไป”
โปสเตอร์รณรงค์คัดค้านโครงการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจะนะ // ขอบคุณภาพจาก: มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
บทความโดยผู้จัดการออนไลน์ ระบุว่า โครงการเขตพื้นที่พัฒนาเฉพาะกิจเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นหนึ่งในพื้นที่ “เมืองต้นแบบแห่งที่สี่” ในโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งเสนอโดย ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ต่อคณะรัฐมนตรี และได้รับการอนุมัติเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2562 
สาระสำคัญของโครงการนี้ระบุไว้ว่า เป็นการยกระดับการพัฒนา อ.จะนะในเชิงพื้นที่ทั้งระบบและครบวงจร เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคใต้ตอนล่างที่เชื่อมโยงไปยังพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ ภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการลงทุนของ “ภาคเอกชน” เป็นสำคัญ
ขณะที่รายงานข่าวเมื่อวันที่ 21 มกราคม โดยกรุงเทพธุรกิจ เปิดเผยว่า โครงการเขตพื้นที่พัฒนาเฉพาะกิจ อ.จะนะ มีเนื้อที่รวม 16,753 ไร่ ใช้เงินลงทุน 18,680 ล้านบาท โดยโครงการนี้จะแบ่งกิจกรรมในพื้นที่ออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่ 
1.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมเบา 4,253 ไร่ 
2.พื้นที่อุตสาหกรรมหนัก 4,000 ไร่ 
3.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า 4,000 ไร่ จำนวน 4 โรง กำลังผลิตรวม 3,700 เมกะวัตต์ 
4.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับกิจกรรมหลังท่าเรือ จำนวน 2,000 ไร่ 
5.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมศูนย์รวมและกระจายสินค้า จำนวน 2,000 ไร่ 
6.พื้นที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จและแหล่งที่พักอาศัย จำนวน 500 ไร่
โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการของแผนเร่งด่วน การลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา ประกอบด้วย 
1.ด้านผังเมือง ในพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ นาทับ ตลิ่งชัน และสะกอม
2.ด้านโครงข่ายการขนส่งทางน้ำ ได้แก่ โครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา 
3.ด้านโครงข่ายการขนส่งทางบก มีแผนแม่บทจราจรเชื่อมทางหลวง ทางหลวงชนบท ถนนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 
4.ด้านพลังงาน จะมีโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ ชีวมวล แสงอาทิตย์และลม เพื่อขับเคลื่อนสู่เป้าประสงค์การพัฒนาให้เป็นเมืองต้นแบบที่ 4

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad