แต่งตั้ง 6 กรรมการเสริมทัพแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2564

แต่งตั้ง 6 กรรมการเสริมทัพแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย

แนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) ประกาศแต่งตั้ง 6 กรรมการใหม่ ได้แก่ นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ และรองประธานหอการค้าไทย นางเกศรา มัญชุศรี อดีตกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ศ.(พิเศษ) ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และนางอรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย เพื่อเสริมทัพสร้างความแข็งแกร่งในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย

นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานกรรมการ กล่าวว่า การแต่งตั้งกรรมการใหม่ในครั้งนี้ รวมไปถึงกรรมการเดิมที่มีอยู่จะช่วยให้ CAC เติบโตและแข็งแกร่งมากขึ้นในทุกมิติตามพันธกิจ 3 ด้าน ทั้งการขยายแนวร่วมของภาคเอกชน การยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานที่สามารถควบคุมความเสี่ยงด้านคอร์รัปชัน และการร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงในการให้บริการภาครัฐ เพื่อให้มีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใสมากขึ้น

โดยในปีที่ผ่านมา มีบริษัทร่วมประกาศเจตนารมณ์กับ CAC มากถึง 1,122 แห่ง เป็นบริษัทจดทะเบียน 444 บริษัท เป็น บริษัทจำกัด 517 บริษัท และ บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) จำนวน 161 บริษัท โดยมีบริษัทที่ผ่านการรับรองว่ามีนโยบายและแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อควบคุมความเสี่ยงคอร์รัปชันแล้ว 472 บริษัท โดยแบ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ จำนวน 446 บริษัท และบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) จำนวน 26 บริษัท นอกจากนี้ CAC ยังทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานป้องกันและปรามปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) องค์กรเพื่อพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP Thailand)  เพื่อสร้างการตระหนักรู้ถึงปัญหาและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา CAC เติบโตแข็งแกร่งขึ้นมากในทุกด้าน ทำให้ CAC เป็นหนึ่งในโครงการต่อต้านคอร์รัปชันภาคเอกชนระดับแนวหน้าที่โดดเด่นในภูมิภาคและได้รับการยอมรับในเวทีโลก ในฐานะที่เป็นการรวมกลุ่มของภาคเอกชนโดยสมัครใจ เพื่อร่วมแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่เข้มแข็งที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

Background

CAC ก่อตั้งขึ้นในปี 2553 จากความริเริ่มของภาคเอกชนไทย ภายใต้การริเริ่มของคุณชาญชัย จารุวัสตร์ อดีตกรรมการผู้อำนวยการ IOD เพื่อให้บริษัทที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการทำธุรกิจโปร่งใสสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันในรูปแบบของแนวร่วม หรือ Collective Action โดยมุ่งสร้างและขยายแนวร่วมในภาคเอกชน เพื่อสร้างกระแสการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันด้วยการส่งเสริมให้บริษัทต่างๆ กำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติในการที่จะปฏิเสธการรับและจ่ายสินบน รวมถึงการทุจริตคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ ซึ่งจะช่วยสร้างระบบนิเวศของการทําธุรกิจที่โปร่งใส นอกจากนี้ CAC ยังทําหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับภาคธุรกิจเอกชน โดยการประสานความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานป้องกันและปรามปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) องค์กรเพื่อพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP Thailand) เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงเรื่องปัญหาคอร์รัปชันที่ภาคเอกชนประสบ

CAC จัดตั้งขึ้นโดย 8 องค์กรธุรกิจชั้นนำของประเทศ ได้แก่ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) หอการค้าไทย หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยมี IOD ทำหน้าที่เป็นเลขานุการและรับบทนำในการขับเคลื่อนโครงการ

รายนามคณะกรรมการ CAC

  1. นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานกรรมการ                                                                              
  2. นายเกริกไกร จีระแพทย์ กรรมการ
  3. นายสุรงค์ บูลกุล กรรมการ
  4. นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ             กรรมการ
  5. นายวิเชียร พงศธร กรรมการ
  6. นายวิชัย อัศรัสกร กรรมการ
  7. นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการ
  8. ศ. (พิเศษ) ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ กรรมการ
  9. ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ กรรมการ
  10. นางอรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล กรรมการ
  11. นายกุลเวช เจนวัฒนวิทย์ กรรมการและเลขานุการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad