เมื่อศัตรูพืชไล่ล่า - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

เมื่อศัตรูพืชไล่ล่า

ในช่วงปี 2558-2559 มีรายงานการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังที่เกิดจากเชื้อไวรัส SLCMV จากประเทศเพื่อนบ้าน ห่างจากพรมแดนไทยไปราว 400 กิโลเมตร ความรุนแรงของโรคนี้ถึงกับทำให้อุตสาหกรรมมันสำปะหลังล่มสลายกันได้เลยทีเดียว ผมจำได้ว่าเมื่อกรมวิชาการเกษตร ทราบข่าวก็ได้เร่งสร้างการรับรู้ให้กับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนเผยแพร่ข่าวไปยังสื่อต่างๆ รวมถึงตรึงแนวพรมแดนไม่ให้มีการนำท่อนพันธุ์มันสำปะหลังซึ่งเป็นพาหะของโรคเข้ามาในเขตแดนไทย ส่วนของแมลงหวี่ขาวยาสูบที่เป็นแมลงพาหะของโรคก็ต้องเฝ้าระวังเช่นกัน
ต่อมาผมได้รับทราบข่าวว่าพบการระบาดของโรคในพื้นที่อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี โดยตำแหน่งแล้วไม่น่าจะเกิดจากแมลงหวี่ขาวยาสูบนำเข้ามาแน่ น่าจะเกิดจากท่อนพันธุ์มากกว่า เห็นว่ากรมวิชาการเกษตรถึงขั้นต้องประกาศเป็นเขตควบคุมศัตรูพืช ท่ามกลางความไม่เข้าใจของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากดูด้วยสายตาต้นมันก็ดูสวยงามเป็นปกติดี แต่รัฐมาบังคับให้ทำลาย จึงเป็นเรื่องที่ทำใจกันไม่ได้ กว่าจะเคลียร์กันเรียบร้อยก็กินเวลาหลายเดือน ประเด็นที่น่าสนใจคือเกษตรกรไม่เชื่อว่าโรคดังกล่าวจะสร้างความเสียหายได้จริง และไม่เห็นว่ามีผลกับผลผลิตอย่างไร เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อธิบายยากสำหรับนักวิชาการกับเกษตรกร ยิ่งเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสด้วยแล้ว อาจจะต้องเทียบกับการเป็นหวัดของคนเรา ถ้าเราแข็งแรง หวัดก็ทำอะไรเราไม่ได้ แต่ถ้าเราอ่อนแอก็เตรียมกันให้ดี ดังนั้นความรุนแรงของโรคจึงขึ้นกับหลายปัจจัย ทั้งระยะการเข้าทำลาย ทั้งระยะการเจริญเติบโตของมันสำปะหลัง รวมไปถึงความสมบูรณ์ของต้นมันด้วย

ประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควรจะนำไปศึกษาอย่างยิ่ง เพราะงานลักษณะเช่นนี้ โดยกรมวิชาการเกษตรหน่วยงานเดียวไม่สามารถเอาอยู่แน่นอน และผมคิดเองว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์พ่วงกับกระทรวงพาณิชย์คงไม่กล้าเอาอุตสาหกรรมมันสำปะหลังที่มีมูลค่านับหมื่นล้านมาแลกกับต้นทุนในการควบคุมและกำจัดโรคดังกล่าวอย่างแน่นอน ในส่วนของเกษตรกรเองหากยังไม่ตระหนัก และยังคงมองเพียงผลประโยชน์เฉพาะหน้า ท่อนพันธุ์ที่เห็นว่าสวยๆ อาจทำให้การปลูกมันสำปะหลังที่เห็นว่าเป็นเรื่องง่ายๆ กลายเป็นเรื่องยากจนเกินเยียวยา กฎหมายกักพืชของกรมวิชาการเกษตรเองก็ไม่ได้มีบทลงโทษรุนแรงและไม่ได้ครอบคลุมการเคลื่อนย้ายท่อนพันธุ์ ถึงเวลาที่ทุกฝ่ายต้องคุยกันให้ชัด จะใช้เครื่องมือใดในการควบคุมการเคลื่อนย้ายท่อนพันธุ์ เมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะดำเนินการอย่างไรก็ขอให้ลงมือทำกันจริงๆ ไม่ใช่แค่ออกมาให้ข่าวตีปี๊บ เพราะอย่าลืมว่ากฎหมายที่ไม่มีสภาพบังคับไม่อาจถือว่าเป็นกฎหมายได้
ผมไม่อยากให้เป็นเหมือนกรณีหนอนหัวดำหรือแมลงดำหนามที่เห็นว่าแมลงเข้ามาในประเทศเพียงตัวสองตัวไม่เห็นจะเป็นอะไร แต่เมื่อแมลงดังกล่าวเข้ามาตั้งรกรากได้ ทำลายสวนมะพร้าวในประเทศเป็นจำนวนมาก ภาครัฐต้องลงทุนในการจำกัดที่เห็นเป็นตัวเงินชัดๆ ก็ไม่น่าต่ำกว่า 500 กว่าล้านบาท แต่ใช่ว่าแมลงตัวนี้หมดสิ้นไป เพียงแต่สามารถควบคุมประชากรไม่ให้สร้างความเสียหายได้ เหตุที่ตามมาจากการระบาดของหนอนหัวดำและแมลงดำหนาม คือ ต้องนำเข้ามะพร้าวมาใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปมะพร้าว กลายเป็นประเด็นให้ถกเถียงกันได้อีกว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้นำเข้ามะพร้าวจนราคามะพร้าวในประเทศตกต่ำ เป็นการแก้ปัญหาที่นำมาซึ่งปัญหาอีกปัญหาหนึ่ง สาเหตุจากแมลงเพียงไม่กี่ตัวเท่านั้น
คงถึงเวลาแล้วที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องจริงจังกับการจัดการศัตรูพืชต่างถิ่นที่แว่วว่าทยอยเข้ามาเป็นลำดับ ไม่ว่าจะเป็นหนอนกระทู้ลายจุดในข้าวโพด หรือโรคตายพรายในกล้วย ผมไม่อยากเห็นการรอตั้งรับแต่เพียงอย่างเดียว คงต้องหาแนวทางป้องกันที่เป็นรูปธรรม มีระบบการเฝ้าระวังที่ชัดเจน มีข้อมูลของศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงอยู่ในมือพร้อมใช้ได้ทันที ไม่ใช่ยืนงงลองผิดลองถูกกันไป และที่สำคัญที่สุดคือคนไทยทุกคนต้องตระหนักเสมอว่าหากรักประเทศจริง รักสิ่งแวดล้อมจริง รักระบบนิเวศของไทย จงอย่าหยิบอย่าแอบนำพืชทุกชนิด ดิน หรือแม้แต่แมลง สัตว์ต่างๆ เข้ามาในประเทศเลย เพราะเมื่อไม่สามารถจัดการได้ ท่านจะเป็นผู้ทำลายชาติด้วยมือของท่านเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad