ทุกฝ่ายต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน’ เสียงสะท้อนจากเวที แข่งขันศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 69 ภูมิภาค ภาคกลางและภาคตะวันออก - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ทุกฝ่ายต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน’ เสียงสะท้อนจากเวที แข่งขันศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 69 ภูมิภาค ภาคกลางและภาคตะวันออก

ทุกฝ่ายต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน  เสียงสะท้อนจากเวที แข่งขันศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 69 ภูมิภาค ภาคกลางและภาคตะวันออก
'ทุกฝ่ายต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน’ เสียงสะท้อนจากเวที แข่งขันศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 69 ภูมิภาค ภาคกลางและภาคตะวันออก

                ปิดฉากลงอย่างสมบูรณ์และบรรลุตามวัตถุประสงค์ของการจัดงานอย่างแท้จริง สำหรับการจัดการแข่งขัน ศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับชาติ ครั้งที่ 69 ประจำปีการศึกษา 2562 ของภูมิภาค ภาคกลางและภาคตะวันออก  ภายใต้แนวคิด  ศิลปหัตถกรรมล้ำค่า ภูมิปัญญาล้ำสมัย เทคโนโลยีก้าวไกล นำชาติไทยสู่สากล”  โดยมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการเขต 1 เป็นหัวเรือใหญ่ดำเนินการจัดการแข่งขัน ซึ่งมี  60 เขตพื้นที่การศึกษา และ 26 ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัด จาก 26 จังหวัด  ในภาคกลางและภาคตะวันออก ที่เข้าร่วมแข่งขันกันอย่างคึกคัก และเพื่อให้ เกิดประโยชน์กับผู้เรียนมากที่สุด  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการเขต 1 ในฐานะหน่วยงานหลักในการประสานงาน ก็ได้  รวบรวมเสียงสะท้อนจากผู้เกี่ยวข้องในการจัดงาน เพื่อนำข้อมูลมาพิจารณาปรับปรุงการจัดกิจกรรมในปีต่อไปให้ดียิ่งขึ้น
'ทุกฝ่ายต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน’ เสียงสะท้อนจากเวที แข่งขันศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 69 ภูมิภาค ภาคกลางและภาคตะวันออก

                เริ่มจาก ดร. รุ่งสุรีย์ สิงหราช ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดใหญ่ ซึ่งรับผิดชอบ ศูนย์การแข่งขันกิจกรรมในกลุ่มการงานอาชีพ งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระบุว่า “ในยุค 4.0 นี้ เด็กๆ สามารถออกแบบมาให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในโครงงานอาชีพ อาทิเช่น การแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ การแกะสลัก ทำอาหารคาวหวาน นักเรียนได้ใช้ความรู้ความสามารถที่เรียนมาในการแข่งขัน ทั้งหมดจะเป็นเรื่องของการงานอาชีพทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้เด็กมีผลิตภัณฑ์เป็นของตัวเอง ได้สร้างมูลค่าจากสิ่งของเหลือใช้ให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ และสามารถทำเป็นอาชีพในสังคม โดยต่อยอดจากกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ เพื่อฝึกฝนทักษะที่ตนเองสนใจในชั่วโมงสุดท้ายของการเรียนการสอน”
                สอดคล้องกับ นางรัชดาวัลย์ ศรีสวัสดิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดแค สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการเขต สะท้อนภาพพัฒนาการของการจัดการแข่งขันที่ผ่านมาในแต่ละยุค “เป็นเวทีแห่งชาติ ที่เด็กๆ จะได้เห็นผลงานของเพื่อนต่างโรงเรียน เห็นการทำงานของทีมอื่นๆ แต่ละทีมได้เรียนรู้ว่าทำไมงานชิ้นนั้นถึงได้รางวัล  เน้น Active Learning เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ เป็นการฝึกทักษะไปในการเรียนรู้ของเขา การทำงานแบบนี้มาจากใจรัก มาจากทักษะ และจิตวิญญาณ สามารถนำไปต่อยอดในอาชีพอื่นๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการโรงแรม ด้านอาหาร การท่องเที่ยวต่างๆ หรือแม้กระทั่งธุรกิจส่วนตัว
เน้นเรื่องความเป็นไทยมาก
'ทุกฝ่ายต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน’ เสียงสะท้อนจากเวที แข่งขันศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 69 ภูมิภาค ภาคกลางและภาคตะวันออก

                ด้านนายสุนทร สุวงศ์ชัย ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองกระทิง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กรรมการตัดสินการ์ตูนเรื่องสั้น (Comic Strip) กล่าวว่า “งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน เป็นกิจกรรมที่เสริมขึ้นมาตามความสนใจของนักเรียน
จากอดีตโปรแกรมในการแข่งขันจะจำกัด แต่ปัจจุบันจะใช้โปรแกรมที่หลากหลายขึ้น พัฒนาขึ้น เด็กสนใจขวนขวายศึกษาเพิ่ม ซึ่งทำให้มีทักษะการสร้างสรรค์ลายเส้นที่สวยงามขึ้น จากฝีมือและผลงานของเขา เรามองเห็นว่าเขามีอนาคต เพราะตลาดอาชีพด้านคอมพิวเตอร์กราฟฟิค ก็ยังต้องการคนอยู่มาก อย่างที่เราได้เห็นแล้วเด็กเราทำได้ ที่ต่างประเทศ ที่ฮอลลีวู้ดก็ยังมีคนไทย
สิ่งเหล่านี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ ได้”
                สำหรับ ว่าที่ร้อยโท ชวลิต ชมพู ครูผู้ฝึกสอน โรงเรียนเด็กพิเศษของมูลนิธิคุณพ่อเรย์ จังหวัดชลบุรี ให้ทัศนะว่า “การที่จะผลักดันให้เด็กพิเศษ มีความรู้ความสามารถเท่ากับเด็กปกติทั่วไป การฝึกซ้อมเด็กต้องทำให้เขามีใจ เราก็ต้องรักในการสอนเขา ต้องทำให้เด็กมีสติมีสมาธิในการทำงาน ฝึกฝนให้เขามีทักษะในการเรียนรู้ การทำงานร่วมกัน สามารถนำทักษะที่ได้ไปใช้ในชีวิตประจำวันและสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัวได้  กำลังใจจากคนรอบข้างเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญเพื่อจะผลักดันเขาไปถึงเป้าหมายได้”

'ทุกฝ่ายต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน’ เสียงสะท้อนจากเวที แข่งขันศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 69 ภูมิภาค ภาคกลางและภาคตะวันออก

                เช่นเดียวกับที่ ครูยุทธนา  อังคะคำมูล โรงเรียนบ้านซำฆ้อ สพป. ระยองเขต 2 ครูผู้ฝึกสอน ที่ได้เน้นย้ำบทบาทของครูในยุค 4.0 ว่าเด็กสมัยใหม่ใกล้ชิดเทคโนโลยีมากขึ้น จำเป็นที่จะต้องให้การชี้แนะที่เหมาะสมและไม่เป็นการปิดกั้นเด็ก “ต้องยอมรับเลยว่า บางครั้งเราอาจจะตามเด็กไม่ทันด้วยซ้ำ เพราะเด็กสามารถสืบค้นข้อมูลต่างๆ บนโซเชียลมีเดีย เราก็พยายามแนะนำ ตักเตือนเขาให้รู้เท่าทัน พรบ.คอมพิวเตอร์ ไม่ให้เขากระทำความผิด เพราะไม่อยากปิดกั้นเขา แต่เราก็ต้องส่งเสริมให้ถูกทางถูกต้องด้วย” 
                ด้าน นางสาวมัณฑนา ทัพโพธิ์ ครูผู้ฝึกสอน ทีมเด็กประกวดภาพยนตร์สั้น สะท้อนการเชื่อมโยงเด็กให้เรียนรู้วิถีชุมชนและการเรียนการสอนว่า “การผลักดันนักเรียนไปให้ถึงฝันให้ได้ ต้องใช้ทั้งคำหวาน คำดุและกำลังใจ ทุกครั้งที่เราร่วมงานกัน ทำงานกัน วางแผนกัน  ก็จะกระตุ้นให้เขาจุดไฟในตัวเองตลอดเวลา ยิ่งในเรื่องของภาพยนตร์สั้นต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์และแนวทางใหม่ๆ ในการสร้างเรื่อง ผูกเรื่อง โดยชุมชนของเรามีวัฒนธรรมไทยดำซึ่งเป็นจุดเด่นอยู่แล้ว ก็พยายามให้เขาได้เห็นอัตลักษณ์ชุมชนและอนุรักษ์ไว้... ถ้าเขามีโอกาสก็ให้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำต่อไป”
                นอกจากนี้ยังมีเสียงสะท้อนจากทีมงานนักเรียนที่เป็นฝ่ายอำนวยการด้วย ทั้ง ด.ช. มารุต ศรีสังข์ ที่รับหน้าที่ด้านการจราจรและการโบกรถ ด.ญ. กุลมียา ใบกุล หัวหน้าฝ่ายสุขาภิบาลเก็บขยะรอบอาคาร ด.ญ. ภัทรวาดี ชุ่มเชื้อ ดูแลห้องน้ำ เก็บขยะและยกของ ทีมงานจากโรงเรียนวัดราษฎร์บูรณะ ที่ประสานเป็นเสียงเดียวกันว่า ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดงาน “ทีมพวกเรามี 30 คน แบ่งเป็นฝ่ายระเบียบ สุขาภิบาล โภชนาการ จราจร แต่ก็ร่วมมือช่วยกันทั้งหมด อย่างการจราจร จะเริ่มจากการจัดระเบียบรถที่มา ว่าต้องการขนของหรือไม่ ถ้าต้องการก็จะให้ไปจอดบริเวณสถานที่แข่งขันก่อน เมื่อเสร็จแล้วจะให้ไปจอดด้านหลัง ใช้เวลานานเหมือนกันนะ เพราะเป็นปีแรกที่เป็นเจ้าภาพ อาจารย์ก็ให้คำแนะนำว่าส่วนงานนี้ต้องทำอะไรบ้าง เราก็ไปคิดต่อไปคุยกันในทีม เพราะตั้งใจทำให้ออกมาดีที่สุด”
                สำหรับ นางสาวปิยธิดา แนงแหยม จากโรงเรียน วัดสุทธาวาส  หนึ่ง ในผู้เข้าแข่งขันหุ่นยนต์ระดับพื้นฐาน 3 ชั้น ม.1-ม.3 สื่อความรู้สึกออกมาว่า “ที่สิ่งได้จากการแข่งรายการนี้ก็คือ เราได้แก้ปัญหา ได้สู้กับปัญหา ... ตอนแรกที่บ้านไม่เข้าใจ เป็นผู้หญิงทำไมกลับบ้านดึก มันไม่เหมาะสม ก็เกือบจะถอดใจ แต่เราก็แอบทำเพราะเราชอบ จนที่บ้านยอมและทุกวันนี้ก็สนับสนุนเต็มที่ ยิ่งรู้ว่าได้มาแข่งที่นี่เขาก็ยินดี ดีใจกับเรา เราอยากทำโมเดลหุ่นยนต์ให้รุ่นน้องรุ่นต่อไป”
                และปิดท้ายที่ ปิยวะดี พุมพวง ผู้ปกครองของนักเรียนชั้นประถมศึกษา จังหวัดกาญจนบุรี ที่ติดตามมาให้กำลังใจทีมในการแข่งขันกิจกรรมแกะสลักผลไม้ได้สะท้อนบทสรุปของการจัดการแข่งขันไว้ว่า “การแกะสลักจะใช้เวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมง ซึ่งศิลปะการแกะลายไทยไม่ใช่เรื่องง่าย และการแข่งขันในแต่ละรอบลงทุนเยอะ แต่ละครั้งที่ต้องซื้อผักผลไม้ ซึ่งโรงเรียนก็ไม่ค่อยมีทุนทรัพย์ อะไรที่เราพอช่วยเหลือได้ก็จะช่วยกันเน้นสนับสนุนทุนทรัพย์ และเราก็จะติดตามไปให้กำลังใจ ซึ่งคิดว่า ประสบการณ์ที่เขาได้กิจกรรมนี้มันจะติดตัวเขาไปตลอด มันเป็นงานฝีมือที่ไม่มีใครสามารถลอกเลียนแบบได้ ถ้าเราไม่สนับสนุนงานลักษณะนี้ ก็จะไม่มีงานที่มีเอกลักษณ์ไทยลงเหลืออยู่”
                นี่คือเสียงสะท้อนจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจาก จัดการแข่งขันศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับชาติ ครั้งที่ 69 ปีการศึกษา 2562 ของภูมิภาค ภาคกลางและภาคตะวันออก ที่จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะได้เรียนรู้ในแง่มุมต่างๆ ไปพร้อมๆ กันนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad