กรมเจรจาฯ ปลื้มเอฟทีเอช่วยดันส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพารา เล็งถกคู่ค้าเก่า-ใหม่เลิกภาษีต่อ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2562

กรมเจรจาฯ ปลื้มเอฟทีเอช่วยดันส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพารา เล็งถกคู่ค้าเก่า-ใหม่เลิกภาษีต่อ

กรมเจรจาฯ ปลื้มเอฟทีเอช่วยดันส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพารา เล็งถกคู่ค้าเก่า-ใหม่เลิกภาษีต่อ

img
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเผยเอฟทีเอมีส่วนสำคัญช่วยดันส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราไทย ยอด 11 เดือน ส่งออกกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่ม 1.6% หลังคู่เจรจาส่วนใหญ่ไม่เก็บภาษีนำเข้าจากไทยแล้ว เหลืออีก 5 ประเทศที่เก็บบางรายการ ระบุเตรียมลุยเจรจาให้เปิดตลาดเพิ่ม ทั้งในการอัพเกรดเอฟทีเอเดิม เอฟทีเอที่อยู่ระหว่างเจรจา และเอฟทีเอใหม่ พร้อมแนะผู้ส่งออกใช้สิทธิเอฟทีเอเป็นใบเบิกทางสร้างโอกาสส่งออกให้สินค้า
        
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ติดตามสถิติการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าที่ไทยมีศักยภาพและน่าจับตามอง เนื่องจากมีมูลค่าการส่งออกสูงเป็นอันดับที่ 4 รองจากสินค้ารถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ โดยในช่วง 11 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-พ.ย.) ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ยางสู่ตลาดโลกได้ถึง 10,221 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.6% โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ คือ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น อาเซียน และออสเตรเลีย ซึ่งสหรัฐฯ มีสัดส่วนต่อการส่งออก 30% และ 4 ประเทศที่เหลือมีสัดส่วนรวมกันประมาณ 40% และสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ยางนอกที่ใช้กับยานพาหนะ ยางสังเคราะห์ และถุงมือยาง เป็นต้น
        
โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ยางได้เพิ่มขึ้น และปัจจุบันได้ขยับขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 4 ของโลก รองจากจีน เยอรมนี และสหรัฐฯ เพราะสินค้าของไทยไม่ถูกเก็บภาษีศุลกากรจากประเทศผู้นำเข้า เนื่องจากไทยมีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ด้วย ซึ่งไทยมีเอฟทีเอ 13 ฉบับกับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี และฮ่องกง ซึ่งผลิตภัณฑ์ยางจากไทยไม่ถูกเก็บภาษีนำเข้าแล้วใน 13 ประเทศ ได้แก่ สมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และฮ่องกง เหลืออีก 5 ประเทศ คือ จีน เกาหลีใต้ อินเดีย ชิลี เปรู ที่ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์ยางส่วนใหญ่จากไทยแล้ว แต่คงการเก็บภาษีในบางรายการ
        
ส่วนสหรัฐฯ แม้จะไม่ใช่คู่เอฟทีเอของไทย แต่ที่ผ่านมา ไทยได้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) จากสหรัฐฯ  อีกทั้งสหรัฐฯ นำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นแทนสินค้าจากจีน ทำให้ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้น
        
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ประเทศคู่ค้าเปิดตลาดผลิตภัณฑ์ยางให้ไทยเพิ่มเติม กรมฯ จะเดินหน้าเจรจาผลักดันผ่านการทบทวนเอฟทีเอที่มีอยู่ในปัจจุบัน การหาข้อสรุปเอฟทีเอที่อยู่ระหว่างการเจรจา รวมถึงการเปิดเจรจาเอฟทีเอใหม่ๆ เช่น ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ไทย-สหราชอาณาจักร และไทย-สมาคมการค้าเสรียุโรป (เอฟต้า) เป็นต้น
        
ทั้งนี้ หากดูสถิติเปรียบเทียบช่วงก่อนและหลังทำเอฟทีเอ พบว่า อาเซียน เพิ่ม 5,847% จีน เพิ่ม 3,230% นิวซีแลนด์ 740% ออสเตรเลีย เพิ่ม 431% อินเดีย เพิ่ม 378% เกาหลีใต้ 237% เปรู 132% ชิลี 107% และญี่ปุ่น 118% เป็นต้น
        
“กรมฯ อยากให้ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไทย นำเรื่องที่ประเทศผู้นำเข้าลดหรือยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรผลิตภัณฑ์ยางที่ส่งออกจากไทยภายใต้เอฟทีเอ มาเป็นปัจจัยประกอบการพิจารณาเลือกตลาดส่งออก เพิ่มโอกาสการส่งออก และสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าไทยด้วย”นางอรมนกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad