สพฐ. ชี้ ยุค 4.0 ต้องเป็น “All for Education” ทุกคนมีส่วนร่วมพัฒนาผู้เรียน - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

สพฐ. ชี้ ยุค 4.0 ต้องเป็น “All for Education” ทุกคนมีส่วนร่วมพัฒนาผู้เรียน

      สพฐ. ชี้ ยุค 4.0 ต้องเป็น “All for Education”  ทุกคนมีส่วนร่วมพัฒนาผู้เรียน
เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระบุแนวทางการสื่อสารกับผู้ปกครองให้เข้าใจทิศทางการจัดการศึกษา เพื่อพัฒนาผู้เรียน  ต้องเน้นย้ำและสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน ว่า การศึกษาในวันนี้ต้องเป็นแบบ “All for Education” คือคนทุกคนต้องมีส่วนร่วม หวังพึ่งโรงเรียนอย่างเดียวคงไม่พอ หนึ่งสัปดาห์เด็กอยู่ที่โรงเรียน 5 วัน ที่เหลือคืออยู่กับครอบครัว สังคม ชุมชน ดังนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันขับเคลื่อนสังคมเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพ
ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ในการเรียนรู้นั้น คุณครู ผู้ปกครอง หรือชุมชน สังคม ต้องช่วยกันสร้างเกราะป้องกันให้กับเด็กให้เขาได้มีความพร้อมในการที่จะอยู่กับโลกใบนี้อย่างมีความสุข ผมต้องเชิญชวนทุกท่าน ทั้งผู้ปกครอง หน่วยงานทุกภาคส่วน รวมทั้งภาคประชาชนต้องช่วยกันลงมาดูแลเด็กๆ ของเรา ถ้าเด็กมีความเข้มแข็งทั้งด้านวิชาการ ด้านทักษะชีวิต ด้านอาชีพที่ดีแล้ว ประเทศไทยเราจะเจริญรุดหน้าไปได้ไกลขึ้น กระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้การกำกับของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ได้กำชับคือการสร้างความเข้มแข็ง ทั้งภายในและภายนอกให้เกิดขึ้นกับตัวเด็ก ภายในหมายถึงองค์ความรู้ที่เกิดขึ้น ทักษะที่เกิดขึ้น แล้วแต่ทัศนะคติของเด็กเอง เขาต้องแข็งแรงทั้งด้านทักษะวิชาการ ทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต ส่วนภายนอกคือสังคมรอบนอก เราต้องช่วยกันหล่อหลอมช่วยกันดูแล ใส่ใจในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเด็ก ทำให้เด็กมองเห็นว่าสิ่งที่มีอยู่รอบข้างนั้นมีหลายเรื่องที่เป็นประโยชน์ และหลายเรื่องที่เป็นโทษ ให้เขาได้เรียนรู้ หัดคิดหาเหตุและผล ให้พื้นที่เขาได้แสดงความคิดเห็นด้วย เพราะเด็กทุกคนมีความหมายและมีความสำคัญไม่ต่างกัน”
หลังการจัดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 69 ประจำปี 2562 ใน 4 ภูมิภาค ที่เพิ่งผ่านพ้นไปแล้วนั้น เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงกันระหว่าง Thailand 4.0 และงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนอีกครั้งว่า 107 ปีที่ผ่านมาว่า
“นัยยะของคำว่าศิลปหัตถกรรมนั้น เป็นสิ่งที่นำความเป็นไทยมาหล่อหลอม มาผสมผสาน มาเติมเต็มซึ่งกันและกันกับความเป็นโลกยุคใหม่ จะเห็นว่ามีการแข่งขัน Robot ด้วย การแข่งขัน Codding การแข่งขันคอมพิวเตอร์ แข่งขันภาษาต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการจัดการแข่งขันที่บ่งชี้ถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทยของเรา อาทิ การแกะสลัก การแสดงดนตรีไทย การฟ้อนรำ รวมทั้งด้านอื่นๆ สะท้อนให้เห็นความงดงามทางศิลปวัฒนธรรม อันเป็นเกียรติภูมิที่บรรพชนของเราได้อนุรักษ์หวงแหนถ่ายทอดมาสู่คนรุ่นหลัง และได้รับการอนุรักษ์และถ่ายทอดไปสู่อนุชนรุ่นหลัง พร้อมๆ กับการก้าวไปสู่ยุคอนาคตต่อไป การพัฒนาผู้เรียนของเราจึงต้องได้รับการอบรมบ่มเพาะ หล่อหลอม สอดคล้องทันสมัย ทันยุคและคงความเป็นไทยของเราไว้ให้ได้” นี่คือบทสรุปที่แน่วแน่ในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียนที่ชัดเจนยิ่งของ ดร.อำนาจ กล่าว   
    เช่นเดียวกันกับความเห็นของ นายพยอม วงษ์พูล  ผู้อำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุโขทัย เขต 1 ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับชาติ ครั้งที่  69 ปีการศึกษา 2562  ภาคเหนือ  จังหวัดสุโขทัย ที่เห็นว่าการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เรียนรู้-ต่อยอดการศึกษา สู่อาชีพที่มั่นคง สร้างชุมชนที่เข้มแข็ง นั้น เด็กๆ นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้จากเวทีการประกวดต่างๆ บริบทต่างๆ เสริมควบคู่ไปจากการเรียนรู้ภายในห้องเรียน    
            คำขวัญการจัดงานของภาคเหนือคือ วิชาการก้าวนำ หัตถกรรมก้าวหน้า เด็กเหนือพัฒนา ภูมิปัญญาสู่สากล ภูมิปัญญาในที่นี่เป็นการนำเอาความรู้ด้านวิชาการที่มีมากมายหลายแขนง  ทั้งศาสตร์และศิลป์ซึ่งมีการพัฒนาและนำสมัยอยู่ตลอดเวลามารวมกัน  หัตถกรรมหรือฝีมือต่าง ๆ ก็ต้องได้รับการพัฒนาไม่ด้อยไปกว่าทางด้านวิชาการ  โดยให้เด็กหรือนักเรียนเป็นผู้คิดค้นประดิษฐ์ในเชิงสร้างสรรค์ และถ่ายทอดซึ่งกระบวนการคิดวิเคราะห์ผ่านการนำเสนอในรูปแบบต่างๆ จนเกิดซึ่งภูมิปัญญาหรือผลงานเชิงสร้างสรรค์ ที่สะท้อนความรู้ กระบวนการและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ออกมาเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาผู้ที่ได้พบเห็นทั้งในและต่างประเทศ อันจะเป็นเครื่องยืนยันถึงคุณภาพของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญต้องสามารถนำภูมิปัญญานั้นไปสร้างอาชีพ สร้างรายได้และเป็นบุคคลที่มีส่วนในการพัฒนาชาติต่อไป
            อย่างไรก็ตาม นายพยอม ยังกล่าวเสริมอีกว่า การแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนฯ มีการลงพื้นที่จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตพื้นที่  เพื่อติดตาม สังเกตการณ์การแข่งขันกิจกรรมทุกสนามแข่งขัน  เพื่อเก็บข้อมูลอันจะนำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพการจัดการศึกษาในด้านต่างๆ อาทิ นักเรียนที่เข้าแข่งขันมีทักษะทั้งทางด้านวิชาการ มีความรู้ความสามารถเป็นไปตามความต้องการของหลักสูตร  มีทักษะวิชาชีพซึ่งสามารถพัฒนาต่อยอดและนำไปสู่การเป็นอาชีพ  นักเรียนแสดงออกอย่างมีความคิดสร้างสรรค์ การใช้เทคโนโลยีต่อยอดทางการศึกษาเรียนรู้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน เช่น การแข่งขันหุ่นยนต์ และนักบินน้อย สพฐ. เป็นต้น ซึ่งต้องยอมรับว่า การแข่งขันศิลปหัตถกรรมที่ผ่านมาจากอดีตถึงปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคม โดยมุ่งเน้นให้เด็กค้นหาและพัฒนาศักยภาพของตนเอง เพื่อพัฒนาเป็นอาชีพได้อย่างสร้างสรรค์
            “อยากให้นักเรียนที่เข้าร่วมการแข่งขันได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์  ความรู้ความสามารถที่ได้รับจากการแข่งขันในครั้งนี้ ไปพัฒนาผลงานของตนเอง หรือนำไปต่อยอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อปูทางไปสู่การศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไป และที่สำคัญได้นำไปสร้างอาชีพที่มั่นคง สร้างรายได้เลี้ยงตัวและครอบครัว รวมทั้งสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนของตนเองต่อไป” ผู้อำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุโขทัย เขต 1 กล่าว สรุป
 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad