“วีรศักดิ์”สั่งลุยสอนผู้ประกอบการชุมชนขายออนไลน์ หลังโควิด-19 ทำพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

“วีรศักดิ์”สั่งลุยสอนผู้ประกอบการชุมชนขายออนไลน์ หลังโควิด-19 ทำพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน

img
“วีรศักดิ์”สั่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเดินหน้าช่วยผู้ประกอบการชุมชนเข้าสู่ช่องทางการค้าออนไลน์ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น หลังโควิด-19 ระบาด ทำพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน หันมาใช้การซื้อขายออนไลน์กันมากขึ้น เผยจะส่งทีมงานร่วมกับแพลตฟอร์มชื่อดัง ไปสอนการทำการค้าออนไลน์ สอนเขียนเรื่องราวให้สินค้า การเปิดและบริหารจัดการร้านค้า พร้อมหนุนจดเครื่องหมายรับรอง การันตีเป็นตัวจริง
         
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าร่วมมือกับตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น Shopee , Lazada และ JD Central เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการชุมชนเข้าสู่ช่องทางการค้าออนไลน์ให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น เพราะคาดว่าหลังจากโรคโควิด-19 บรรเทาเบาบางลง ผู้คนทั่วทุกมุมโลกจะมีการดำเนินชีวิตในรูปแบบวิถีใหม่ (New Normal) โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับโมเดลธุรกิจแบบใหม่ (Digital Disruption) ที่คนจะมีการทำธุรกรรมผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัลกันมากขึ้น รวมไปถึงการซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่ผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับการใช้ช่องทางนี้กันมากขึ้น จึงต้องเร่งพัฒนาผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดการค้าออนไลน์ให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยในปี 2563 นี้ ตั้งเป้าหมายจะพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนเข้าสู่ช่องทางอี-คอมเมิร์ซให้ได้อย่างน้อย 10,000 ราย

สำหรับการเข้าไปช่วยพัฒนา จะมีทีมงานของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าร่วมกับแพลตฟอร์มออนไลน์เข้าไปช่วยพัฒนาองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการชุมชน ผ่านการจัดอบรมและบ่มเพาะเชิงลึกเกี่ยวกับการทำการค้าออนไลน์ การเข้าไปช่วยสอนการเขียนเรื่องราวให้กับสินค้า (Story Telling) ที่ผู้ประกอบการมีอยู่แล้วมาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค สอนเรื่องการใช้โทรศัพท์มือถือในการเปิดร้านค้า และการบริหารจัดการร้านค้าออนไลน์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ยังจะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการขอรับเครื่องหมายรับรองตัวตน DBD Registered และเครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือในการประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ DBD Verified จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อเป็นการยืนยันตัวตนและความน่าเชื่อถือของร้านค้า และเป็นช่องทางการขยายตลาดไปสู่สากล รวมทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคสามารถจับจ่ายซื้อสินค้าทางออนไลน์ได้อย่างไร้กังวล

ส่วนการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการ จะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมการค้าออนไลน์ เช่น การจัดงาน Thailand Online Mega Sale , DBD Boost up Online , Thailand e-commerce Hackathon เป็นต้น และที่ผ่านมา ได้ส่งเสริมผู้ประกอบการในภาคเกษตรให้สามารถขายสินค้าออนไลน์ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ผ่านการจัดกิจกรรม Thai fruits golden months มาแล้ว

อย่างไรก็ตาม คาดว่ายอดขายผ่านอี-คอมเมิร์ซของไทยจะเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว ภายใน 5 ปี โดยปี 2564 อี-คอมเมิร์ซไทย จะมีมูลค่าแตะ 5 ล้านล้านบาท ขึ้นแท่นเบอร์หนึ่งค้าขายออนไลน์อาเซียน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad