ดีเดย์พฤหัสนี้ เชียงใหม่ปลูกกล้าฟื้นป่าล้านต้น – ถอดบทเรียนวิกฤตฝุ่นเหนือ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ดีเดย์พฤหัสนี้ เชียงใหม่ปลูกกล้าฟื้นป่าล้านต้น – ถอดบทเรียนวิกฤตฝุ่นเหนือ

ไฟป่าบริเวณห้วยตึงเฒ่า // ขอบคุณภาพ: ทีมโดรนจิตอาสา
จับตา 21 พฤษภานี้ ประวิตร นั่งแท่นประธานงานปลูกป่า  ห้วยตึงเฒ่าเชียงใหม่ กรมป่าไม้หนุนประชาชนปลูกกล้าล้านต้นทั่วจังหวัด ฟื้นฟูพื้นที่ไหม้ไฟป่า ด้านนักนิเวศวิทยาแย้ง ปลูกป่าสิ้นเปลืองงบและทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ ขณะที่สภาลมหายใจจับตาการประชุมถอดบทเรียนวิกฤตฝุ่นเรียกร้องรัฐฉวยโอกาสฤดูฝนเร่งรับมือฤดูฝุ่นปีหน้า
18 พฤษภาคม ..2563 อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ เผยกับสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม ถึงกิจกรรมปลูกป่าในวันที่ 21 พฤษภาคม นี้ว่า พลเอก ประวิตรวงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานในพิธี จะนำต้นกล้าที่นายกรัฐมนตรีมอบให้เมื่อวันต้นไม้แห่งชาติ (6 พฤษภาคม) ลงปลูกเป็นต้นแรกเพื่อเปิดกิจกรรมปลูกป่า  บริเวณห้วยตึงเฒ่า อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ใกล้ดอยสุเทพและ ‘หมู่บ้านตุลาการป่าแหว่ง’ ที่เกิดไฟไหม้ใหญ่กลางเดือนมีนาคม ในวันเดียวกันนั้น ชุมชนรอบป่าอีก 802 ชุมชน จะร่วมปลูกกล้าในพื้นที่ของตนเองเพื่อฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมและพื้นที่ไฟไหม้ รวมถึงเพิ่มพื้นที่สีเขียว รวมทั้งหมดหนึ่งล้านต้น คิดเป็นพื้นที่ 12,000 ไร่
ข้อมูลของกรมป่าไม้ เผยว่า สถานการณ์ไฟป่าภาคเหนือปีนี้มีพื้นที่เผาไหม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 9.68 ล้านไร่ ซึ่งมี 49,000 ไร่ใน 9 จังหวัดภาคเหนือที่ไหม้เสียหายระดับรุนแรงต้องเร่งปลูกฟื้นฟูป่าโดยเร็ว เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถฟื้นสภาพได้ตามธรรมชาติ ได้แก่ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าสนเขา และรวมถึงพื้นที่บุกรุกแผ้วถางที่มีการเผาร่วมด้วย
การปลูกป่าแบบฟื้นฟูเพื่อการอนุรักษ์เป็นเรื่องจำเป็นเพราะพื้นที่ผ่านการบุกรุกมานาน ดินเสื่อมสภาพ และหลายพื้นที่อยู่ห่างไกลกับป่าทำให้ไม่มีลูกไม้เหลืออยู่ในบริเวณ การปล่อยให้พื้นที่ฟื้นตัวตามธรรมชาตินั้นเป็นไปได้ยากและใช้เวลานาน” อธิบดีกรมป่าไม้อธิบาย
เราจะทำในรูปแบบการปลูกเสริมตามความเหมาะสมของพื้นที่ โดยจะปลูกต้นไม้พื้นถิ่นที่เป็นป่าเดิมของมัน เริ่มจากไม้เบิกนำ เช่น ไม้ตระกูลถั่วช่วยปรับปรุงดิน และไม้โครงสร้างหลักตามชนิดของป่านั้น
เขาอธิบายว่า การปลูกป่าครั้งนี้จะไม่เกิดปัญหาซ้อนทับที่ดินทำกินของชุมชนเนื่องจากไม่ใช่การปลูกเต็มพื้นที่ทั้งหมด ทว่าเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนปลูกต้นไม้เสริมในพื้นที่ทำเกษตร ตามข้อกำหนดของคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ(คทช.) ซึ่งเปิดให้ผู้ยากไร้ได้สิทธิทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ข้อกำหนดระบุว่าต้องปลูกต้นไม้เพื่อการอนุรักษ์ (ห้ามตัด ห้ามตาย) อย่างน้อย 20% ในพื้นที่ โดยสามารถปลูกไว้รอบแปลงและเว้นพื้นที่ตรงกลางไว้ใช้ประโยชน์
อรรถพลยังเสริมว่า กิจกรรมปลูกป่าวันที่ 21 พฤษภาคมนี้ เน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วม นับเป็นการเริ่มต้นการปลูกป่ามิติใหม่ในไทย ซึ่งภาครัฐไม่ใช่ผู้ปลูกอย่างเดียวหากส่งเสริมให้ภาคประชาชนและเอกชนมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น โดยกรมป่าไม้กำลังพัฒนาเว็บไซต์ใหม่ ซึ่งจะเปิดให้สาธารณะชนเลือกเป็นเจ้าภาพแปลงปลูกป่าในจังหวัดต่างๆ คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์เดือนหน้า ผู้ใช้สามารถติดตามผลผ่านภาพถ่ายดาวเทียมบนเว็บไซต์ได้อย่างต่อเนื่อง โดยกรมฯ จะเป็นตัวกลางประสานงานกับหน่วยงานท้องถิ่นในการสำรวจความเหมาะสมของพื้นที่ พร้อมทั้งจัดหากล้าไม้ 
อย่างไรก็ตาม  Wei Zhiling นักนิเวศวิทยา ได้แสดงความคิดเห็นอีกด้านหนึ่งว่าการปลูกป่าไม่ใช่เรื่องจำเป็น พื้นที่เกิดไฟป่ายังมีเมล็ดพันธุ์พืชอยู่ในดินจำนวนมหาศาลเพราะเป็นการเผาทำลายป่าปฐมภูมิรอบแรก​ อีกทั้ง เมล็ดพืชจะกระจายจากป่ารอบข้างได้แม้ป่าจะอยู่ถัดออกไปถึง 10 กิโลเมตร ยิ่งไปกว่านั้น การปลูกป่าจะยิ่งทำลายระบบนิเวศดั้งเดิมในพื้นที่ เพราะได้สวนป่าที่มีไม้ใหญ่ ขาดองค์ประกอบหลายอย่างของป่าธรรมชาติ เช่น เถาวัลย์ ไม้พื้นล่าง ไม้พุ่มล้มลุก รา จุลินทรีย์ และที่สำคัญคือสัตว์ป่า 
ถ้าวัตถุประสงค์ปลูกไม่ใช่เพื่อตัดไปใช้งานยิ่งต้องปล่อยให้ธรรมชาติทำงานเองการปลูกป่าอย่างที่ทำกันจะได้ ‘สวนป่า’ ที่ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพเงียบ ไม่ต่างกับการรุกป่าแนวใหม่ ทุกวันนี้ การปลูกป่าในไทยยังตั้งอยู่บนฐานความคิดจัดการป่าไม้เชิงเศรษฐกิจและเกษตรกรรมมากกว่าการอนุรักษ์ธรรมชาติ
กิจกรรมปลูกป่า // ขอบคุณภาพ: กรมป่าไม้
เขากล่าวว่า ภาพการฟื้นฟูเขาหัวโล้นกลับมาเป็นป่าสำเร็จที่เห็นตามสื่อนั้นมักมีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์เทียม (pseudoscience) เพราะป่านั้นฟื้นฟูเองได้ต่อให้ไม่มีใครเข้าไปปลูก กิจกรรมปลูกป่าต่างๆ ควรกำหนดพื้นที่จำนวนหนึ่งไว้เป็นพื้นที่ปล่อยว่างให้ฟื้นฟูเองตามธรรมชาติ เพื่อใช้ศึกษาเทียบกับพื้นที่ลงกล้าเป็นการตรวจวัดผลความสำเร็จของกิจกรรมปลูกป่า
นอกจากผลกระทบต่อระบบนิเวศ กิจกรรมปลูกป่ายังเป็นที่วิจารณ์จากอดีตข้าราชการกรมป่าไม้ถึงความโปร่งใสของงบประมาณ เนื่องจากเป็นโครงการที่ใช้งบจำนวนมากและตรวจสอบหลักฐานได้ยาก โดยหน่วยงานรัฐอาจกล่าวอ้างได้ว่าได้แจกจ่ายประชาชนแล้ว 
กิจกรรมปลูกป่าวันที่ 21 พฤษภาคม นับเป็นการปิดม่านฤดูกาลหมอกควันภาคเหนือที่กินเวลาเกือบ 4 เดือนช่วงมกราคมถึงเมษายน ในวันเดียวกันนั้นจะมีการประชุมถอดบทเรียนวิกฤตหมอกควันภาคเหนือ “สภาลมหายใจ” เครือข่ายประชาชนและนักวิชาการชาวเชียงใหม่ที่ขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว ได้เรียกร้องให้พลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่มีกำหนดเข้าร่วมประชุม นำเรื่องปัญหาหมอกควันเข้าสู่รัฐบาลกลางและอำนวยการแก้ปัญหาตั้งแต่นี้เป็นต้นไป โดยไม่รอให้เกิดวิกฤตปีหน้าอีกครั้งก่อนเริ่มรับมือ
ที่มา:GreenNews

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad