4 เสาหลัก…ปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพุธที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

4 เสาหลัก…ปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

รายงานพิเศษ : 4 เสาหลัก…ปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

“รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการบริหารจัดการน้ำมาโดยตลอด ซึ่งได้จัดตั้ง 3 เสาหลักขึ้นมาบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ทำให้รัฐบาลสามารถจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับน้ำทั้งระบบและการจัดหาแหล่งน้ำต้นทุน ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำทั้งในปัจจุบัน และในอนาคตที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดงาน สร้างรู้ สื่อสาร การบริหารจัดการน้ำฤดูฝน ปี 2562 ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เมื่อเร็วๆนี้
อย่างไรก็ตาม ต่อมาได้ปรับปรุงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ โดยเพิ่มเสาหลักที่ี่สี่คือ การพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนแผนแม่บท
ทั้งนี้ ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ รัฐบาลได้จัดตั้ง 4 เสาหลักขึ้นมา เพื่อบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีความมั่นคงยั่งยืน ประกอบด้วย เสาหลักแรกพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2562 เสาหลักที่สอง แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา มีทั้ง 6 ด้าน ประกอบด้วย 1.การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 2.การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิตน้ำเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม 3.การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4.การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ 5. การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและการป้องกันการพังทลายของดิน และ6. การบริหารจัดการ
สำหรับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ตั้งเป้าหมายให้ทุกหมู่บ้านเข้าถึงดื่มสะอาดได้มาตรฐานและราคาที่เหมาะสม 75,032 หมู่บ้าน ภายในปี 2573 พัฒนาน้ำต้นทุน 27,299 ล้าน ลบ.ม. ทั้งแหล่งน้ำใหม่และพื้นที่เกษตรน้ำฝน เพิ่มพื้นที่กระจายน้ำ 31 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ชลประทาน 18 ล้านไร่ และพื้นที่เกษตรน้ำฝน 13 ล้านไร่ พัฒนาแหล่งน้ำชุมชนเพื่อการเกษตร 10,000 แห่ง ได้ปริมาณน้ำ 6,000 ล้าน ลบ.ม. ป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ 764 แห่ง ลดผลกระทบจากอุทกภัย 15 ล้านไร่ พัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย 741 แห่ง ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 3.5 ล้านไร่ ก่อสร้างฝายชะลอน้ำ541,894 แห่ง
ส่วนเสาหลักที่สาม รัฐบาลตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขึ้นมาให้เป็นหน่วยงานหลักด้านนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ลดความซ้ำซ้อนของหน่วยงานด้านน้ำที่มีอยู่กว่า 40 หน่วยงานใน 7 กระทรวง และเสาหลักที่สี่ การพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนแผนแม่บทนั้น รัฐบาลเห็นความสำคัญของการนำรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับน้ำทั้งหมดมารวมไว้ในที่เดียว และจัดทำนวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำในรูปแบบ Nearly Real time Analytic ช่วยให้การเข้าถึงข้อมูลและการใช้งานสะดวก รวดเร็วทันท่วงที การตัดสินใจบริหารจัดการน้ำแม่นยำขึ้น เรียกนวัตกรรมนี้ว่า “One Map” และยังพัฒนา Application และงานวิจัยนำความรู้ใหม่ผสมผสานกับศาสตร์พระราชา และปราชญ์ชาวบ้านมาใช้บริหารจัดการน้ำในรูปแบบปัญหาและความต้องการที่แตกต่างกัน
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า การรบริหารจัดการน้ำของประเทศภายใต้ 4 เสาหลักดังกล่าว มีสทนช.ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางกำกับขับเคลื่อนแผนแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี รวมทั้งติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ ล่าสุด สทนช.ยังนำเสาหลักที่สี่ นวัตกรรมและเทคโนโลยีของหน่วยงานต่างๆมาที่เกี่ยวข้องมาบูรณาการใช้รับมือสถานการณ์ฤดูฝน ปี 2562 อีกด้วย โดยเฉพาะการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม แนวทาง เงื่อนไข การแจ้งเตือนและกำหนดเกณฑ์ปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการรับมือสถานการณ์น้ำในฤดูฝนตามระดับความรุนแรง และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น มีทั้งหมด 3 ศูนย์ปฏิบัติการ ได้แก่
1. ระดับที่ 1 ระดับสีเขียว เมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน “ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ” ของ สทนช. จะเป็นหน่วยงานหลักในการประสาน ติดตาม ข้อมูลจากหน่วยงานด้านน้ำเพื่อวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์ประจำวัน 2. ระดับที่ 2/3 หรือ ระดับสีเหลือง/ส้ม เมื่อมีพายุก่อตัวและคาดว่าจะมีผลกระทบต่อประเทศไทย หรือความกดอากาศต่ำพาดผ่าน มีปริมาณฝนตกชุกหนาแน่นครอบคลุมหลายจังหวัด คิดเป็นปริมาณฝนสะสม 3 วัน มากกว่า 200 มม. ปริมาณน้ำในลำน้ำมากกว่า 60% ของความจุลำน้ำ และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมากกว่า 60% และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือสูงกว่าเส้นควบคุมบนของ Rule Curve “ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ” จะเริ่มปฏิบัติงานทันทีคาดว่าภายในกลางเดือนกรกฏาคมนี้ และ3. ระดับ 4 ระดับสีแดง ซึ่งเป็นระดับสูงสุด เมื่อมีสถานการณ์รุนแรงและมีผลกระทบในวงกว้าง การดำเนินการจะถูกยกระดับเป็น “ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ” มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญชาการศูนย์ฯ ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 โดยทุกหน่วยงานต้องรายงานข้อมูลต่อ สทนช. ทุก 3 ชั่วโมง ส่วนในพื้นที่วิกฤติต้องรายงานความเคลื่อนไหวทุกชั่วโมง โดยข้อมูลดังกล่าวจะส่งต่อไปยังกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนต่อไป
การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น มีเอกภาพ ไม่ซ้ำซ้อน สามารถวางแผนพัฒนา ป้องกัน และแก้ไขปัญหาน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลสูงสุด และยั่งยืน
เสาหลักทั้ง 4 เสา จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสำหรับการปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศให้มีความสมบูรณ์แบบตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad