สพฐ. เดินหน้าเติมเต็มทักษะภาษาต่างประเทศ เทคโนโลยี กระตุ้นการเรียนรู้ได้ในทุกบริบท และรักษาความเป็นไทยในเด็กนักเรียนยุค 4.0 - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

สพฐ. เดินหน้าเติมเต็มทักษะภาษาต่างประเทศ เทคโนโลยี กระตุ้นการเรียนรู้ได้ในทุกบริบท และรักษาความเป็นไทยในเด็กนักเรียนยุค 4.0


สพฐ. เดินหน้าเติมเต็มทักษะภาษาต่างประเทศ เทคโนโลยี
กระตุ้นการเรียนรู้ได้ในทุกบริบท และรักษาความเป็นไทยในเด็กนักเรียนยุค 4.0
            ดร.อำนาจ วิชยานุวัติเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการเน้นย้ำความท้าทายที่มาพร้อมกับความก้าวหน้าทางสังคม โดยมีเทคโนโลยีและการสื่อสารเป็นกลไกขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ยุค 4.0 จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับร่วมมือกันในทุกภาคส่วนเพื่อแสวงหาแนวทางรับมือและวางแผนป้องกันผลกระทบอันเกิดการจากการเป็นยุคแห่ง Disruption
            “สิ่งสำคัญที่สุดเราต้องจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเด็กเอง ภายใต้สิ่งแวดล้อมสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นโดยครูจะต้องเป็นผู้นำในการจัดกระบวนการเรียนรู้ ภาพในอดีตเป็นภาพของคุณครู บ่มเพาะสั่งสอน บอกกล่าว แต่วันนี้เด็กต้องค้นหาองค์ความรู้เองโดยมีครูเป็นผู้จัดการหรือเป็นโค้ชหากเราจัดการกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างครอบคลุม เด็กเรียนสามารถรู้ได้ตามศักยภาพของเขา เด็กเรียนรู้ได้ตามสิ่งแวดล้อม ที่แวดล้อมตัวเขา เด็กจะสามารถเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก สังคมปัจจุบัน สังคมเชิงพื้นที่ ซึ่งก็คือภาพรวมของประเทศที่มีอยู่ การเรียนรู้วันนี้สิ่งสำคัญคือการที่จะต้องจูงใจและเรียนรู้ร่วมกัน จะต้องส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ในทุกช่วงวัย ภาพการเรียนรู้วันนี้คุณครูและโรงเรียนต้องปรับตัวเพื่อที่จะก้าวไปสู่กระบวน การเรียนรู้ที่มุ่งสู่การพัฒนาศักยภาพของบุคคลที่มีอยู่อย่างเต็มศักยภาพต่อไป”   


และเพื่อให้ไปถึงจุดหมายการพัฒนาผู้เรียนอย่างแท้จริง การเสริมสร้างทักษะด้านวิชาการ ส่งเสริมทักษะด้านวิชาชีพ สนับสนุนทักษะด้านการดำเนินชีวิต ในสามด้านนี้จะต้องมีการสร้างสมดุล ซึ่งในมุมมองดร.อำนาจ วิชยานุวัติเผยว่า
“สิ่งที่คาดหวังอันดับแรกคือเรื่องของทักษะวิชาการ เราเข้าถึงผู้เรียนเพื่อประเมินว่าเขามีความพร้อม
ด้านไหน วิชาการของผมไม่ใช่วิชาการในเรื่องการเรียน ภาษาไทย สังคม วิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ แต่วิชาการของผมคือการเรียนทุกศาสตร์สาขา แม้กระทั่งเรื่องของดนตรี กีฬา ศิลปะ หรือวิชาการที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง ของทักษะอาชีพ วิชาการในเรื่องของทักษะชีวิต รวมไปถึงการเรียนรู้องค์ความรู้ใหม่ๆ ที่มากับการเปลี่ยนแปลง ของยุคสมัย เช่นคอมพิวเตอร์
Social Media นวัตกรรมต่างๆ ดังนั้นการที่จะBalance หรือสร้างสมดุลด้านการเรียนรู้ได้นั้น นักเรียนต้องสามารถเรียนรู้จากทั้งในห้องและนอกห้อง ประยุกต์ ผสมผสาน เชื่อมโยงสิ่งต่างๆในโลกใบนี้เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ทักษะชีวิตบูรณาการเรียนรู้ได้ คนที่เรียนไม่เก่งด้านนี้ก็สามารถเอาดีโดยใช้ทักษะหรือศักยภาพด้านอื่นของเขาได้ ต้องมอบโอกาสให้กับทุกคน ยอมรับในศักยภาพความแตกต่างของแต่ละบุคคลแล้วชี้แนะให้เขาสามารถไปต่อได้ ต้องเติมเต็มซึ่งกันและกัน คำว่าวิชาการ ทักษะชีวิตต้องอยู่ด้วยกัน ไม่สามารถจะแยกจากกันได้ สองสิ่งนี้หากเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลถึงการมีทักษะอาชีพที่ดีต่อไปในอนาคต”
นอกจากนั้น เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานยอมรับว่าโลกทุกวันนี้เป็นโลกของการเปลี่ยนแปลง Disruption ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบตามมามากมาย จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องและพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในมิติด้านต่างๆแต่เหนือสิ่งอื่นใด  “ความเป็นไทย” คือสิ่งที่ต้องเน้นย้ำและสร้างความตระหนักรู้ในหมู่เด็กเยาวชนไทย
“พลวัตของโลกสมัยใหม่ทำให้ทุกอย่างรวดเร็ว สะดวกสบายขึ้นก็จริง แต่เราต้องไม่ลืมรากเหง้า ตัวตน
ของเรา ประเทศไทยมีมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่ดีงาม ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น เช่น การไหว้ ความโอบอ้อมอารี เรามีวัฒนธรรมอันดีงาม มีภาษาเป็นของเราเอง ซึ่งเหล่านี้จะต้องคงอยู่กับคนไทยตลอดไป แต่คงไม่ปฏิเสธการไหลบ่าเข้ามาของวัฒนธรรมต่างชาติ อันเกิดจากเทคโนโลยี การสื่อสารต่างๆสิ่งที่เราต้องชี้ให้เด็กของเราเห็นคือ ความรู้ความเข้าใจที่เกิดขึ้นจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันจากทั่วทุกมุมโลกผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ และเราต้องรักษาอัตลักษณ์ของเราเอาไว้ให้ได้ เรียนรู้ที่จะยอมรับและอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่าง หลากหลายอย่างเข้าใจ ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราต้องพัฒนาด้านทักษะภาษาของเราให้ดียิ่งขึ้น การเกิดขึ้นของภาษาดิจิทัล ภาษาคอมพิวเตอร์ ที่มาเร็วและแรง เราต้องใช้ทักษะทุกด้านเพื่อหลอมรวมองค์ความรู้ที่มี สร้างจุดยืนที่เด่นชัดของเราความเป็นไทยของเรา ทักษะด้านเทคโนโลยี ทักษะด้านการสื่อสารสากลต้องเท่าทันยุค 
Globalization บทบาทของชาติผู้นำโลกเราต้องรู้เท่าทัน และเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึง แต่ในขณะเดียวกันค่านิยมความเป็นไทยเราก็ต้องไม่ทิ้ง”


          สอดคล้องกับความเห็นของว่าที่ร้อยตรี ดร. ทวีศักดิ์ นามศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต ๑ ประธานคณะกรรมการจัดงาน การแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 69 ปีการศึกษา 2562 จังหวัดศรีสะเกษ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เห็นพ้องว่า เทคโนโลยียุค 4.0 ช่วยลดความเหลื่อมล้ำปูทางสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา
“นโยบายรัฐบาล คือการมุ่งมั่นที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่ยุค 4.0 ให้ได้ภายใน 20 ปี ให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน รัฐบาลจึงได้ผลักดันส่งเสริมให้ลูกหลานของเรามีอาชีพสุจริต ส่งเสริมการศึกษา
เพื่อการมีงานทำ จัดการศึกษาเพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ ขณะเดียวกันก็ยังต้องสร้าง ความภาคภูมิใจในภูมิปัญญา มรดกทางศิลปวัฒนธรรมประเพณีของแผ่นดินเกิดเพื่ออนุรักษ์สืบสานไปยังอนุชนรุ่นหลังด้วย และจากที่ได้เรียนรู้จากงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับชาติในหลายครั้ง บางรายการที่เด็กจากพื้นที่รอบนอกสามารถชนะเด็กในเมืองได้ ก็สะท้อนว่าความเหลื่อมล้ำนั้นค่อยๆ ลดลงไป ไม่ว่าจะอยู่ในชนบทเราก็มีครูดี มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ดี มีอุปกรณ์ที่ดีมีผู้สนับสนุนที่ดี เทียบเคียงกับในเมือง การเข้าถึงเทคโนโลยีเช่นอินเตอร์เน็ต ก็ทำได้ไม่ต่างกัน เห็นได้จากการได้พูดคุยกับเด็กนักเรียนที่เข้าแข่งขันที่ต่างสืบค้นข้อมูลผ่านช่องทางนี้มากขึ้น เขาได้เห็นตัวอย่างผลงาน เห็นนวัตกรรมใหม่ๆ แล้วนำมาสอบถามครูในห้องเรียน ครูก็ต้องเร่งปรับตัวเพิ่มพูนความรู้ไปพร้อมๆ กัน เห็นได้ว่าเทคโนโลยีเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นผู้บริหารการศึกษาก็ต้องรู้ให้เท่าทัน ส่งเสริมสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ รู้เท่าทันคุณและโทษของเทคโนโลยีในแง่มุมต่างๆ รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาผนวกกับขนบธรรมเนียมประเพณีเพื่อการสื่อสะท้อนอย่างสร้างสรรค์ จุดนี้จะเป็นหนึ่งกิจกรรม หนึ่งช่องทางที่ลดความเหลื่อมล้ำเกิดความเท่าเทียมได้”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad