ไทยยังไม่ปรับเป้าลดคาร์บอน แม้เวที COP25 ย้ำชัด ประชาคมโลกต้องยกระดับเป้าหมายสู้โลกร้อน - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ไทยยังไม่ปรับเป้าลดคาร์บอน แม้เวที COP25 ย้ำชัด ประชาคมโลกต้องยกระดับเป้าหมายสู้โลกร้อน


ไทยยังไม่ปรับเป้าลดคาร์บอน แม้เวที COP25 ย้ำชัด ประชาคมโลกต้องยกระดับเป้าหมายสู้โลกร้อน


การเรียกร้องเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ กรุงมาดริด 6 ธ.ค. 62 ขอบคุณภาพจาก: Greta Thunberg
631 องค์กรนานาชาติออกแถลงการณ์ในเวทีประชุมโลกร้อน COP25 จี้ผู้นำประเทศทั่วโลก ปรับเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละประเทศให้สูงขึ้น และยกระดับแผนปฏิบัติการกู้วิกฤตโลกร้อนอย่างเร่งด่วน เพื่อหยุดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ขณะที่รัฐบาลไทยยังไม่มีแผนยกระดับเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แจงต้องใช้เวลาศึกษาและพิจารณาผลกระทบให้ถี่ถ้วนก่อน
เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม องค์กรนานาชาติทั้งหมด 631 องค์กร ซึ่งมี โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme) ร่วมอยู่ด้วย ได้ออกแถลงการณ์ถึงเหล่าผู้นำนานาชาติกำลังร่วมประชุมหารือภายในงานประชุมโลกร้อน COP25 ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปน เรียกร้องให้แต่ละประเทศทบทวนเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Nationally Determined Contributions หรือ NDCs) ของตน ให้มีความท้าทายยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินการตามแผนลดโลกร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนผ่านจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในภาคพลังงาน สู่การใช้พลังงานหมุนเวียน 
แถลงการณ์ระบุว่า จากรายงานช่องว่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยสหประชาชาติ (UN’s annual Emissions Gap Report) ฉบับล่าสุด ที่เผยแพร่เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พบว่า เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละประเทศตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ยังไม่เพียงพอที่จะควบคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกพุ่งสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยรายงานชี้ว่า นานาชาติจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างน้อย 45% ภายในปี พ.ศ.2573 เพื่ออุดช่องโหว่ของความพยายามลดก๊าซเรือนกระจก (emission gap) และบรรลุเป้าหมายการควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ 
António Guterres เลขาธิการสหประชาชาติทวิตในทวิตเตอร์ส่วนตัวเมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า จนถึงตอนนี้ พวกเราพยายามไม่พอเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราต้องการความทะเยอทะยานจากทุกคนมากกว่านี้
เช่นเดียวกับ Petteri Taalas เลขาธิการองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization) ที่นำเสนอรายงานการสำรวจในงาน COP25  ในวันเดียวกันว่า ปีนี้นับว่าเป็นหนึ่งในปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นสูง 1.1 องศาเซลเซียสหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมและหากยังดำเนินไปเช่นนี้อุณหภูมิโลกจะขึ้นสูงมากกว่า 3 องศาเซลเซียสในปลายศตวรรษ
“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงขึ้น แต่เรายังไม่เห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นหลังจากการนำความตกลงปารีสไปปฏิบัติ” Taalas กล่าว
นอกจากนี้ World Resources Institute ยังประเมินว่า การปรับเปลี่ยนเป้าหมายให้ท้าทายมีผลดีกับประเทศในแง่ต่างๆ เช่น เพิ่มอาชีพและเป็นการดึงดูดเงินทุุนสนับสนุนกิจกรรมลดโลกร้อนซึ่งเป็นข้อตกลงหนึ่งในความตกลงปารีส เมื่อประเทศพัฒนาแล้วมีหน้าที่สนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในเรื่องดังกล่าว
อย่างไรก็ดี กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ประกาศเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่าประเทศไทยพร้อมเจรจาว่ายังคงเป้าหมายเดิมดังที่กล่าวในงาน COP21 เมื่อสี่ปีก่อน คือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20 – 25% ภายในปี 2573 เนื่องจากการปรับเป้าหมายแต่ละครั้งจะต้องใช้เวลาศึกษาและพิจารณาผลกระทบด้านอื่น ๆ ที่จะตามมา ทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมด้วย ดังนั้นก่อนจะกำหนดโจทย์ใหม่แต่ละครั้งจึงควรพิจารณาให้รอบคอบว่าเป็นการปรับที่รับไหวก่อนเพื่อให้ประเทศยังสามารถเติบโตทางเศรษฐกิจ
เป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกที่แต่ละประเทศมุ่งมั่น  เกิดจากความตกลงปารีสซึ่งนานาประเทศตกลงกันในปี 2558 เพื่อมุ่งลดก๊าซเรือนกระจกและคงอุณหูมิโลกให้ไม่ขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส แผนการดำเนินงานมีกำหนด 15 ปี (ภายในปี 2573) โดยทุกๆ ห้าปีก่อนจะพัฒนาโจทย์ของประเทศตัวเองให้ท้าทายมากขึ้น เป็นการยกระดับการรับมือกับปัญหาโลกร้อน ปี 2563 ที่จะถึงจึงถือว่าเป็นโอกาสแรกที่แต่ละประเทศจะกลับมาทบทวนเป้าหมายของตนเอง ดังนั้นการประชุม COP25 ในปีนี้จึงเป็นหมุดหมายสำคัญที่รัฐนานาประเทศจะได้แสดงทิศทางที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในปีถัดไป
การตัดสินใจเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยนับว่าเป็นหนึ่งใน 14 ประเทศจากประเทศทั้งหมด 112 ประเทศที่คาดการณ์ว่าจะไม่มีการปรับเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก ประเมินโดย The UN Development Programme (UNDP) และ UN Climate Change (UNFCCC) ในรายงาน “NDC Global Outlook Report 2019” ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
รายงานดังกล่าวแบ่งประเทศต่างๆ เป็นสี่กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่กล่าวว่าจะต่อยอดเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก (75 ประเทศ) เช่น เนปาลกับนอร์เวย์ กลุ่มที่จะทบทวนและอัพเดตแผน (37 ประเทศ) อาทิ สหภาพยุโรปซึ่งมีการเสนอให้เพิ่มเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกจาก 40% เป็น 55% หลังประกาศสภาวะเร่งด่วนทางสภาพภูมิอากาศ กลุ่มที่ยังไม่แสดงทิศทาง (71 ประเทศ) และกลุ่มที่จะคงเป้าหมายเดิม (14 ประเทศ) โดยกลุ่มหลังนี้อาจมีหลายเหตุผลให้ตัดสินใจดังกล่าว เช่น ตั้งเป้าหมายที่สูงไว้อยู่แล้วหรือต้องการเงินทุนสนับสนุนเพื่อทำให้เป้าหมายสำเร็จ 
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมรายงานว่าจากการดำเนินงานติดตามผลการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556-2560 พบว่าในช่วง 5 ปี ไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกลงได้ 4% 10% 11% 12% และ 14% ตามลำดับสอดคล้องกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมิได้นิ่งนอนใจใด ๆ ต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้นในโลก
กราฟเปรียบเทียบปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบันกับปริมาณที่ต้องลดเพื่อรักษาระดับอุณหภูมิโลก // ขอบคุณภาพจาก: TIME
ในขณะเดียวกัน ด้านภาคประชาชน เกรต้า ธันเบิร์กและผู้เข้าร่วมเรียกร้องกว่า 500,000 รายออกมาเคลื่อนไหว ณ กรุงมาดริดระหว่างการจัดประชุม COP25  โดยเธอได้เข้าร่วมแถลงการณ์ต่อสื่อในงานประชุม แต่ไม่ได้กล่าวอะไรและเปิดพื้นที่ให้เยาวชนชนพื้นเมืองจากหมู่เกาะต่างๆ เป็นผู้นำเสนอผลกระทบต่อบ้านเกิดพวกเขา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad