เจรจาแก้ปัญหาพีมูฟราบรื่น รองนายกฯวิษณุสั่งการเร่งแก้ปัญหาใน 3 เดือน - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

เจรจาแก้ปัญหาพีมูฟราบรื่น รองนายกฯวิษณุสั่งการเร่งแก้ปัญหาใน 3 เดือน

เหมืองแร่หนองบัว
ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองหินอุตสาหกรรม ที่ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู เป็นหนึ่งในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการคุกคามสิทธิจากการดำเนินธุรกิจ //ขอบคุณภาพจาก:
เหมืองแร่หนองบัว
ผู้เชี่ยวชาญเผย นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ตลอดจนประชาชนในท้องถิ่นจากทุกภูมิภาคของประเทศไทย ยังคงเผชิญภัยคุกคามจากถูกฟ้องร้องดำเนินคดี การใช้กำลังข่มขู่ ทำร้าย หรือแม้แต่อุ้มหาย จากปมความขัดแย้งระหว่างภาคประชาชน กับบริษัทผู้ลงทุนโครงการเหมืองแร่ โรงงานอุตสาหกรรม และโครงการพัฒนาขนาดใหญ่อื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตประชาชน และสิ่งแวดล้อม
อังคณา นีละไพจิต อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวในเวทีแถลงข่าว “จับตาคดีอุ้มขังเอกชัย กับสถานการณ์เหมืองแร่ประเทศไทย” เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาว่า ถึงแม้ว่ารัฐบาลไทย โดยกระทรวงยุติธรรม ได้มีการประกาศใช้ แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (NAP) เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นก้าวย่างสำคัญของประเทศไทย ต่อการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการประกอบธุรกิจและการลงทุน ตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Guiding Principles on Business and Human Rights: UPR)
แถลงข่าว
เวทีแถลงข่าว “จับตาคดีอุ้มขังเอกชัย กับสถานการณ์เหมืองแร่ประเทศไทย” / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์
อย่างไรก็ตาม อังคณา ระบุว่า จากกรณีการใช้กำลังลักพาตัวและกักขังหน่วงเหนี่ยว เอกชัย อิสระทะ นักเคลื่อนไหวปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อกีดกันไม่ให้เขาเข้าไปมีส่วนร่วมในเวทีรับฟังความคิดเห็นการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่หินปูนที่ จ.พัทลุง เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลไทยยังไม่มีการออกมาตรการที่ชัดเจนในการปกป้องสิทธิในที่ดิน สิทธิชุมชน สิทธิในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากการดำเนินธุรกิจและการลงทุน ไม่สามารถนำ แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ไปปฏิบัติใช้อย่างจริงจัง จนทำให้ขาดหลักประกันในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน จากการถูกฟ้องร้อง ข่มขู่ คุกคาม
“ถามว่าอะไรคือมาตรการในการคุ้มครองปกป้องนักสิทธิมนุษยชน ดิฉันเห็นว่าจนกระทั่งวันนี้ยังไม่มีมาตรการหรือรูปธรรมอะไรที่บอกชัดเจนว่าคนในชุมชนที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตนเองและชุมชนจะต้องได้รับการคุ้มครองจะต้องไม่ถูกฟ้องร้องเพื่อกลั่นแกล้งหรือถูกปิดปาก คุกคาม หรือถูกอุ้มหายไปเฉยๆไม่ว่าจะหายแบบไหนไม่ถึงครึ่งชั่วโมงหรือเป็นวันหรือหายไปเลยก็แล้วแต่เรื่องราวแบบนี้จะต้องไม่เกิดขึ้น” เธอกล่าว
“ดิฉันหวังว่าในการช่วงพิจารณาคดีพยานที่ให้การโดยเฉพาะตัวคุณเอกชัยเอง  จะต้องไม่ถูกคุกคาม รัฐบาลจะต้องมีหลักประกัน ในการคุ้มครองไม่ว่าจะเป็นตัวคุณเอกชัยหรือพยานคนอื่นๆ แกนนำชาวบ้าน ตรงนี้รัฐบาลต้องเข้ามาดูแลและให้ความสำคัญนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เหมือนอย่างที่ประเทศไทยได้ให้คำมั่นต่อองค์การสหประชาชาติ ประเทศไทยได้เข้าสู่การตรวจสอบสถานการณ์สิทธิมนุษยชนด้วยระบบ UPR”
อนึ่ง ภายหลังจากการถูกลีกพาตัวไปกักขังหน่วงเหนี่ยวเป็นระยะเวลา 1 วัน เอกชัยได้เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ โดยในคดีนี้ศาลจังหวัดพัทลุงจะนัดสืบพยานตั้งแต่วันที่ 18, 25-28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563
ด้าน ส รัตนมณี พลกล้า ทนายความและผู้ประสานงานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน เปิดเผยว่า นอกจากกรณีการข่มขู่คุกคามต่อเอกชัยแล้ว ประชาชนตลอดจนนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิและสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศ ก็กำลังประสบกับการคุกคา โดยกลุ่มนายทุนในโครงการที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกัน
ส รัตนมณี กล่าวว่า เพียงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนมีนาคม มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนมีงานช่วยเหลือนักปกป้องสิทธิที่ถูกฟ้องร้องในศาลหลายสิบคดี อาทิ คดีฟ้องร้องนักกิจกรรม 9 คน กรณีล้มเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา, คดีเจ้าของโครงการท่าเทียบเรือยอชต์ อ่าวกุ้งเบย์มารีน่า ฟ้องร้องชาวบ้านอ่าวกุ้ง จ.ภูเก็ต 5 คน, คดีบริษัท ธรรมเกษตร จำกัด ฟ้องร้องหมิ่นประมาท อังคณา นีละไพจิต เป็นต้น
“การคุกคามนักปกป้องสิทธิโดยการฟ้องร้องปิดปากยังคงรุนแรง ในช่วงปีที่ผ่านมาจำนวนคดีความต่อชาวบ้านและนักกิจกรรมยังคงสูงต่อเนื่อง โดยคดีความส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ หรือ SLAPPs (Strategic lawsuits against public participation) ถึงแม้ว่าจะมีการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันการฟ้องเพื่อปิดปากแล้วก็ตาม” เธอเปิดเผย
“สาเหตุหลักที่ทำให้การฟ้องร้องคุกคามนักปกป้องสิทธิ มาจากการที่ผู้บังคับใช้กฎหมายส่วนใหญ่ยังไม่มีความตระหนักในเรื่องการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จึงทำให้การตีความกฎหมายในหลายกรณี ไม่มีการคำนึงถึงหลักการปกป้องสิทธิมนุษยชน เน้นการเอาผิดตามตัวกฎหมาย จนสร้างภาระให้กับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ และนักปกป้องสิทธิ”
นอกจากนี้ เธอยังคาดการณ์ว่า คดีความฟ้องร้องปิดปากจะยัยิ่งเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลกำลังเร่งส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมขนานใหญ่ทั่วประเทศ ซึ่งมีการออกมาตรการจูงใจนักลงทุนด้วยการละเว้นข้อบังคับต่างๆในการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลง จนทำให้ชุมชนท้องถิ่นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ต้องเผชิญกับปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่เหล่านี้
“เนื่องจากการลงทุนเหล่านี้ได้รับการส่งเสริมจากนโยบายของรัฐบาล ทำให้การคัดค้านโครงการที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมทำได้ยากขึ้น ยิ่งเสริมให้ชุมชนถูกละเมิดสิทธิจากการดำเนินธุรกิจ” เธอกล่าว
ในขณะที่ สมบูรณ์ คำแหง ที่ปรึกษาคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ กล่าวว่า กรณีของนายเอกชัย ตลอดจนปัญหาการคุกคามชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการลงทุนเหมืองแร่และอุตสาหกรรมทั่วประเทศ สะท้อนถึงมาตรฐานของกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประเทศไทย ต่อกระบวนการศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม หรือ EHIA (Environmental Health Impact Assessment) ที่ยังบกพร่อง ไม่ชอบธรรม
“มีหลายกรณีที่สังคมตั้งคำถามว่า การแสดงความคิดเห็นในโครงการหลายโครงการมีความขัดแย้งตลอด  มันสะท้อนมาตรฐานของการจัดการรับฟังความคิดเห็นของประเทศไทยว่าต่ำมาก เลยเอื้อโอกาสให้กับกลุ่มทุนที่เขาหวังผลในโครงการที่มีผลประโยชน์สูง แต่รูปธรรมในการใช้ความรุนแรงของเหมืองหินมีมากกว่าโครงการอื่นๆ เพระถ้าได้รับสัมปทานคือได้รับผลประโยชน์เต็มๆ ลงทุนไม่กี่บาท ถ้ารัฐมองไม่เห็นว่าจะไปจัดการปัญหานี้อย่างไร กรณีแบบนี้จะเกิดขึ้นมาอีก” สมบูรณ์ กล่าว
ภายหลังการแถลงข่าว คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนได้ออกแถลงการณ์เรียกร้อง ให้รัฐบาลคุ้มครองนายเอกชัยและต้องเร่งแก้ไขปัญหาการข่มขู่คุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกรณีเหมืองแร่ทั่วประเทศ โดยระบุว่า  กรณีการข่มขู่คุกคามในลักษณะเช่นนี้ได้เกิดขึ้นกับหลายกรณีทั่วทุกภูมิภาค อันเป็นปัญหามาจากระบวนการและข้อกฎหมายที่ไร้มาตรฐาน อันรวมถึงผลประโยชน์มหาศาลของกลุ่มธุรกิจเหมืองแร่ที่พร้อมจะใช้ทุกวิธีเพื่อให้ตนสามารถเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่สัมปทานอย่างเต็มที่
ที่มา:GreenNews

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad