มูลนิธิ ฟิลิปส์ และ ฟิลิปส์ ประเทศไทย ร่วมส่งมอบเครื่องมือและโซลูชั่น ทางการแพทย์ เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงระบบสุขภาพในประเทศไทย ผ่านมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2565

มูลนิธิ ฟิลิปส์ และ ฟิลิปส์ ประเทศไทย ร่วมส่งมอบเครื่องมือและโซลูชั่น ทางการแพทย์ เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงระบบสุขภาพในประเทศไทย ผ่านมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี

 

มูลนิธิ ฟิลิปส์ และ ฟิลิปส์ ประเทศไทย ร่วมส่งมอบเครื่องมือและโซลูชั่น ทางการแพทย์ เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงระบบสุขภาพในประเทศไทย ผ่านมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี                  

สองปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผู้ป่วยโควิด-19 ในระบบบริการสุขภาพกว่า 4.7 ล้านคน และปัจจุบันยังมีการรายงานจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ประมาณ 350 รายต่อสัปดาห์ ซึ่งตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 การขาดแคลน เครื่องมือและบุคลากรทางการแพทย์กลายเป็นความท้าทายสำคัญในวงการเฮลท์แคร์ประเทศไทย

 มูลนิธิฟิลิปส์ และฟิลิปส์ ประเทศไทย จึงได้สนับสนุนระบบการจัดการและดูแลผู้ป่วยแบบอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องติดตามและวัดสัญญาณชีพ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยในประเทศไทย โดยคาดว่าจะช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คนได้กว่า 15,000 คน

 ฟิลิปส์ได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถีเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพสำหรับผู้ด้อยโอกาสในประเทศไทย

กรุงเทพฯ ประเทศไทย – การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ถือเป็นบททดสอบสำคัญต่อระบบสาธารณสุขของแต่ละประเทศ รวมทั้งประเทศไทย โดยเฉพาะความไม่เพียงพอของสถานบริการด้านสาธารณสุขและ การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ เป็นความท้าทายที่เด่นที่สุด รวมถึงความสับสนในการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านมาตรฐานทางการแพทย์ของประเทศเนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน สำหรับจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ในปีพ.ศ. 2564 มีรายงานยอดผู้ป่วยกว่า 2,000 รายต่อวัน และยอดผู้เสียชีวิตมากกว่า 200 รายต่อวัน แม้ว่าปัจจุบันสถานการณ์ได้คลี่คลายมากขึ้น แต่ก็ยังมีผู้ป่วยกว่า 350 รายต่อสัปดาห์ ซึ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงเช่นนั้น เครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ล้ำสมัยเป็นสิ่งจำเป็นต่อการสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลอย่างยิ่ง

ฟิลิปส์ เรามีปณิธาณที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนผ่านนวัตกรรมอันทรงคุณค่า ในขณะที่ มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถีก็มีพันธกิจและเป้าหมายในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในประเทศไทยให้สามารถ

เข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ ซึ่งความท้าทายที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้มูลนิธิ ฟิลิปส์ และฟิลิปส์ ประเทศไทย ตอบสนองเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน ด้วยการร่วมทำงานกับมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถีในการช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาสในประเทศไทยให้เข้าถึงบริการสุขภาพได้มากขึ้น

                                  

นายแพทย์อุดม เชาวรินทร์ กรรมการผู้จัดการมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า “ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 โรงพยาบาลราชวิถีเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลหลักของประเทศไทยที่ให้บริการรักษาพยาบาล แก่ผู้ป่วยโควิด-19 โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งในช่วงเวลานั้นโรงพยาบาลราชวิถีต้องเผชิญกับความท้าทายจากการขาดแคลนบุคลากรและจำนวนเตียงที่ไม่เพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วยจำนวนมากพร้อมกัน เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและคาดการณ์ไม่ได้ ซึ่งจากสถิติของผู้ป่วยโรงพยาบาลราชวิถีทั้งหมดในปี พ.ศ. 2564 มีผู้ป่วยนอกกว่า 955,403 คน และผู้ป่วยใน 34,889 คน โดยผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็นผู้ป่วยนอกจำนวน 2,385 คน และผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็นผู้ป่วยในจำนวน 6,673 คน ซึ่งต้องบอกว่าจำนวนผู้ป่วยที่ต้องการการรักษามีมากกว่านี้มาก แต่โรงพยาบาลของเรารองรับได้เพียงเท่านี้ สำหรับในปีพ.ศ. 2565 โรงพยาบาลราชวิถีมีจำนวนผู้ป่วยนอกกว่า 1,295,552 คน และผู้ป่วยใน 44,925 คน โดยผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็นผู้ป่วยนอกมีจำนวน 27,971 คน และผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็นผู้ป่วยในจำนวน 11,955 คน ซึ่งจากสถานการณ์นี้ ทำให้เราตระหนักถึงความต้องการด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่จะเข้ามาช่วย ลดงานให้กับบุคลากรของโรงพยาบาล จึงได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิฟิลิปส์ และ ฟิลิปส์ ประเทศไทย เพื่อสนับสนุนด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูงสำหรับโรงพยาบาลราชวิถี”

ด้วยความตั้งใจที่จะตอบสนองอย่างเร่งด่วนต่อความท้าทายด้านสาธารณสุข มูลนิธิฟิลิปส์ และฟิลิปส์ประเทศไทย จึงร่วมกันส่งมอบเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สร้างประโยชน์ให้กับผู้ป่วยและโรงพยาบาลในประเทศไทย ด้วยระบบการจัดการและดูแลผู้ป่วยแบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับเป็นเครื่องมือในการช่วยวิเคราะห์และตัดสินใจทางการแพทย์ในการดูแลรักษาพยาบาลในหน่วยการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต และเครื่องติดตามคลื่นหัวใจและสัญญาณชีพที่ออกแบบมาให้สะดวกในการเคลื่อนย้ายและใช้งานง่าย ให้แก่มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถีเพื่อสนับสนุนการทำงานของโรงพยาบาลราชวิถี

นายวิโรจน์ วิทยาเวโรจน์ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เรามุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับคนไทย และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกำหนดทิศทางอนาคตของสาธารณสุขในประเทศไทย ด้วยการนำเสนอนวัตกรรมอันชาญฉลาดในการดูแลผู้ป่วยและโซลูชั่นทางการแพทย์อัจฉริยะที่เหมาะสมและพอดีกับความต้องการในช่วงเวลานั้นๆ

นอกจากนี้ เรายังเล็งเห็นถึงความสำคัญในการทำงานร่วมกับองค์กรอื่นๆ และความเร่งด่วนในการตอบสนองต่อความท้าทายในระบบสาธารณสุข ซึ่งครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งที่เรามีโอกาสได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถีเพื่อสนับสนุนการทำงานของโรงพยาบาลราชวิถี”

“ด้วยระบบการจัดการและดูแลผู้ป่วยแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ICCA ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถดูแลผู้ป่วยได้ดีขึ้น ลดงานด้านเอกสาร และสามารถจัดการกระบวนการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเมื่อทำงานร่วมกับเครื่องติดตามคลื่นหัวใจและสัญญาณชีพของฟิลิปส์ จะช่วยสนับสนุนการติดตามอาการและการรักษาผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้ป่วย และช่วยสร้างความพึงพอใจในการทำงานให้แก่บุคลาการทางการแพทย์ด้วย” นายวิโรจน์ อธิบายเพิ่มเติม

ด้านนายแพทย์พิชิต ควรรักษ์เจริญ หัวหน้ากลุ่มงานดิจิทัลการแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า “โรงพยาบาลราชวิถีมีศักยภาพสูงในการวินิจฉัยและให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของเราต้องเผชิญกับความท้าทายหลายอย่าง ซึ่งหนึ่งในความท้าทายที่สำคัญ ก็คือ ปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นโดยไม่เคยคาดคิดมาก่อน เจ้าหน้าที่ของเราจึงต้องทำงานล่วงเวลา ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของพวกเขาอย่างมาก ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ที่ได้รับเชื้อโควิด-19 หรือสัมผัสเสี่ยงสูง ยังต้องเข้ารับการกักตัวถึง 14 วัน ส่งผลให้ปัญหาการขาดแคลนกำลังคนในช่วงดังกล่าวทวีความรุนแรงมากขึ้นอีกด้วย”

จากสถานการณ์ในช่วงวิกฤตของการแพร่ระบาดของโควิด-19 โซลูชั่นด้านการจัดการข้อมูลและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ล้ำสมัยกลายเป็นสิ่งสำคัญที่กำลังถูกพูดถึงอย่างมากเพื่อช่วยสนับสนุนการเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้มากขึ้น

“หลังจากที่เราได้ใช้โซลูชันของ Philips มาระยะหนึ่งเราก็พบว่า ระบบการจัดการและดูแลผู้ป่วยแบบอิเล็กทรอนิกส์นี้ช่วยให้เราเข้าถึงข้อมูลผู้ป่วยได้อย่างครอบคลุม และช่วยการตัดสินใจในการรักษารวดเร็วยิ่งขึ้น ระบบ ICCA นี้ช่วยอำนวยความสะดวกตั้งแต่ผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาล โดยเชื่อมต่อกับระบบของโรงพยาบาลเพื่อจัดการข้อมูลของผู้ป่วยในโรงพยาบาล และให้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ป่วยได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นประวัติการใช้ยา บันทึกการรักษา รายงานทางห้องปฏิบัติการ และรูปภาพ เป็นต้น ดังนั้น เจ้าหน้าที่ของเราจึงไม่ต้องเสียเวลากับการค้นหา หรือจัดทำเอกสารรายงานเหมือนเมื่อก่อน เจ้าหน้าที่ก็จะมีเวลาดูแลผู้ป่วยมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ยังช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยและเลือกแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งหากมีการแพร่ระบาดของโรคอีก ระบบเหล่านี้ก็จะสามารถลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ได้มากขึ้น และการรักษาผู้ป่วยก็สามารถทำได้รวดเร็วขึ้นเช่นกัน” นายแพทย์พิชิต สรุป

     

      

เกี่ยวกับมูลนิธิ ฟิลิปส์
มูลนิธิ ฟิลิปส์ เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่จดทะเบียนในปีค.ศ. 2014 โดยมีพันธกิจในการช่วยเหลือสังคมหรือชุมชนด้อยโอกาสทั่วโลกให้สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพได้ โดยการบูรณาการศักยภาพของฟิลิปส์กับความเชี่ยวชาญขององค์กรเอกชนในท้องถิ่นที่มุ่งเน้นการช่วยเหลือสังคม ซึ่ง มูลนิธิ ฟิลิปส์ ช่วยสร้างสรรค์โอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขและการดูแลสุขภาพให้กับชุมชนที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด ด้วยการร่วมมือกับผู้ประกอบการในท้องถิ่นเพื่อวางรากฐานระบบนิเวศด้านสาธารณสุขให้กับชุมชน เพื่อความยั่งยืนในระยะยาว โดยมูลนิธิ ฟิลิปส์ ตั้งเป้าที่จะยกระดับการเข้าถึงบริการสาธารณสุขให้กับผู้คนให้ได้ 100 ล้านคนต่อปี ภายในปีค.ศ. 2030 สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดตามได้ที่ www.philips-foundation.com

เกี่ยวกับ รอยัล ฟิลิปส์
รอยัล ฟิลิปส์ (NYSE: PHG, AEX: PHIA) เป็นบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ มุ่งเน้นการพัฒนาด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนภายใต้แนวคิด Health Continuum การดูแลสุขภาพแบบครบวงจรโดยเริ่มตั้งแต่ที่บ้านด้วยความเป็นอยู่ที่ดี การป้องกันโรค ไปจนถึงการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่โรงพยาบาล จนกระทั่งการกลับไปดูแลรักษาสุขภาพผู้ป่วยต่อที่บ้าน ซึ่งฟิลิปส์ได้นำเทคโนโลยีล้ำสมัย พร้อมทั้งข้อมูลเชิงลึกทางคลินิคและความต้องการของผู้บริโภคมานำเสนอโซลูชั่นแบบครบวงจร สำนักงานใหญ่ของฟิลิปส์ตั้งอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ และปัจจุบันฟิลิปส์เป็นผู้นำด้านรังสีวินิจฉัย (diagnostic imaging), การรักษาด้วยรังสีภาพนำวิถี (image-guided therapy),  เครื่องตรวจติดตามสัญญาณชีพ (patient monitoring) และระบบการจัดการข้อมูลสารสนเทศด้านสุขภาพ (health informatics) รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กเพื่อการดูแลสุขภาพส่วนบุคคล และนวัตกรรมดูแลรักษาผู้ป่วยที่บ้าน ในปีค.ศ. 2021 ฟิลิปส์มียอดขายกว่า 17,200 ล้านยูโร และมีพนักงานกว่า 79,000 คน ในการดำเนินธุรกิจในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก สามารถติดตามข่าวสารเกี่ยวกับฟิลิปส์ได้ที่ www.philips.com/newscenter

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad