ห่วง! องค์การอนามัยโลกเตือน หูไม่ได้ยิน เสี่ยงสมองเสื่อมและพัฒนาการช้า ย้ำเป็นปัญหาใหญ่กว่าที่คิด - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ห่วง! องค์การอนามัยโลกเตือน หูไม่ได้ยิน เสี่ยงสมองเสื่อมและพัฒนาการช้า ย้ำเป็นปัญหาใหญ่กว่าที่คิด

หูไม่ได้ยิน เสี่ยงสมองเสื่อม

 ห่วง!  องค์การอนามัยโลกเตือน หูไม่ได้ยิน เสี่ยงสมองเสื่อมและพัฒนาการช้า

 ย้ำเป็นปัญหาใหญ่กว่าที่คิด หมอจุฬาฯ แนะตรวจคัดกรองผู้สูงวัย 50 ปีขึ้นไป 

และเด็กก่อนวัยเรียนทุกคน

ปัจจุบัน ประชากร 1 ใน 5 ของโลกมีปัญหาด้านการได้ยินและมีแนวโน้มที่จะเป็นสูงขึ้นถึง 1 ใน 4 และจากปัจจัยนี้เอง ทำให้ในช่วงเดือนที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก หรือ WHO (World Health Organization) ได้ออกมาแถลงการณ์เป็นครั้งแรกของโลกอย่างเป็นทางการถึงแนวทางในการตรวจคัดกรองปัญหาการได้ยินในกลุ่มเสี่ยงสำหรับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก


ปัญหาใหญ่ หูไม่ได้ยิน เสี่ยงสมองเสื่อม

อ.ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร แพทย์เฉพาะทาง หน่วยโสตประสาทวิทยา ฝ่ายโสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และนักวิจัยอาวุโส ระดับsenior fellow หนึ่งในทีมวิจัย University College London  เผยว่า ปัจจุบัน จำนวนผู้มีปัญหาการได้ยิน โดยเฉพาะในผู้มีอายุเกินกว่า 60 ปี มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากเรื่อย ๆ ซึ่งในขณะนี้ สามารถพบผู้มีปัญหาการได้ยินเป็นจำนวนกว่า65% ทั้งนี้ ปัญหาการได้ยิน นำมาซึ่งภาวะไม่พึงประสงค์หลายประการ เช่น ภาวะแยกตัวจากสังคม ภาวะซึมเศร้า ปัญหาการทรงตัวพลัดตกหกล้ม สับสน มีอารมณ์ฉุนเฉียว ทะเลาะกับครอบครัว กลายเป็นไม่พูดคุยกัน ซึ่งภาวะเหล่านี้นั้นนอกจากทำให้คุณภาพชีวิตลดลงแล้ว ยังล้วนเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมตามมาด้วยทั้งสิ้น


ปัญหาการได้ยิน นับเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงสุดของการเกิดภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทั่วไปนึกไม่ถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในผู้สูงอายุที่มีปัญหาการได้ยินจะมีความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับคนวัยเดียวกันที่ไม่มีปัญหาทางการได้ยิน  อย่างไรก็ดี นับเป็นข่าวดีที่ภาวะสมองเสื่อมที่เกิดจากปัญหาการได้ยินนี้เป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้ เพราะทีมวิจัยพบว่าความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อมนี้จะหายไปถ้าผู้สูงอายุได้รับการดูแลและรักษาด้านการได้ยินจนหายดีแล้ว ส่วนสาเหตุที่ทำให้ผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยินเกิดความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อมนั้น เกิดจาก เมื่อมีเสียง คำพูด การสนทนาเข้าไปกระตุ้นสมองน้อยลง สมองก็จะเสื่อมถอยและประมวลผลได้น้อยลง ช้าลงเรื่อย ๆ เมื่อนานวันเข้า จากงานวิจัยและภาพแสกนสมองพบว่าเนื้อสมองฝ่อลงไปได้เลยทีเดียว โดยเฉพาะเนื้อสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแปลผลภาษา ซึ่งเมื่อถึงภาวะนี้แล้วนั้น การกระตุ้นให้สมองกลับมาทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพดังเดิมอาจต้องใช้เวลามาก

องค์การอนามัยโลกย้ำ เด็กก่อนวัยเรียน ต้องตรวจทุกคน

นอกจากในวัยผู้สูงอายุแล้ว องค์การอนามัยโลกก็ให้ความสำคัญกับกลุ่มเด็กก่อนวัยเรียนไม่แพ้กัน ชี้ชัดเป็นครั้งแรกว่า เด็กก่อนเข้าโรงเรียนควรตรวจคัดกรองระดับการได้ยินทุกคน ทั้งนี้ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้มีการเรียนรู้และพัฒนาการทางด้านภาษาและสติปัญญาอย่างเต็มความสามารถ นอกจากนั้น ยังแนะว่าโรงเรียนและแพทย์ควรให้ความรู้กับเด็ก ๆ และครอบครัวในการดูแลสุขภาพหูโดยร่วมมือกับทางโรงเรียนในพื้นที่อีกด้วย

อ.ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร ได้กล่าวเสริมว่า กว่า 60% ของปัญหาการได้ยินโดยเฉพาะในเด็กเกิดจากสาเหตุที่ป้องกันได้ เช่น การรักษาภาวะติดเชื้อในหู การรับเสียงดังเกินควร การได้รับยาบางชนิดที่เป็นพิษต่อหู ปัญหาการติดเชื้อ หูน้ำหนวก ปัญหาขี้หูอุดตัน ปัญหาสิ่งแปลกปลอมในช่องหู และความผิดปกติผิดรูปอื่น ๆ ของช่องหู เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้ โดยเฉพาะการติดเชื้อเรื้อรังในช่องหูนั้นเป็นปัจจัยที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องตรวจหาปัญหาและตรวจคัดกรองเพื่อป้องกันปัญหาด้านการได้ยินที่อาจเกิดอย่างถาวรได้จากการติดเชื้อ ซึ่งจะเป็นเรื่องน่าเสียดายเป็นอย่างมาก เพราะปัญหาเหล่านี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที 

หมอจุฬาฯ แนะ ตรวจคัดกรองทุกคน

อ.ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดภาวะที่ไม่พึงประสงค์และผลข้างเคียงของปัญหาการได้ยินทั้งในผู้สูงวัยและในเด็กก่อนวัยเรียนองค์การอนามัยโลกแนะนำว่าผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และเด็กก่อนวัยเรียนควรได้รับการตรวจคัดกรองการได้ยินทุกคน เพื่อทำการวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและ รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่แรกเริ่ม ก่อนที่ปัญหาจะลุกลานใหญ่โต และเกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ ตามมาได้ และถ้าไม่มีการตรวจคัดกรองการได้ยิน หลายท่านอาจไม่ทันได้สังเกตุตนเองเนื่องจากความเสื่อมมักจะค่อย ๆ เกิดขึ้นทีละน้อย ซึ่งจากสถิติพบว่าในผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่มีปัญหาการได้ยิน กว่าที่จะตัดสินใจเข้ารับการรักษานั้น หลาย ๆ ท่านทนทุกข์ทรมานกับปัญหาการได้ยินมากว่าสิบปี ซึ่งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ตามมาอย่างมากมาย ถ้าท่านหรือคนที่ท่านรักเริ่มรู้สึกว่ามีปัญหาการได้ยิน หรือแม้ไม่แน่ใจก็อย่านิ่งนอนใจ ควรทำการปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านหูคอจมูกที่เชี่ยวชาญจะดีที่สุด จากงานวิจัยของหมอที่ทำร่วมกับทีมวิจัยในอังกฤษพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลรักษาปัญหาการได้ยินตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยพัฒนาทั้งในแง่คุณภาพชีวิต สุขภาพกาย สุขภาพจิต ของผู้สูงอายุได้เป็นอย่างมาก”

สำหรับผู้ที่สนใจติดตามข่าวสารความรู้เกี่ยวกับการได้ยิน สามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook ของทางศูนย์การได้ยิน การสื่อสารและการทรงตัว โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย หรือ https://www.facebook.com/ChulaHearingBalance

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad