“มะเร็งปอด” ไม่สูบบุหรี่ก็เสี่ยงได้! ภัยร้ายเงียบที่ไม่ควรมองข้าม - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2565

“มะเร็งปอด” ไม่สูบบุหรี่ก็เสี่ยงได้! ภัยร้ายเงียบที่ไม่ควรมองข้าม

“มะเร็งปอด” ไม่สูบบุหรี่ก็เสี่ยงได้! ภัยร้ายเงียบที่ไม่ควรมองข้าม 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า มะเร็งปอด เป็นอีกหนึ่งภัยร้ายสุขภาพและปัญหาสำคัญทางด้านสาธารณสุขของทุกประเทศทั่วโลก และจัดเป็นโรคอันดับต้น ๆ ของการเสียชีวิตของคนไทยมาตลอดอย่างยาวนาน การดูแลสุขภาพรวมถึงการตรวจสมรรถภาพปอดสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงหรือผู้ที่มีอาการทางปอดจึงสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้รู้ถึงความเสี่ยงและสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที 

นายแพทย์ผดุงเกียรติ ตั้งพิรุฬห์ธรรม ศัลแพทย์ทรวงอกด้านผ่าตัดส่องกล้องปอด โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ กล่าวว่า ความเสี่ยงหลักของการเกิดมะเร็งปอดคือ บุหรี่ ยิ่งสูบมากยิ่งมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปอดและอีกหลาย ๆ โรคมากขึ้นด้วย เช่น หัวใจ หลอดเลือด สมอง เป็นต้น และยังเจอได้ว่าคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่เลยก็สามารถพบมะเร็งปอดได้ โดยมะเร็งจะแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1-2 ก้อนมะเร็งจะมีขนาดเล็ก อาจจะมีการกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองขั้วปอด โอกาสที่คนไข้จะมีอาการจากก้อนมะเร็งนี้ยังมีน้อย ถ้าสามารถเจอได้ในระยะที่ 1 โอกาสหายขาดสูงถึง 80% ขึ้นไป ถ้าเจอในระยะที่ 2 ก็จะค่อย ๆ ลดลงมา 60% ระยะที่ 3 เหลือ 30% แต่ถ้าเจอในระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะอันตรายของมะเร็งปอดแล้ว เนื่องจากในช่วงระยะแรกจะไม่มีอาการบ่งบอก ส่วนใหญ่คนไข้กว่าครึ่งจะเจอในระยะที่ 4 ทำให้โอกาสหายขาดน้อยมาก โดยโอกาสในการหายจากมะเร็งจะขึ้นอยู่ว่าเจอมะเร็งในระยะที่เท่าไหร่ ถ้าเจอเร็วจะสามารถรักษาได้เร็วขึ้น ถ้าเจอในระยะที่ 1 จะรักษาด้วยวิธีผ่าตัดเพียงอย่างเดียว แต่ถ้าเกิดเจอในระยะที่ 2-3 อาจต้องเพิ่มการรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือฉายแสง  

คนที่มีความเสี่ยงควรได้รับการตรวจเช็คสภาพปอดเป็นประจำทุกปี เพื่อการเตรียมความพร้อมในการรักษารวมถึงการที่แพทย์จะสามารถช่วยวินิจฉัยโรค ประเมินสภาพได้ทัน โดยคนที่มีความเสี่ยงที่ควรได้รับการตรวจคือ ผู้ที่ อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีมลภาวะเป็นพิษสูง เช่น ใกล้โรงงานที่ปล่อยควันพิษ ควันรถยนต์ ควันบุหรี่ ผู้ที่ทำงานในที่มีมลภาวะเป็นพิษสูง เช่น ทำงานในโรงงานมีฝุ่น ทำเหมือง โม่หิน มีไอสารเคมี ผู้ที่สูบบุหรี่ ผู้ที่มีโรคปอดเรื้อรัง เช่น หอบหืด ถุงลมโป่งพอง ฯลฯ มีอาการไอเรื้อรัง เหนื่อยง่าย รวมถึงผู้ที่เพิ่งหายจาก COVID -19 ด้วย การตรวจแบบมาตรฐานที่ใช้ในโรงพยาบาลทั่วไปคือ Spirometry เป็นการตรวจปริมาตรที่หายใจเข้าออกและความเร็วที่หายใจออกแต่ละครั้ง ผลที่ได้จะเป็นกราฟบันทึกความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณอากาศกับเวลาหรือเป็นอัตราความเร็วของการไหลของอากาศกับปริมาตร การแปลผลที่ออกมาจะเป็นผลปกติ (Normal) ผลมีการอุดตันของหลอดลมขณะหายใจออก (Obstructive Pattern) ผลมีปริมาตรอากาศหายใจเข้าออกแต่ละครั้งได้น้อยกว่าปกติ (Restrictive Pattern) และผลมีค่าต่ำกว่าปกติทั้งสองอย่างร่วมกัน (Mixed Pattern) 

รวมถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดที่ปัจจุบันสามารถทำได้ด้วยการ Low-dose CT (Low-dose Computed Tomography) หรือ การทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดแบบรังสีต่ำ การทำหนึ่งครั้งจะเทียบได้กับการเอกซเรย์ปอดประมาณสัก 10-20 ครั้ง โดยจะสร้างภาพสามมิติ ทำให้สามารถเห็นจุดในปอดที่มีขนาดเล็กประมาณ 1 - 3 มิลลิเมตรได้ ซึ่งวิธีการเอกซเรย์ปอดแบบทั่วไปจะเป็นการคัดกรองแบบไม่ละเอียดมากนัก ทำให้ไม่สามารถเห็นก้อนมะเร็งขนาดเล็กกว่า 1-2 เซนติเมตรได้ การตรวจพบในระยะที่ดีที่สุดคือเจอตอนก้อนมะเร็งต่ำกว่า 1 เซนติเมตร และไม่มีการลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองหรือส่วนอื่นๆ ทำให้มีโอกาสหายได้มากถึง 92ดังนั้นการตรวจคัดกรองจึงสำคัญมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ถ้าคัดกรองเจอในขณะที่ก้อนมะเร็งยังมีขนาดเล็ก ในระยะที่ 1 หรือ 2 จะรักษาด้วยการผ่าตัดส่องกล้องมะเร็งปอด แต่ในบางกรณีที่เจอจุดเล็กมาก การวินิจฉัยด้วยวิธีอื่นนั้นจะยาก การใช้ระบบนำทางแม่เหล็กไฟฟ้า Electromagnetic navigation bronchoscopy เป็นตัวนำทาง ลักษณะจะคล้าย Google Map เป็นตัวนำทาง ถ้ามาร์คตำแหน่งได้ จะสามารถทำการผ่าตัดส่องกล้องแบบแผลเดียวได้ และสามารถส่งตรวจวินิจฉัยได้ทันที 

การคัดกรองมะเร็งเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะถ้ารู้เร็ว รักษาเร็ว ช่วยยับยั้งก่อนลุกลามได้ รวมถึงปอดเป็นอวัยวะที่สำคัญมาก ควรที่จะได้รับการดูแลและรักษาเป็นอย่างดี และเนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลกวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ เรามาร่วมรณรงค์ ลด ละ เลิกบุหรี่ เพื่อสุขภาพปอดและหัวใจที่ดี หากมีความสนใจเรื่องการตรวจคัดกรอง มะเร็งปอดและหัวใจหลอดเลือด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ รพ.มะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ โทร. 02-755-1188 Contact Center โทร 1719  หรือ add line : @cancercare 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad