สำนักงานแข่งขันฯ จับตาดีลยักษ์ “แอร์เอเชีย” ซื้อ “นกแอร์” หวั่นเกิดการผูกขาด “บินต้นทุนต่ำ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันศุกร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2562

สำนักงานแข่งขันฯ จับตาดีลยักษ์ “แอร์เอเชีย” ซื้อ “นกแอร์” หวั่นเกิดการผูกขาด “บินต้นทุนต่ำ


img
สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สนข.) จับตาดีลยักษ์ “แอร์เอเชีย” ซื้อหุ้น “นกแอร์” ถือเป็นการรวมธุรกิจภายใต้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า เผยหากมีผลทำให้เกิดการผูกขาดหรือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด จะต้องขออนุญาตก่อน ชี้มีแนวทางพิจารณา 2 แนวทาง ต้องขออนุญาตก่อนการรวมธุรกิจ หรือร่วมธุรกิจแล้วต้องแจ้งภายใน 7 วัน
        
นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า และโฆษกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ได้เฝ้าระวังและจับตาดูกรณีบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินไทยแอร์เอเซีย (AAV) จะเข้าซื้อหุ้นของบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินนกแอร์ (NOK) จากกลุ่มจุฬางกูรอย่างใกล้ชิด เพราะหากมีการดำเนินการซื้อหุ้นจริงอย่างที่เป็นข่าวจริง จะถือว่าเป็นการรวมธุรกิจภายใต้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจจะต้องปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาการเข้าซื้อสินทรัพย์หรือหุ้นเพื่อควบคุมนโยบายการบริหารธุรกิจ การอำนวยการ หรือการจัดการ ที่เป็นการรวมธุรกิจ พ.ศ. 2561
        
ทั้งนี้ ภายใต้ประกาศดังกล่าว มีแนวทางการพิจารณาแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ กรณีที่ 1.ต้องขออนุญาตก่อนการรวมธุรกิจ โดยจากการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น ทั้ง 2 บริษัท มีส่วนแบ่งตลาดสายการบินต้นทุนต่ำ (Low-cost) ภายในประเทศเป็น 2 ลำดับแรก อีกทั้งยังเป็นการรวมธุรกิจแบบแนวนอน (Horizontal Merger) หรือการรวมธุรกิจในตลาดสินค้าหรือบริการเดียวกัน หากปรากฏว่าโครงสร้างตลาดหลังรวมธุรกิจทำให้แอร์เอเชียมีส่วนแบ่งตลาดเกินกว่า 50% และมียอดเงินขายตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จะเข้าข่ายการรวมธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งกรณีนี้ ต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า และต้องได้รับการอนุญาตก่อนการรวมธุรกิจ จึงจะสามารถดำเนินการรวมธุรกิจต่อไปได้
        
ส่วนกรณีที่ 2 การรวมธุรกิจที่ต้องแจ้งผลการรวมธุรกิจหลังจากรวมธุรกิจแล้วภายใน 7 วัน โดยกรณีนี้จะใช้ยอดเงินขายเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา หากผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่งที่มียอดเงินขายตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ดำเนินการรวมธุรกิจ  ซึ่งการที่แอร์เอเชียเข้าซื้อหุ้นจากกลุ่มจุฬางกูร ในสัดส่วนการซื้อหุ้นมากกว่า 25% ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของนกแอร์ เพื่อควบคุมนโยบาย การบริหารธุรกิจ การอำนวยการ หรือการจัดการ แต่ไม่เป็นการผูกขาดหรือมีอำนาจเหนือตลาด จะเข้าข่าย “การรวมธุรกิจอันอาจก่อให้เกิดการลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญ” กรณีนี้  สามารถแจ้งผลการรวมธุรกิจให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าทราบ ภายใน 7 วัน หลังรวมธุรกิจเรียบร้อยแล้วได้

“คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ได้สั่งการให้สำนักงานฯ เฝ้าระวัง และจับตาดูกรณีการรวมธุรกิจของสายการบินดังกล่าวข้างต้นอย่างใกล้ชิด และหากตรวจพบพฤติกรรมที่เข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายการแข่งขันทางค้า จะดำเนินการลงโทษตามกฎหมายอย่างจริงจังและเคร่งครัดโดยทันที เพราะหากการรวมธุรกิจแล้วทำให้เกิดการผูกขาดหรือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ต้องได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าก่อน หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 0.5%  ของมูลค่าธุรกรรมในการรวมธุรกิจ และการรวมธุรกิจที่อาจส่งผลลดการแข่งขัน มีโทษปรับในอัตราไม่เกิน 2 แสนบาท และปรับรายวันในอัตราไม่เกิน 1 หมื่นบาท/วัน ตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืนตามกฎหมายอยู่”นายสันติชัยกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad