ส่งออก ธ.ค.โต 4.71% บวกครั้งแรกรอบ 8 เดือน ทำยอดรวมทั้งปีเหลือลบแค่ 6.01% - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2564

ส่งออก ธ.ค.โต 4.71% บวกครั้งแรกรอบ 8 เดือน ทำยอดรวมทั้งปีเหลือลบแค่ 6.01%

img

ส่งออก ธ.ค.โต 4.71% บวกครั้งแรกรอบ 8 เดือน ทำยอดรวมทั้งปีเหลือลบแค่ 6.01%

ส่งออก ธ.ค.63 ทำได้มูลค่า 20,082.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.71% พลิกกลับมาบวกได้เป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน ส่งผลให้ยอดรวมทั้งปี 63 เหลือติดลบ 6.01% จากเป้าลบ 7% เหตุส่งออกไทยเริ่มฟื้นตัวมาตั้งแต่ช่วงกลางปี สินค้า 3 กลุ่มหลัก ยังส่งออกได้ดีต่อเนื่อง อิเล็กทรอนิกส์ฟื้นตัว ยานยนต์ลบน้อยลง และเริ่มฟื้น ระบุปี 64 ตั้งเป้าโต 4% มีลุ้นถึง 5% หลังเศรษฐกิจโลกฟื้น เริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 สงครามการค้าผ่อนคลาย
         
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนธ.ค.2563 มีมูลค่า 20,082.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.71% กลับมาเป็นบวกได้เป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนของปี 2563 และมีอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 22 เดือน นับจากก.พ.2562 ที่เพิ่มขึ้น 5.65% การนำเข้ามีมูลค่า 19,119.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.62% เกินดุลการค้า 963.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการส่งออกทั้งปี 2563 มีมูลค่า 231,468.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6.01% ซึ่งถือว่าทำได้ดีกว่าที่คาดไว้ว่าจะติดลบประมาณ 7% การนำเข้ามีมูลค่า 206,991.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 12.39% เกินดุลการค้ารวม 24,476.5 ล้านเหรียญสหรัฐ
         
ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกทั้งปี 2563 กลับมาติดลบได้น้อยลง เป็นผลมาจากการส่งออกของไทยที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563 เพราะได้รับผลดีจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวขึ้น ทำให้มีการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อประเทศส่งออก ทั้งไทยและประเทศอื่นๆ ที่ส่งออกได้ดีขึ้น ขณะที่สินค้า 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ อาหาร สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อ ยังเป็นกลุ่มเติบโตได้ดี และยังมีการฟื้นตัวของสินค้ากลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่กลับมาขยายตัวเป็นบวก ส่วนยานยนต์และชิ้นส่วน ติดลบน้อยลง และเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น
        
ทางด้านตลาดส่งออก ทั้งปี 2563 ตลาดหลักลดลง 1.8% โดยสหรัฐฯ เพิ่ม 9.6% แต่ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป 15 ประเทศ ลด 6.7% และ 12.7% ตลาดศักยภาพสูง ลด 8.4% จากการลดของอาเซียนเดิม 5 ประเทศ 12.2% CLMV ลด 11.1% จีน เพิ่ม 2% อินเดีย ลด 25.2% ฮ่องกง ลด 3.6% เกาหลีใต้ ลด 10.3% ไต้หวัน ลด 5.6% ตลาดศักยภาพระดับรอง ลด 13.1% โดยทวีปออสเตรเลีย ลด 7.6% ตะวันออกกลาง ลด 13% แอฟริกา ลด 19.4% ลาตินอเมริกา ลด 19% สหภาพยุโรป 12 ประเทศ ลด 6.4% กลุ่ม CIS รวมรัสเซีย ลด 21.1% แคนาดา ลด 3% ตลาดอื่นๆ ลด 34.3% แต่สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 42.1%
         
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า สำหรับการส่งออกในปี 2564 กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่าจะขยายตัวเป็นบวก 4% มูลค่า 240,727 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเฉลี่ยต่อเดือนต้องส่งออกให้ได้เดือนละ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และมองว่าอาจจะขยายตัวได้ถึง 5% มูลค่ารวม 243,042 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 20,253 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะปีนี้ มีปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน แม้โควิด-19 จะระบาดอีก แต่ก็มีการล็อกดาวน์แบบจำกัด ทำให้ผลกระทบไม่รุนแรงเหมือนรอบแรก และยังได้แรงหนุนจากการกระจายวัคซีนโควิด-19 การกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศ ทำให้มีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับนโยบายการค้าสหรัฐฯ กลับมายึดกติกาองค์การการค้าโลก (WTO) ช่วยให้ความขัดแย้งจากสงครามการค้าผ่อนคลาย รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ที่จะบังคับใช้ช่วงครึ่งปีหลัง 2564 จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าของประเทศสมาชิก
         
ส่วนปัจจัยลบ ยังคงเป็นเรื่องค่าเงินบาทที่อยู่ในทิศทางแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินของคู่แข่งในภูมิภาค ทำให้การแข่งขันด้านราคายากขึ้น มีปัญหาอุปสรรคจากการขาดแคลนตู้สินค้า ทำให้มีต้นทุนโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น และอุปสรรคในการเจรจาความตกลงการค้า เช่น ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ที่ไทยยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน ทำให้ส่งออกในอนาคตเสี่ยงที่จะเสียแต้มต่อคู่แข่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad