รัฐบาลไทยจับมือยูนิเซฟ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมให้คำมั่นสร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัย หลังการละเมิดทางเพศออนไลน์ต่อเด็กในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

รัฐบาลไทยจับมือยูนิเซฟ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมให้คำมั่นสร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัย หลังการละเมิดทางเพศออนไลน์ต่อเด็กในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น

ภาพถ่ายหมู่ของผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ กับตัวแทนจากภาครัฐและบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ และตัวแทนจากคณะกรรมการที่ปรึกษาเยาวชนยูนิเซฟในงานประชุมระดับชาติเรื่องเด็กในยุคดิจิทัล ตรงกลางของภาพมีมาสคอตเท็ดดี้บลูของยูนิเซฟสวมเสื้อยูนิเซฟสีฟ้าอยู่ด้วย

รัฐบาลไทยจับมือยูนิเซฟ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมให้

คำมั่นสร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัย

หลังการละเมิดทางเพศออนไลน์ต่อเด็กในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น

กรุงเทพฯ 9 กุมภาพันธ์ 2566 – รัฐบาลไทยจับมือยูนิเซฟ องค์กรภาคพัฒนา บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และภาคประชาสังคม เพื่อให้คำมั่นว่าจะสร้างโลกดิจิทัลที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและร่วมกันต่อสู้กับภัยออนไลน์ ท่ามกลางการแสวงประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางออนไลน์ที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นในประเทศไทย 

โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงและผู้เชี่ยวชาญจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกว่า 300 คน ทั้งในด้านการคุ้มครองเด็ก สาธารณสุข การศึกษา กฎหมายและเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้เข้าร่วมประชุมระดับชาติเรื่อง เด็กในยุคดิจิทัล ภายใต้หัวข้อ “ร่วมกันสร้างสภาพแวดล้อมดิจิทัลที่ปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคนในประเทศไทย” ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 8-9  กุมภาพันธ์ 2566 โดยองค์การยูนิเซฟ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ และองค์การเอ็คแพท อินเตอร์เนชั่นแนล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสานการทำงานให้เป็นระบบและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการจัดการกับการล่วงละเมิดทางเพศและภัยออนไลน์ที่เด็ก ๆ กำลังเผชิญ 

นางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “ทุกวันนี้เด็ก ๆ ต่างใช้เวลาในโลกอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ซึ่งถือเป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่ไร้ขีดจำกัด แต่ขณะเดียวกันพวกเขาก็ต้องเผชิญกับอันตรายทุกรูปแบบที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เรากำลังเห็นแนวโน้มการแสวงประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางออนไลน์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย นี่เป็นปัญหาที่ท้าทายมาก ๆ ซึ่งต้องอาศัยความมุ่งมั่นและการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบจากทุกภาคส่วนและจากทุกคน เราต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังและทำทุกวิถีทางเพื่อหยุดยั้งภัยออนไลน์ที่จะทำลายชีวิตเด็ก ๆ ของเราให้ได้”

นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า “โลกออนไลน์เป็นโลกไร้พรมแดน จึงไม่มีภาคส่วนใดหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งหรือประเทศใดประเทศหนึ่งสามารถจัดการกับการล่วงละเมิดและการแสวงประโยชน์ทางออนไลน์ได้เพียงลำพัง เพราะฉะนั้นความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รัฐบาล ภาคเอกชน และความร่วมมือระหว่างประเทศจะเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เรามั่นใจว่าเด็กทุกคนจะปลอดภัยจากการละเมิดบนโลกออนไลน์”

ผลการศึกษาวิจัยเรื่อง หยุดยั้งอันตรายในประเทศไทย (Disrupting Harm in Thailand) ที่จัดทำขึ้นโดยยูนิเซฟ เอ็คแพท อินเตอร์เนชั่นแนล และองค์การตำรวจสากล พบว่า ในปี 2564 ร้อยละ 9 ของเด็กที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย อายุ 12-17 ปี หรือประมาณ 400,000 คน ตกเป็นผู้เสียหายจากการถูกแสวงประโยชน์และล่วงละเมิดทางเพศทางออนไลน์ โดยเกิดขึ้นในหลายรูปแบบ เช่น การส่งต่อภาพทางเพศของพวกเขาโดยไม่ได้รับอนุญาต การแบล็คเมลหรือข่มขู่เด็กให้เข้าร่วมกิจกรรมทางเพศโดยสัญญาว่าจะให้เงินหรือสิ่งของเป็นการตอบแทน

รายงาน Disrupting Harm ยังพบว่า ปัญหาดังกล่าวมักไม่มีการรายงาน เนื่องจากเด็ก ๆ มักไม่เปิดเผยประสบการณ์ดังกล่าวกับผู้ใดเพราะไม่รู้ว่าต้องแจ้งเหตุกับใครหรือสามารถขอความช่วยเหลือได้ที่ไหน โดยเด็กที่ตกเป็นเหยื่อร้อยละ 10-31 ไม่เคยเล่าเหตุการณ์ที่ต้องเผชิญให้ใครฟัง และมีเพียงร้อยละ 1-3 เท่านั้นที่แจ้งความกับตำรวจ

ดร.เวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและดิจิทัลของประเทศไทยเป็นหัวใจของนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งเน้นการเชื่อมต่อคนที่ยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีรวมถึงเด็กและเยาวชน หากเราไม่มีมาตรการป้องกันที่ดีพอ ความเป็นส่วนตัวของเด็ก ๆ จะถูกละเมิดเนื่องจากความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเก็บและขายข้อมูลส่วนตัวของเด็ก ตลอดจนพฤติกรรมการเข้าเว็บไซต์และการชมโฆษณาในระหว่างที่พวกเขาท่องโลกออนไลน์”

นางสาวอัตสึโกะ โอคุดะ ผู้อำนวยการสำนักงานสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กล่าวว่า “การล็อกดาวน์ในช่วงโควิด-19 ตลอดจนการขยายตัวของการเชื่อมต่อและบริการด้านดิจิทัลที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีจำนวนเด็กที่ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น การประชุมครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีสำหรับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการคุ้มครองเด็กบนโลกออนไลน์”

นายกีโยม แลนดรี้ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สำนักงานเลขาธิการ องค์การเอ็คแพท กล่าวว่า “ตอนนี้เรามีทั้งเทคโนโลยี ความเชี่ยวชาญ ข้อมูลพื้นฐาน ข้อมูลเชิงลึก ตลอดจนแผนปฏิบัติงานเพื่อแก้ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศเด็กและการแสวงประโยชน์จากเด็กออนไลน์ ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องนำข้อเสนอแนะต่าง ๆ ไปปฏิบัติจริง เพราะนั่นคือความรับผิดชอบของเราที่มีต่อเด็ก  400,000 คนในประเทศไทยที่กำลังตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศในโลกออนไลน์ทุกปี”

นางสาวธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “แพล็ตฟอร์มการสื่อสารและเทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง แต่เราต้องทำทุกอย่างเพื่อให้แน่ใจว่าทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชน พร้อมที่จะปกป้องเด็กเมื่อพวกเขาท่องโลกออนไลน์ รวมถึงสร้างความตระหนักในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ของเด็กด้วย”

ในงานประชุมระดับชาติครั้งนี้ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศได้เปิดตัวคู่มือแนวทางการคุ้มครองเด็กออนไลน์ฉบับปรับปรุง สำหรับเด็กและเยาวชน พ่อแม่ นักการศึกษา และผู้วางนโยบาย เพื่อช่วยกันทำให้โลกอินเทอร์เน็ตปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับเด็ก ยูนิเซฟได้ทำงานร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเสริมสร้างระบบคุ้มครองเด็กให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อช่วยให้ระบบที่มีอยู่สามารถป้องกันและรับมือภัยออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยเหลือเด็กที่มีความเสี่ยงและเด็กที่ตกเป็นเหยื่อจากการแสวงประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศบนโลกออนไลน์ได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที

องค์กรที่เข้าร่วมการประชุมระดับชาติในครั้งนี้ ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงยุติธรรม, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย, ทรู คอร์ปอเรชั่น, เอไอเอส, ดีแทค, เมตา, ไมโครซอฟท์, สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ, สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ, มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย, เอ็คแพท อินเตอร์เนชั่นแนล, WeProtect Global Alliance, สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ, และองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad