“อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 10” ชูคอนเซปต์หัตถศิลป์ล้ำค่า รักษาไว้ให้ลูกหลาน ตั้งเป้าหมาย 50 ล้านบาท - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2562

“อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 10” ชูคอนเซปต์หัตถศิลป์ล้ำค่า รักษาไว้ให้ลูกหลาน ตั้งเป้าหมาย 50 ล้านบาท

“อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 10
ชูคอนเซปต์หัตถศิลป์ล้ำค่า รักษาไว้ให้ลูกหลาน ตั้งเป้าหมาย 50 ล้านบาท

          ผ่านไปแล้วเกือบ 1 ปี หวนมาบรรจบพบเจอกับงานอัตลักษณ์แห่งสยามอีกครั้ง เป็นที่ทราบกันดีว่าช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ของทุกปี จะมีงานใหญ่ที่รวบรวมผลงานหัตถศิลป์ไทยจากผู้ผลิตชั้นครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรมจากทั่วประเทศไทยไว้มากที่สุด และงานอัตลักษณ์แห่งสยามในครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 10 และกำลังจะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่และอลังการเช่นเดิม ในครั้งนี้กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2562 ณ เพลเนอรี่ฮอลล์ 1-3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
          นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า งานอัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 9 ที่ผ่านมา นับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก ในการขยายช่องทางการตลาดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานหัตถศิลป์ไทยมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างกลมกลืน โดยในครั้งที่ผ่านมามียอดการซื้อขายภายในงานเพียง 4 วัน ถึงกว่า 40 ล้านบาท โดยกลุ่มงานหัตถศิลป์ที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานมากที่สุด คือ เครื่องประดับนพเก้าและเพชรซีกโบราณ ผลงานของครูจารุเดช เครือปัญญา ครูช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2554 ผลิตภัณฑ์เครื่องถมเงิน-ถมทอง ผลงานของครูอุทัย เจียรศิริ ครูช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2555 และผลิตภัณฑ์เครื่องทอ/ผ้ายกทอง ผลงานของครูวีรธรรม ตระกูลเงินไทย ครูศิลป์ของแผ่นดิน ประจำปี 2554
          สำหรับงานอัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 10 นี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “หัตถศิลป์ล้ำค่า รักษาไว้ให้ลูกหลาน” เพื่อส่งเสริมและสร้างการรับรู้และเพิ่มช่องทางการตลาดแก่ผู้ผลิตงานศิลปหัตถกรรมไทย การยกระดับงานหัตถกรรมไทย ให้ขึ้นไปสู่ระดับงานหัตถศิลป์ชั้นสูง เป็นชิ้นงานที่มีมูลค่าและต้องมีไว้ในครอบครอง และเผยแพร่เกียรติประวัติ ผลงาน เทคนิคเชิงช่าง รวมถึงการถ่ายทอดแนวคิดแรงบันดาลใจในการทำงานหัตถกรรม
SACICT หรือ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) เชื่อมั่นว่าการดำเนินงานจัดกิจกรรมดังกล่าวจะเป็นส่วนช่วยในการสร้างความมั่นคงและส่งเสริมงานฝีมือในชุมชนให้แข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันตลาดงานหัตถศิลป์ไทยกำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่ชื่นชอบและหลงใหลมีความต้องการและแสวงหางานหัตถศิลป์ไปใช้ในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น เช่น เป็นเครื่องประดับ เสื้อผ้า ของตกแต่งบ้าน เป็นต้น โดยคาดการณ์ว่างานอัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 10 นี้ จะมียอดซื้อขายภายในงานกว่า 50 ล้านบาท และมีผู้เข้าชมงานกว่า 50,000 ราย

ในโอกาสนี้ SACICT จึงเชิญชวนทุกท่านร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน และเป็นกำลังใจให้กับช่างผู้ผลิตงานหัตถศิลป์ไทย ผลิตชิ้นงานที่ทรงคุณค่า สวยงาม สะท้อนอัตลักษณ์ภูมิปัญญาของชาติไทย เพื่อเป็นมรดกส่งต่อรักษาไว้ให้ลูกหลานสืบไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad