รถไฟฟ้าสายสีนํ้าตาลคู่ทางด่วนมาแน่! ลุ้นให้บริการปี 2568 - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2562

รถไฟฟ้าสายสีนํ้าตาลคู่ทางด่วนมาแน่! ลุ้นให้บริการปี 2568

รถไฟฟ้าสายสีนํ้าตาลคู่ทางด่วนมาแน่! ลุ้นให้บริการปี 2568



สรุปลงทุนสายสีน้ำตาลกว่า 5 หมื่นล้านบาท
โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) จะทำหน้าที่เป็นระบบเสริมให้กับเครือข่ายระบบรถไฟฟ้าสายหลัก ซึ่งจะเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) แนวเส้นทางเริ่มต้นจากบริเวณแยกแคราย มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกตามแนวถนนงามวงศ์วาน ผ่านแยกแคราย จุดตัดทางพิเศษศรีรัช แยกพงษ์เพชร แยกบางเขน แยกเกษตร ต่อเนื่องไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ผ่านจุดตัดถนนลาดปลาเค้า แยกเสนา จุดตัดถนนสุคนธสวัสดิ์ จุดตัดทางพิเศษฉลองรัช (ทางพิเศษสายรามอินทรา-อาจณรงค์) จุดตัด  ทางหลวงหมายเลข 350 จุดตัดถนนนวมินทร์  แล้วเลี้ยวขวาลงไปทางทิศใต้ตามแนวถนนนวมินทร์ ผ่านแยกโพธิ์แก้ว แยกศรีบูรพา แยกแฮปปี้แลนด์ แยกบางกะปิ สิ้นสุดเส้นทางที่ จุดตัดถนนพ่วงศิริกับถนนรามคำแหงระยะทาง 22.1 กิโลเมตร

โครงสร้างเป็นทางยกระดับ มีสถานีรวมทั้งสิ้น  20 สถานี ประกอบด้วย สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี,  รุฬาเกษม, คลองลาดยาว, ชินเขต, แยกบางเขน, ม.เกษตร ประตู 2, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, คลองบางบัว, ลาดปลาเค้า, เสนานิคม, รร.สตรีวิทยา, ต่างระดับฉลองรัช, คลองลำเจียก, นวลจันทร์, แยกนวมินทร์, โพธิ์แก้ว, อินทรารักษ์, นวมินทร์ภิรมย์, สนามกีฬาคลองจั่น และสถานีแยกลำสาลี

โดยจะมีสถานีใต้ทางด่วน 5 สถานี สถานีรายทาง 10 สถานี  และมีสถานีที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ได้ถึง 7 เส้นทางใน 5 สถานี (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 1 ) สถานีจะมี ชานชาลาอยู่ด้านข้างทั้งหมด มี 2 รูปแบบ คือ  รูปแบบสถานีทั่วไปมีชั้นออกบัตรโดยสารอยู่ใต้ชั้นชานชาลา และรูปแบบที่เป็นสถานีอยู่ใต้ทางด่วนมีอาคารชั้นออกบัตรโดยสารเพื่อเข้าออกชั้นชานชาลาจากด้านข้าง รวมถึงมีศูนย์ซ่อมบำรุง เนื้อที่ 44 ไร่ และอาคารจอดแล้วจร พื้นที่ 7 ไร่ จอดรถได้ประมาณ 2,000 คัน ที่บริเวณบริเวณถนนเสรีไทย ใกล้สถานีลำสาลี

สร้างทางด่วนเชื่อมกรุงเทพฯฝั่งตะวันออก-ตะวันตก
ส่วนระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ส่วนเชื่อมต่อถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก และส่วนทดแทน N1 จะทำหน้าที่เชื่อมโยงโครงข่ายระบบทางด่วน ระหว่างพื้นที่ด้านตะวันตกและตะวันออกของกรุงเทพฯ ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น แนวเส้นทางแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกคือช่วงทดแทน N1 แนวเลียบขนานทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) แนวคลองบางเขนและแนวคลองบางบัว แนวเส้นทางเริ่มจากการต่อเชื่อมกับโครงข่ายทางเชื่อมระหว่างทางยกระดับอุตราภิมุข และทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (Missing link) ที่แยกรัชวิภา มุ่งหน้าไปทางทิศเหนือ ไปตามแนวถนนวิภาวดีรังสิต เลี้ยวขวาบริเวณสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกไปตามแนวถนนเลียบคลองบางเขน ข้ามถนนพหลโยธินเลี้ยวขวามุ่งหน้าไปทางทิศใต้ ไปตามแนวคลองบางบัว ผ่านวัดบางบัว เข้าสู่แนวถนนผลาสินธุ์ ไปจนถึงถนนประเสริฐมนูกิจ แล้วเลี้ยวซ้ายไปทางทิศตะวันออก ไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ และเชื่อมกับทางด่วนตอน N2 ที่บริเวณคลองบางบัว-แยกลาดปลาเค้า ระยะทางประมาณ 6.6 กิโลเมตร


ช่วงที่ 2 คือ ช่วงแนวทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และส่วนต่อขยายไปยังทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 (ถนนกาญจนาภิเษก) ระยะทางประมาณ 10.6 กิโลเมตร เริ่มต้นจากบริเวณคลองบางบัว-แยกลาดปลาเค้า ไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ผ่านแยกลาดปลาเค้า แยกเสนา แยกสุคนธสวัสดิ์ จุดตัดทางพิเศษฉลองรัช (ทางพิเศษสายรามอินทรา-อาจณรงค์) แยกนวลจันทร์ แยกนวมินทร์ สิ้นสุดที่ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9

โครงสร้างจะเป็นทางยกระดับตลอดแนวเส้นทาง มีขนาด 4 ช่องจราจร (ทิศทางละ 2 ช่องจราจร) เบื้องต้นกำหนดทางขึ้น-ลงไว้ 7 แห่ง (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 2 ) มีด่านเก็บค่าผ่านทาง 1 แห่ง ที่บริเวณต่างระดับฉลองรัช ซึ่งจะเป็นด่านเก็บค่าผ่านทางของการใช้บริการทางด่วนของโครงการในทุกทิศทางและมีด่านเก็บค่าผ่านทางของกรมทางหลวงอีก 1 แห่ง ซึ่งเป็นด่านเก็บค่าผ่านทางของการใช้บริการทางหลวงพิเศษถนนกาญจนาภิเษก

ลุ้นเปิดใช้ทางด่วนและรถไฟฟ้าในปี 67-68
ทั้งนี้จากผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี ระบุว่าโครงการนี้มีความคุ้มค่าในการดำเนินการ โดยจะให้ผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 4.21% ผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ 22.30% ซึ่งคาดว่าปีแรกที่เปิดให้บริการจะมีผู้โดยสาร 218,000 เที่ยวคน/วัน และจะช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารเข้าสู่โครงข่ายรถไฟฟ้าเส้นทางอื่นๆ รวม 230,000 เที่ยวคน/วัน สำหรับมูลค่าการก่อสร้างคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 50,441 ล้านบาท (ยังไม่รวมค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประมาณ 9,000 ล้านบาท) โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ขณะที่ระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ คาดว่าจะมีมูลค่าการก่อสร้าง 22,507 ล้านบาท (ยังไม่รวมค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประมาณ 6,300 ล้านบาท)  ซึ่งจะมีผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 1.61% และมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ 38.9% โดยคาดว่าในปีแรกของการเปิดให้บริการ ปี 2567 จะมีรายได้จากการเก็บค่าผ่านทาง 1,000 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 3,700 ล้านบาทในปี 2597


อย่างไรก็ดี จากผลการศึกษารายละเอียดพบว่า ในการเดินการก่อสร้างทั้งระบบรถไฟฟ้าและทางด่วนจำเป็นต้องมีการเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างด้วย (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 3 ) ส่วนการออกแบบโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงที่จะต้องผ่านบริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะมีการเจรจาขอใช้พื้นที่จากแยกบางเขนถึงแยกเกษตร เนื่องจากมีทางเท้าแคบเพียง 1.50 เมตร จึงจำเป็นต้องขอใช้พื้นที่ด้านในแนวรั้ว ม.เกษตรฯ เพื่อวางเสาของรถไฟฟ้าและทำทางเดิน Sky Walk ด้านบน ซึ่งในเบื้องต้น ม.เกษตรฯ ยินยอมให้ใช้พื้นที่ แต่ต้องนำแบบมาสรุปความชัดเจนกันอีกครั้งหนึ่ง คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน1เดือน นอกจากนั้นที่บริเวณนี้จะต้องทำสถานีร่วมระหว่างรถไฟฟ้าสายเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลด้วย

หลังจากรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 สำหรับการศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) เสร็จเรียบร้อยแล้ว สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะเร่งสรุปผลเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) กระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี เพื่อขออนุมัติโครงการ โดยจะดำเนินการในรูปแบบร่วมลงทุนเอกชน (PPP) เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพู โดยคาดว่าระบบทางด่วนจะเปิดให้บริการได้ในปี 2567 ส่วนรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลจะเปิดให้บริการได้ในปี 2568


ทั้งนี้ เมื่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล และทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ เปิดให้บริการ จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านการส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนทางรางได้ใช้ประโยชน์จากเสาตอม่อของทางด่วนที่ก่อสร้างไว้ก่อนแล้วบนแนวกึ่งกลางถนนประเสริฐมนูกิจ (ถนนเกษตร-นวมินทร์) จำนวน 281 ต้น และยังสามารถเชื่อมโยงโครงข่ายการจราจรระหว่างพื้นที่ด้านตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพมหานคร ให้สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และประหยัดเวลาการเดินทางของประชาชน รวมถึงช่วยลดปัญหาการจราจรบริเวณถนนงามวงศ์วาน ถนนประเสริฐ-มนูกิจได้ดีมากยิ่งขึ้น
__________


คุณชัยวัฒน์ ทองคำคูณ
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)
“การศึกษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) อยู่ในขั้นตอนการสรุปผลการศึกษาแล้ว สิ่งที่ต้องการจะให้เกิดขึ้นคือการที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์มากที่สุด และได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ทั้งนี้จากผลการศึกษาพบว่ารูปแบบการพัฒนาด้วยระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลและระบบทางด่วนบนสายทางเดียวกัน มีความเหมาะสมที่จะสามารถรองรับการเดินทางได้ดีที่สุด และเนื่องจาก 2 โครงการมีโครงสร้างซ้อนในแนวเส้นทางเดียวกัน จึงจำเป็นต้องวางแผนเพื่อก่อสร้างฐานรากของทางด่วนและรถไฟฟ้าไปพร้อมกัน เพื่อให้ระหว่างก่อสร้างมีผลกระทบต่อการจราจรน้อยที่สุด ภายหลังการศึกษารายละเอียดโครงการแล้วจะนำเสนอต่อที่คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เพื่อขออนุมัติดำเนินโครงการต่อไป โดยคาดว่าระบบทางด่วนจะเปิดใช้บริการได้ในปี 2567 ส่วนรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลจะเปิดใช้บริการได้ในปี 2568”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad