เงินเฟ้อปี 61 เพิ่มขึ้น 1.07% สูงสุดรอบ 4 ปี ส่วนปี 62 ตั้งเป้า 1.2% จับตาพลังงานปัจจัยกดดันหลัก - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2562

เงินเฟ้อปี 61 เพิ่มขึ้น 1.07% สูงสุดรอบ 4 ปี ส่วนปี 62 ตั้งเป้า 1.2% จับตาพลังงานปัจจัยกดดันหลัก

เงินเฟ้อปี 61 เพิ่มขึ้น 1.07% สูงสุดรอบ 4 ปี ส่วนปี 62 ตั้งเป้า 1.2% จับตาพลังงานปัจจัยกดดันหลัก

img
“พาณิชย์”เผยเงินเฟ้อธ.ค. เพิ่ม 0.36% เป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 ติดต่อกัน แต่สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง เหตุน้ำมันลดลงแรง รวมถึงผัก ผลไม้ราคาลง ส่วนปี 61 ทั้งปี เงินเฟ้อเพิ่ม 1.07% เป็นไปตามกรอบ แต่สูงสุดในรอบ 4 ปี ตั้งเป้าปี 62 โต 1.2% ภายใต้กรอบ 0.7-1.7% ระบุราคาพลังงาน จะเป็นตัวกดดันหลัก ส่วนการลงทุน ราคาสินค้าเกษตร การส่งออกที่ดีขึ้นจะมีผลต่อกำลังซื้อ
        
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือนธ.ค.2561 เท่ากับ 101.73 ลดลง 0.65% เมื่อเทียบกับเดือนพ.ย.2561 ที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้น 0.36% เมื่อเทียบกับเดือนธ.ค.2560 ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 ติดต่อกัน แต่สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงเป็นเดือนที่ 4 ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2561 เพิ่มขึ้น 1.07% อยู่ในกรอบที่ประเมินไว้ที่ 0.8-1.6% โดยเป็นเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 4 ปี นับจากปี 2557 ที่เงินเฟ้ออยู่ที่ 1.89% ปี 2558 ติดลบ 0.9% ปี 2559 เพิ่ม 0.19% และปี 2560 เพิ่ม 0.66%
        
“ปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อในเดือนธ.ค.2561 สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง มาจากการลดลงของราคาพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และยังมีผลจากสินค้าเกษตรบางชนิดที่ราคาลดลง เช่น ผัก และผลไม้ แต่ราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่นๆ ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับเงินเฟ้อพื้นฐานที่หักหมวดอาหารและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.68%”
        
สำหรับรายละเอียดเงินเฟ้อในเดือนธ.ค.2561 หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 0.90% สินค้าสำคัญที่สูงขึ้น เช่น ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เพิ่ม 4.58% เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ เพิ่ม 1.41% ไข่และผลิตภัณฑ์นม เพิ่ม 1.35% เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 2.06% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 1.39% อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่ม 0.93% นอกบ้าน เพิ่ม 1.98% ส่วนผักสด ลด 4.96% ผลไม้ ลด 2.86% ส่วนหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่ม 0.06% เช่น เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เพิ่ม 0.26% เคหสถาน เพิ่ม 0.58% การรักษาและบริการส่วนบุคคล เพิ่ม 0.55% การบันเทิง การอ่านและการศึกษา เพิ่ม 0.29% ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 0.19% ค่าโดยสารสาธารณะ เพิ่ม 0.36% แต่น้ำมันเชื้อเพลิง ลด 2.12% และการสื่อสาร ลด 0.06%
        
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า เงินเฟ้อทั้งปี 2561 ที่สูงขึ้น 1.07% มีปัจจัยหลักมาจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น แม้จะเริ่มปรับลดลงในช่วงปลายปี แต่ก็ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าและบริการต่อเนื่องกับราคาน้ำมัน ส่วนราคาสินค้าเกษตร ที่ผลผลิตผันผวนตามฤดูกาล ส่งผลกระทบทั้งทางบวกและลบต่อเงินเฟ้อ ขณะที่ความต้องการในประเทศที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับอัตราค่าจ้างและรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม การกระตุ้นการใช้จ่ายและมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ บวกกับการลงทุนและการส่งออกที่ดีขึ้น ได้ช่วยเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ
        
ส่วนการเพิ่มขึ้นของอาหารที่บริโภคในบ้านและนอกบ้าน เป็นผลมาจากการปรับขึ้นของราคาสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับพลังงาน เช่น ก๊าซหุงต้ม ค่าขนส่ง รวมทั้งค่าเช่าสถานที่ที่ไม่ได้ปรับขึ้นมาระยะหนึ่ง และยังมีผลจากค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ประกอบกับผู้บริโภคมีกำลังซื้อ ทำให้ราคาสินค้าหมวดนี้ปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูงในปี 2561
        
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อปี 2562 สนค. คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.2% ภายใต้กรอบ 0.7-1.7% ภายใต้สมมติฐานจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ 3.5-4.5% น้ำมันดิบดูไบ 70-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 32.5-33.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยเงินเฟ้อไตรมาสแรก น่าจะอยู่ที่ 0.86% ไตรมาส 2 อยู่ที่ 0.98% ไตรมาส 3 อยู่ที่ 1.27% และไตรมาส 4 อยู่ที่ 1.81%
        
ทั้งนี้ เงินเฟ้อปี 2562 มีปัจจัยที่ต้องจับตา คือ ราคาพลังงานที่ยังคงผันผวน ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้มีการปรับขึ้นค่าโดยสารในประเทศ การลงทุนมีทิศทางดีขึ้น ส่งผลต่อรายได้ประชาชนเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าเกษตรดีขึ้น ทั้งข้าวและมันสำปะหลัง ส่วนปาล์มน้ำมันและมะพร้าว มีสัญญาณดีจากมาตรการแก้ไขปัญหา ทำให้รายได้เกษตรกรสูงขึ้น สินค้าอุตสาหกรรม มีแนวโน้มปรับขึ้นไม่มาก การส่งออกยังคงดีขึ้น เป็นปัจจัยบวกต่อกำลังซื้อ และค่าเงินบาท ที่มีผลต่อต้นทุนสินค้านำเข้า และการส่งออก  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad