ดีอี ชู “ออนไอที วัลเลย์” จ.เชียงใหม่ ต้นแบบเกษตรอัจฉริยะ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอังคารที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2562

ดีอี ชู “ออนไอที วัลเลย์” จ.เชียงใหม่ ต้นแบบเกษตรอัจฉริยะ

ดีอี ชู “ออนไอที วัลเลย์” จ.เชียงใหม่ ต้นแบบเกษตรอัจฉริยะ


กระทรวงดิจิทัลฯ ชู"ออนไอที วัลเลย์ วิถีล้านนา" จ.เชียงใหม่ ชุมชนต้นแบบเกษตรอัจฉริยะ ที่ผสมผสานไอทีเข้ากับวิถีในแบบล้านนา สร้างเป็นศูนย์บ่มเพาะเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs StartUP เกษตรกร และชุมชน เกิดการสร้างรายได้อย่างยั่งยืนเพื่อเป็นรากฐานที่ต่อยอดสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะ
          ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ตรวจราชการช่วงครม.สัญจร ระหว่างวันที่ 13 – 15 มกราคม 2562 จังหวัดเชียงใหม่ และลำปาง ในช่วงก่อนประชุม ครม.ได้มีโอกาสติดตามความคืบหน้าโครงการ "พัฒนาพื้นที่เพื่อระบบนิเวศสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลเชียงใหม่ Smart Agriculture" ณ Oon IT Valley เมืองไอที วิถีล้านนา หรือ ออนไอที วัลเลย์ ที่ตั้งอยู่ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
          โครงการ "ออนไอที วัลเลย์" ได้รับความสนับสนุน และความร่วมมือจากหลายภาคส่วน อาทิ สำนักส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และบริษัท โปรซอฟท์ โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs StartUP และเกษตรกร ให้มีความรู้ ความสามารถในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อยกระดับสินค้าและบริการให้มีขีดความสามารถของการแข่งชันภายใต้สภาวะที่มีการแข่งขันสูง สามารถพึ่งพาตนเองและสร้างรายได้อย่างยั่งยืน เป็นรากฐานที่ต่อยอดสู่ความเป็น Smart City ของจังหวัดเชียงใหม่ต่อไปในอนาคต
          "ออนไอที วัลเลย์"นับเป็นชุมชนต้นแบบที่มีการผสมผสานเรื่องของไอทีเข้ากับวิถีในแบบล้านนาได้อย่างลงตัว ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะ สร้างสรรค์นวัตกรรมและพัฒนาให้กับ SMEs StartUP เกษตรกร และชุมชน ให้มีความรู้ นำเทคโนโลยีเข้าไปส่งเสริมการทำเกษตร สร้างรายได้อย่างยั่งยืน จึงเป็นต้นแบบการเกษตรอัจฉริยะ ที่ประสบความสำเร็จด้านเกษตรนวัตกรรมที่นำมาปฎิบัติได้จริงอย่างหลากหลาย"
          ชุมชนแห่งนี้เปรียบเสมือนชุมชนไอทีแห่งการแบ่งปันเพื่อ SMEs ซึ่งได้รับความร่วมมือจากบริษัท โปรซอฟท์ ในการแบ่งปันซอฟแวร์ทางด้านบัญชีมาให้บริษัท Tech StartUp ได้ใช้งานฟรี เป็นเวลา 2 ปี จนกว่าจะสามารถตั้งตัวได้ นอกจากนี้ในพื้นที่ ยังมีส่วนที่เรียกว่า "Dutch Farm" แหล่งท่องเที่ยวที่สามารถให้คนทั่วไปได้ใกล้ชิดสัตว์นานาชนิด มีระบบ IBeacons เทคโนโลยีการบอกตำแหน่งและส่งข้อมูลโดยตรงไปยังสมาร์ทโพน เพื่อสื่อสารให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งเด็กแลผู้ใหญ่ และพื้นที่จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ สินค้าอินทรีย์แปรรูป ของเกษตรกรที่เข้ามาขายสินค้าของตนเองโดยมีคิดค่าเช่า
          กิจกรรมด้านการเกษตรที่ปฎิบัติได้จริงภายในศูนย์ฯ "ออนไอที วัลเลย์" ต้นแบบการเกษตรอัจฉริยะนั้น มีการนำนวัตกรรมการเพาะปลูกข้าวสมัยใหม่แบบแม่นยำ เพื่อลดการใช้น้ำในการเพาะปลูกข้าวด้วยหลักการการแกล้งข้าว ประกอบด้วย การจัดทำโปรแกรมพัฒนาระบบและApplication ต้นแบบ ระบบฟาร์มอัจฉริยะ (Smart Farming) สำหรับการปลูกข้าวอินทรีย์ ติดตั้งโครงข่ายอุปกรณ์ตรวจวัดปัจจัยสภาพอากาศ (Weather Station) แบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถตรวจวัดปัจจัยต่างๆในแปลงนาได้แบบ real-time และส่งข้อมูลผ่านระบบเครือข่าย โทรศัพท์ ซึ่งสามารถตรวจวัดปัจจัยสภาพอากาศได้ ประกอบด้วย อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์อากาศ ความเข้มแสงและชั่วโมงแสงแดด ปริมาณน้ำฝน ความเป็นกรดด่างของน้ำฝน ความเร็วลมและทิศทางลม เพื่อพัฒนาไปสู่การทำคลังข้อมูลเพื่อใช้ ในการพยากรณ์สถาวะต่างๆเช่นการเกิดโรคพืช เป็นต้น
          ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดระดับน้ำในนาข้าวแบบไร้สายในพื้นที่แปลงนาโดยเซ็นเซอร์เป็นแบบ Stand alone พร้อมแหล่งพลังงานงานได้เองจากพลังงานแสงอาทิตย์ รับ-ส่งข้อมูลด้วยสัญญาณวิทยุ (หรือเทียบเท่าในต้นทุนที่เท่ากัน) มายังอุปกรณ์ประมวลผลและควบคุมการเปิด-ปิดน้ำเข้าแปลงนาอัตโนมัติ ตลอดจนสามารถแสดงผลสถานการณ์ทำงานผ่านแอปพลิเคชั่นได้แบบ real-time ซึ่งอาศัยความสามารถของระบบเซ็นเซอร์เพื่อตรวจวัดระดับน้ำในนาข้าวแบบไร้สาย โดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เข้ามาสนับสนุนในรูปแบบ "Smart Farm" เป็นการพัฒนาทั้งในส่วนฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เพื่อเสริมศักยภาพให้กับอาชีพเกษตรกรรายย่อย เป็นเครื่องมือที่มีราคาถูก เกษตรกรสามารถเข้าถึงและเรียนรู้ได้ง่าย
          นอกจากนี้ยังใช้สถานที่ของ Oon IT Valley เป็นสถานที่ในการฝึกอบรมเกษตรกรในการฝึกหัดการใช้ อากาศยานไร้คนขับเพื่อการเกษตร (UAV for Agriculture) เพื่อเป็นการสร้างความรู้เบื้องต้นให้เกษตรกรที่สนใจเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันเทคโนยีดังกล่าวสามารถช่วยลดปัญหาเรื่องแรงงานที่จะต้องใช้ในการฉีดพ่นยา ลดภาวะเจ็บป่วยจากการพ่นสารเคมีที่เสี่ยงอันตราย ช่วยประหยัดเวลาในการทำงานของเกษตรกร ช่วยประหยัดเรื่องสารเคมี ปุ๋ย ยา มีการอบรมไปแล้ว 1 รุ่น 30 รายและคาดว่าจะมีการขยายผลไม่น้อยกว่า 100 รายในปี2562

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad