“พชระ โง้ว” นำธง UNiBOT รง. “แขนกล” สัญชาติไทยตีตลาดโลก - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2562

“พชระ โง้ว” นำธง UNiBOT รง. “แขนกล” สัญชาติไทยตีตลาดโลก

“พชระ โง้ว” นำธง UNiBOT รง. “แขนกล” สัญชาติไทยตีตลาดโลก

อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (robotics) ถือเป็น 1 ใน 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-curve) ที่รัฐบาลส่งเสริมผลักดันในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ล่าสุด“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์โรงงานผลิตหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรมสัญชาติไทยรายแรก ที่เพิ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เมื่อปลายปี 2561 ซึ่ง “ดร.พชระ โง้ว” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิคัล เวิร์คส์ จำกัด (UNiCAL) อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี บริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายแขนหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรมในนาม UNiBOT หุ่นยนต์ 6 แกน ได้มาบอกเล่าถึงความสามารถของผลิตภัณฑ์ที่บริษัทผลิตได้อย่างทัดเทียมกับฝีมือของบริษัทต่างชาติ แถมมีราคาถูกกว่าอย่างน่าสนใจยิ่ง
Q : ที่มาในการผลิตแขนหุ่นยนต์
เดิมบริษัททำอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ขนาดเล็กส่งให้บริษัทต่างชาติ และเริ่มมีแนวคิดในการผลิตที่อยากทำหุ่นยนต์ที่มีแขน และมอเตอร์ ซึ่งมีการใช้มานานแล้ว แต่ในประเทศไทยเป็นการผลิตเพื่อการวิจัย ยังไม่มีการผลิตเพื่อขายเชิงพาณิชย์ในปริมาณมาก โดยทางบริษัทมีความต้องการจะผลิตตัวแขนหุ่นยนต์เพื่อขายให้กับโรงงานอุตสาหกรรมด้วยราคาที่เข้าถึงได้ เพราะในตลาดที่มีขายอยู่หลายร้อยยี่ห้อ ราคาค่อนข้างสูง โดยสินค้าของ UNiBOT อาจไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดในท้องตลาด แต่ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้ลูกค้า
Q : จุดแข็งที่สู้กับผู้ผลิตต่างชาติ
หลังทำการวิจัย พัฒนา และออกแบบตั้งแต่ปี 2555 ถึงวันนี้บริษัทได้พัฒนาสินค้าขึ้นมาจนสร้างจุดแข็ง 2 ข้อหลัก ได้แก่ 1.ลูกค้าสามารถเลือกปรับแต่งฟังก์ชั่นและเงื่อนไขที่ต้องการใน UNiBOT ได้ เช่น ลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าจะใช้แผงควบคุมของบริษัท หรือแผงควบคุมแบรนด์อื่น ซึ่งหากเลือกแผงควบคุมที่บริษัทผลิตเองจะมีความยืดหยุ่นกว่าเนื่องมีการพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยมีโปรแกรมเมอร์ของบริษัทที่ทำงานในด้านดังกล่าวทำให้ สามารถนำไปใช้ทำงานได้หลากหลาย และตอบโจทย์การใช้งานเฉพาะ เช่น อยากได้การควบคุมและการเคลื่อนไหวที่ทำได้มากกว่าแขนกลทั่วไป เป็นต้น
รวมไปถึงในส่วน SI (system integrator) หรือการออกแบบและติดตั้งระบบซอฟต์แวร์ ที่ลูกค้าที่มีความรู้สามารถทำ SI ด้วยตัวเองได้เช่นกัน เพราะบริษัทเน้นไปที่การผลิตหุ่นยนต์ที่มีความเรียบง่ายเป็นพื้นฐาน และเปิดโอกาสให้ผู้พัฒนาระบบคำสั่ง และอุปกรณ์เสริม เช่น มือจับต่าง ๆ นำไปใช้พัฒนาต่อได้
2.ราคาที่จับต้องได้ โดยราคาของแขนหุ่นยนต์ในท้องตลาดทั่วไป มักจะมีราคาขายประมาณ 400,000-500,000 บาท แต่สินค้าของ UNiBOT มีราคาอยู่ที่ประมาณ 300,000-400,000 บาท รวมคอนโทรลเลอร์ หรือต่ำกว่าที่มีอยู่ในท้องตลาด 30-40% เนื่องจากกลไกสำคัญเราได้ออกแบบเกียร์ หรือเกียร์ทดรอบ ที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์เพื่อให้เกิดกำลังในการทำงาน ซึ่งเกียร์ดังกล่าวมีอัตราส่วน 30-40% ของราคาของหุ่นยนต์ ซึ่งมีต้นทุนในการผลิตไม่สูงนัก
Q : UNiBOT มีผลิตภัณฑ์อะไรบ้าง
มีชิ้นส่วนเกียร์เป็นผลิตภัณฑ์ชูโรงของบริษัท เดิมทีจะไปจ้างบริษัทอื่นผลิตเกียร์ แต่หาคนผลิตในประเทศไทยไม่ได้ สุดท้ายต้องลงทุนเรื่องเครื่องจักรและหาความรู้ในการจัดการผลิตเอง ส่งผลให้เกียร์ของบริษัทที่นำออกจำหน่ายมีราคาที่ถูกลงกว่าท้องตลาดด้วย โดยในโลกนี้มีเกียร์อยู่แล้วหลายยี่ห้อ มีรูปแบบอยู่แล้วในท้องตลาด แต่สิ่งที่บริษัททำนั้นเพื่อเป็นการสร้างขนาดมาตรฐานแรกเริ่มสำหรับการใช้งานในประเทศไทย ในราคาจับต้องได้ รวมถึงในตลาดของอะไหล่หุ่นยนต์นั้น การติดต่อเพื่อซื้อเกียร์จะมีระยะเวลาจัดส่งสินค้านานถึงเกือบ 1 ปี เพราะผู้ผลิตมีจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนลูกค้า ทำให้ต้องต่อคิวรอการผลิตที่ถูกกำหนดโดยลูกค้าเก่าที่สั่งในปริมาณมากอยู่ก่อนแล้ว
โดยเกียร์สามารถนำไปใช้ได้หลายแบบ นับตั้งแต่เครื่องกลึง CNC หรือการกลึงที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ เช่น ต้องการให้เคลื่อนไหวอย่างไร ก็สั่งการด้วยคอมพิวเตอร์ และคอมพิวเตอร์จะไปควบคุมมอเตอร์ มอเตอร์จะขับเกียร์ตัวดังกล่าวในการทดให้เกิดแรงในการขับเคลื่อนเครื่องจักร เป็นต้น
Q : การสร้างเด็กรุ่นใหม่ขึ้นมารองรับ
ทางบริษัทตั้งเป้าจะจัดทำเป็นมาตรฐานเริ่มต้นในประเทศไทย ทั้งแขนหุ่นยนต์ และเกียร์ เรามองว่าในอนาคตเมื่อการใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมแพร่หลายมากขึ้น และมีราคาถูกลงอีก จะทำให้นักศึกษาอาชีวะสามารถเข้าถึงเกียร์และเครื่องกลเหล่านี้ เพื่อนำไปสู่การต่อยอดในการผลิตหุ่นยนต์ ทั้งเพื่อการพัฒนา การวิจัย และการศึกษา เพราะเกียร์จากต่างประเทศทั้งญี่ปุ่น เยอรมนี ราคาจะสูงมากจนจับต้องไม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้มีโอกาสเข้าไปร่วมในการส่งเสริมหลักสูตรของวิชาช่างซ่อมหุ่นยนต์อุตสาหกรรม กับวิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกปัตตานี ผ่านแนวคิดที่ว่าเมื่อแขนหุ่นยนต์ถูกใช้อย่างแพร่หลาย ประเทศไทยต้องสร้างบุคลากรขึ้นมารองรับการใช้งาน โดยคำนึงว่าทำอย่างไรให้ผู้เรียนมีความเข้าใจเรื่องแขนหุ่นยนต์ทั้งระบบไฟฟ้า ระบบเมคานิก ซึ่งเราเสนอไปว่าหลักสูตรนี้ผู้เรียนควรจะถอดประกอบได้เหมือนหลักสูตรเกี่ยวกับรถยนต์
Q : โอกาสของหุ่นยนต์ไทยในตลาดโลก
อนาคตอันใกล้ทั้งหุ่นยนต์ AI และเทคโนโลยี จะเข้ามามีบทบาทในการช่วยงานของมนุษย์ และมีความจำเป็นอย่างมาก เพราะงานในหลายรูปแบบจำเป็นต้องใช้เครื่องยนต์กลไกเข้ามาช่วย เพื่อลดต้นทุนด้านแรงงาน เช่น งานในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เป็นงานซ้ำ ๆ ได้แก่ หยิบของออกจากเครื่องจักร เชื่อม พ่นสี ขัดแต่ง ประกอบงาน ตรวจงาน หรือขึ้นอยู่กับผู้ซื้อจะนำไปใช้ทำอะไร ซึ่งหากว่าเครื่องจักรทำงานแทนคนได้จะทำให้ต้นทุนถูกลง รวมถึงมีเสถียรภาพในการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น
อีกทั้งหุ่นยนต์สมัยใหม่ไม่ว่าจะเป็นเกียร์หรือระบบไฟฟ้าล้วนถูกออกแบบมาให้อายุการทำงานเท่า ๆ กับตัวเครื่องจักร หรือประมาณ 5,000 ชม.ขึ้นไป ยกเว้นเสียแต่ว่าเกิดอุบัติเหตุ เพราะมันถูกออกแบบให้เรียบง่าย ทั้งนี้ หุ่นยนต์ไม่ใช่เพียงเพื่ออวดศักยภาพของโรงงาน แต่คือการลดต้นทุน เป็นเครื่องจักรที่มีขึ้นเพื่อตอบโจทย์เฉพาะ
โดยในปี 2562 ตั้งเป้าจะผลักดันให้เกิดการใช้งานจริงสัก 100 เคส และในปี 2563 เมื่อผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในแบรนด์ UNiBOT คาดว่าจะขายตลาดได้ทั่วไป ไม่เฉพาะในประเทศไทย แต่รวมถึงการส่งออกที่พุ่งเป้าไปยังประเทศในทวีปเอเชียที่ใกล้เคียงกัน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ที่ยังไม่มีบริษัทที่ผลิตเกียร์สำหรับแขนหุ่นยนต์ได้เอง

ที่มา : prachachat.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad