อินโดรามา เวนเจอร์ส คว้ารางวัลสินเชื่อยอดเยี่ยมระดับภูมิภาค
จากสินเชื่อสีน้ำเงินครั้งแรกในประวัติศาสตร์มูลค่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐ
กรุงเทพฯ ประเทศไทย – 26 มีนาคม 2564 – บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ ไอวีแอล บริษัทเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ได้รับรางวัลBest Regional Loan หรือรางวัลสินเชื่อยอดเยี่ยมระดับภูมิภาค ในกลุ่ม Manufacturing จากสินเชื่อสีน้ำเงิน (Blue Loan) รายการแรกที่อนุมัติให้แก่ผู้ผลิตเม็ดพลาสติก มูลค่า300 ล้านเหรียญสหรัฐ รางวัลดังกล่าวมอบโดย The Assetนิตยสารการเงินชั้นนำแห่งเอเซียผ่านงาน Triple A Sustainable Capital Markets Regional Awards ประจำปี 2563 สะท้อนถึงคำมั่นสัญญาของไอวีแอลที่มุ่งเป็นองค์กรธุรกิจชั้นนำที่ร่วมสร้างอนาคตที่ยั่งยืน
สินเชื่อสีน้ำเงินซึ่งให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหามลภาวะพลาสติกทางทะเลโดยเฉพาะ ประกอบด้วยเงินกู้ไม่ด้อยสิทธิ (Senior loan) จำนวน 150 ล้านเหรียญสหรัฐจาก IFC และเงินกู้แลกเปลี่ยนกับกิจการอื่น (Parallel loan) จำนวน 150 ล้านเหรียญสหรัฐจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) และ Deutsche Investitions-und Entwicklungsgesellschaft (DEG) โดยไอวีแอลจะใช้เงินทุนดังกล่าวในการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการเพิ่มกำลังการรีไซเคิล PET ของโรงงานไอวีแอลในประเทศบราซิล อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ตามเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่จะเพิ่มกำลังการรีไซเคิล PET ของไอวีแอลทั่วโลกเป็น 750,000 เมตริกตันต่อปี ภายในปี 2566นอกจากนี้ ยังจะช่วยให้บริษัทฯ สามารถลงทุนในโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาทางสภาพภูมิอากาศ
กองบรรณาธิการ The Asset เปิดเผยว่า “สินเชื่อสีน้ำเงินนี้แสดงให้เห็นความคิดริเริ่มด้านสิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจอย่าง อินโดรามา เวนเจอร์ส ซึ่งช่วยลดขยะพลาสติกที่ต้องนำไปฝังกลบและรั่วไหลลงสู่มหาสมุทร จึงเป็นการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ดียิ่งขึ้น”
นายยาช โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความยั่งยืน อินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าวว่า " อินโดรามา เวนเจอร์ส รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับรางวัล Best Regional Loan จากสินเชื่อสีน้ำเงินครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของไอวีแอลในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานรีไซเคิลที่สำคัญในการจัดการขยะพลาสติกที่ถูกต้องและเหมาะสม และไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล ทั้งนี้ การนำขวด PET ที่ใช้งานแล้วมารีไซเคิลเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตขวดใหม่ ถือเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับของเสีย ซึ่งจะสามารถผลักดันให้มีการปรับปรุงระบบรวบรวมของเสียเพื่อลดปริมาณขยะและส่งผลให้มหาสมุทรสะอาดขึ้นอีกด้วย”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น