กรมเจรจาฯ เผย FTA ดันค้าไทย-ญี่ปุ่นปี 61 พุ่ง 11.2% เตรียมดึงกลุ่มภาษีสูงลดภาษีเพิ่ม - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

กรมเจรจาฯ เผย FTA ดันค้าไทย-ญี่ปุ่นปี 61 พุ่ง 11.2% เตรียมดึงกลุ่มภาษีสูงลดภาษีเพิ่ม

กรมเจรจาฯ เผย FTA ดันค้าไทย-ญี่ปุ่นปี 61 พุ่ง 11.2% เตรียมดึงกลุ่มภาษีสูงลดภาษีเพิ่ม

img
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเผย FTA ช่วยดันการค้าไทย-ญี่ปุ่นพุ่ง สรุปยอดปี 61 มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 11.2% หลังมีการลดภาษีเหลือ 0% เพียบ เตรียมลุยเจรจาต่อ ดึงกลุ่มสินค้าที่ยังไม่ลดภาษีให้ลดภาษีเพิ่ม พร้อมแนะผู้ประกอบการใช้สิทธิ FTA ก่อนส่งออก เพื่อสร้างแต้มต่อ
        
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ผลจากการที่ไทยได้ทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) และร่วมกับอาเซียนทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน–ญี่ปุ่น (AJCEP) ได้ส่งผลดีต่อการขยายตัวของการค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น โดยในปี 2561 มีมูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ 60,201.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.2% เป็นส่งออกจากไทยไปญี่ปุ่น 24,941.9 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้าจากญี่ปุ่น 35,259.6 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ ภายใต้ JTEPA ญี่ปุ่นได้ลดภาษีศุลกากรให้ไทยเหลือ 0% แล้ว ในสินค้า เช่น กุ้งสด กุ้งแปรรูป ผลไม้เมืองร้อน (ทุเรียน มะละกอ มะม่วง มะพร้าว) ผักและผลไม้แปรรูป ปลาปรุงแต่ง สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม รองเท้าและเครื่องหนัง และอัญมณีเครื่องประดับ เป็นต้น และไทยได้ลดภาษีให้ญี่ปุ่นเหลือ 0% ในสินค้า เช่น ผลไม้เมืองหนาว เหล็กและผลิตภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น ส่วน AJCEP ญี่ปุ่นได้ลดภาษีเหลือ 0% ให้ไทยในสินค้า เช่น ผักและผลไม้สดและแห้ง กุ้ง ปู หมึกยักษ์ กุ้งแปรรูป ผักกระป๋อง ซอสเครื่องแกง สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ และชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น และไทยลดภาษีให้ญี่ปุ่นเหลือ 0% ในสินค้า เช่น ผลไม้เมืองหนาว (เชอร์รี่ แอพริคอต พีช) อาหารทะเลกระป๋อง เส้นใยประดิษฐ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น

“การทำ FTA ทั้ง 2 ความตกลง ได้ช่วยให้การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นขยายตัวเพิ่มขึ้น จากการลดภาษีสินค้าระหว่างกัน และขณะนี้ ไทยและญี่ปุ่นอยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวนความตกลง JTEPA เพื่อเปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติมในกลุ่มสินค้าที่ยังไม่ได้เปิดตลาดระหว่างกัน ซึ่งกรมฯ จะเร่งเจรจา เพื่อสร้างโอกาสให้กับผู้ผลิตและผู้ส่งออกของไทยต่อไป”นางอรมนกล่าว

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามข้อมูลการใช้สิทธิประโยชน์ของ FTA ทั้ง 2 ฉบับในปี 2561 พบว่า ไทยมีการส่งออกไปญี่ปุ่นโดยใช้สิทธิ FTA มูลค่า 7,565.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 30.3% ของมูลค่าการส่งออกรวม ส่วนการนำเข้าจากญี่ปุ่นโดยใช้สิทธิ FTA มีมูลค่า 8,313.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 23.6% ของมูลค่าการนำเข้ารวม แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการไทยยังใช้สิทธิ FTA ไม่มากเท่าที่ควร จึงแนะให้ผู้ประกอบการไทยศึกษาเพื่อใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA  เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้มากขึ้น

นอกจากนี้ ปัจจุบันญี่ปุ่นได้เข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้นำเสนอสินค้าและบริการที่มีศักยภาพสามารถแข่งขันได้ในตลาดญี่ปุ่น และอำนวยความสะดวกในการอุปโภคบริโภคของผู้สูงอายุ เช่น อาหารเพื่อสุขภาพ สินค้านวัตกรรมต่างๆ เป็นต้น

ปัจจุบัน ญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปญี่ปุ่น เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เม็ดพลาสติก เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องโทรสาร โทรศัพท์และอุปกรณ์ เป็นต้น สินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่มีการใช้สิทธิ FTA สูงเป็นอันดับต้นๆ ภายใต้ความตกลง JTEPA เช่น เนื้อไก่และเครื่องในไก่ที่ปรุงแต่ง เนื้อสัตว์ปีกแช่แข็ง กุ้งปรุงแต่ง แหนบรถยนต์ เป็นต้น และภายใต้ความตกลง AJCEP เช่น กุ้งปรุงแต่ง แผ่นแถบทำด้วยอะลูมิเนียมเจือ ปลาแมคเคอเรลปรุงแต่ง ปลาซาร์ดีนปรุงแต่ง เป็นต้น

ขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากญี่ปุ่น เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น โดยสินค้านำเข้าที่มีการใช้สิทธิ FTA สูงเป็นอันดับต้นๆ ภายใต้ความตกลง JTEPA เช่น แผ่นเหล็กรีด เครื่องอัดลม (สำหรับเครื่องปรับอากาศ) แผ่นเหล็กชุบ เคลือบ คะตะไลต์ เป็นต้น และภายใต้ความตกลง AJCEP เช่น โพลิเมอร์ของโพรพิลีน ฟอยล์อลูมิเนียม น้ำมันดิบ โพลิอะไมด์ ยารักษาหรือป้องกันโรค เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad