“พาณิชย์”จับมือสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ดัน Startup ขอทุน SMEs Pro-active ใช้เปิดทางโกอินเตอร์ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

“พาณิชย์”จับมือสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ดัน Startup ขอทุน SMEs Pro-active ใช้เปิดทางโกอินเตอร์


img
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) จับมือสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ดัน Startup ไทย 9 กลุ่ม ให้มีโอกาสโกอินเตอร์ออกไปหาเงินในตลาดต่างประเทศ กางขั้นตอนขอรับการสนับสนุนจากโครงการ SMEs Pro-active ทำได้ไม่ยาก แค่ต้องสมัครเป็นสมาชิก NIA และผ่านการฝึกอบรมความรู้จากสถาบัน NEA ก่อนขอรับทุนสนับสนุนได้ถึง 6 ครั้งในแต่ละกิจกรรม วงเงินสูงสุด 2 แสนบาทต่อครั้ง
          
นางวรรณภรณ์ เกตุทัต รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กรมฯ ได้หารือกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ดูแล Startup ไทยโดยตรง เพื่อจัดทำแนวทางในการสนับสนุนผู้ประกอบการ Startup ทั้งด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ และการสนับสนุนด้านเงินทุนเพื่อให้มีโอกาสออกไปทำธุรกิจในตลาดต่างประเทศ เพราะปัจจุบัน Startup ไทยมีขีดความสามารถในการทำธุรกิจเพิ่มมากขึ้น และเป็นธุรกิจใหม่ที่มีโอกาสเติบโตสูง หากมีการสนับสนุนอย่างเพียงพอ ก็จะยิ่งเติบโตได้เร็วขึ้น
       
โดยปัจจุบันกรมฯ มีโครงการ  SMEs Pro-active ระยะที่ 3 (ปีงบประมาณ 2562-2564) ที่พร้อมจะให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการ Startup โดยพร้อมที่จะให้การสนับสนุนด้านเงินทุนเพื่อออกไปทำตลาดต่างประเทศ ผ่านกิจกรรมทั้งในรูปแบบงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ (overseas trade fair) และกิจกรรม Business Matching/Pitching โดยสนับสนุน 6 ครั้งสำหรับแต่ละกิจกรรม (วงเงินสนับสนุนสูงสุดครั้งละ 200,000 บาทต่อครั้ง)



“เงื่อนไขการขอรับการสนับสนุนจากโครงการ SMEs Pro-active ก็ไม่ยาก ผู้ประกอบการ Startup จะต้องสมัครเป็นสมาชิกกับ NIA ก่อน และจากนั้นสมัครเข้ารับการอบรมความรู้เกี่ยวกับ Pitching จากสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของกรมฯ และจะสมัครเป็นสมาชิกของ DITP ต่อก็ได้ เพื่อขอรับข้อมูลด้านการค้าระหว่างประเทศ และสิทธิพิเศษต่างๆ ที่กรมฯ ได้จัดขึ้น โดย Startup ที่มีความพร้อมแล้ว ก็สามารถยื่นขอรับการสนับสนุนจาก SMEs Pro-active ได้เลย”
        
ทั้งนี้ ในการแบ่งประเภทในการรับสมัครสมาชิก Startup จะแบ่งกลุ่มประเภทสาขาธุรกิจ (Business sectors) สำหรับผู้ประกอบการ Startup โดยคณะกรรมการวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ (National Startup Committee) ซึ่งแบ่งออกเป็น 9 กลุ่ม ได้แก่ 1.Agri/FoodTech (เกษตรและอาหาร) 2.Business/ServiceTech (ธุรกิจเทคโนโลยีการบริการ) 3.FinTech (การเงิน) 4.Gov/EdTech (ภาครัฐและการศึกษา) 5.Health/MedTech (การแพทย์และสาธารณสุข) 6.IndustryTech (อุตสาหกรรมการผลิตแห่งอนาคต) 7.Lifestyle/EntertainmentTech (ไลฟ์สไตล์และความบันเทิง) 8.Property/UrbanTech (อสังหาริมทรัพย์และเทคโนโลยีเมือง) 9.TravelTech (ท่องเที่ยว) ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของประเทศ (S-Curve)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad