ไทยจับมือเยอรมนี เปลี่ยนผ่านพลังงาน ขับเคลื่อนอนาคตที่ยั่งยืน - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2564

ไทยจับมือเยอรมนี เปลี่ยนผ่านพลังงาน ขับเคลื่อนอนาคตที่ยั่งยืน

 ไทยจับมือเยอรมนี เปลี่ยนผ่านพลังงาน ขับเคลื่อนอนาคตที่ยั่งยืน

กรุงเทพฯ, 12 มีนาคม 2564 – สถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เปิดงาน “พลังงานสะอาดขับเคลื่อนอนาคต” ที่สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพฯ โดยมีนายเกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม และดร. พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน ให้เกียรติเป็นประธาน 

งานนี้จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและการคมนาคมขนส่งของโลกและประเทศไทยจากปัจจุบันไปสู่อนาคตที่จะมีการนำเอาเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆ มาปรับใช้เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ต้นทุนลดลง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับพลังงานสีเขียวและการคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการแสดงแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดของประเทศไทยและเยอรมนีผ่านนิทรรศการและกิจกรรมร่วมสนุก


นายเกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย กล่าวในพิธีเปิดว่า “Less is more – น้อยแต่มาก ในที่นี้ หมายถึง ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมให้น้อยลง เพื่อปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีให้มากขึ้น และเราจะลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับระบบนิเวศและมีชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร นิทรรศการนี้มีคำตอบ โดยนิทรรศการนี้ได้ให้แนวคิดและแนวทางปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างอนาคตที่ดี มั่งคั่งและยั่งยืน เราทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงนี้ได้"

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า “กระทรวงคมนาคมตระหนักถึงความสำคัญของนวัตกรรมสมัยใหม่ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในภาคการขนส่ง ทางกระทรวงฯ สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดและการพัฒนาเทคโนโลยีการขนส่งที่ยั่งยืน สะอาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากภาคการขนส่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ซึ่งมาจากการขนส่งทางถนนเป็นหลัก ประเทศไทยจึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ



โดยมีมาตรการต่างๆ เพื่อการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะ และยังสอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศที่มีสาเหตุมากจากการจราจรติดขัดในเขตเมือง ในปัจจุบันองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. กำลังวางแผนจัดหารถเมล์ไฟฟ้า 2,511 คัน หลังจากที่แผนฟื้นฟูกิจการได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ผมเชื่อว่าในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้คนกรุงเทพฯ จะได้ใช้รถเมล์ไฟฟ้า นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบกยังได้ร่วมรณรงค์การลดมลภาวะทางอากาศโดยการลดภาษีรถยนต์ประจำปีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้การใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยแพร่หลายดังเช่นประเทศต่างๆ ในยุโรป”

“อีกหนึ่งโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการขนส่งในเมือง คือ การเปิดใช้งานสถานีกลางบางซื่อในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2564 นี้ ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงการภายใต้แนวคิดเมืองอัจฉริยะ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 โดยสถานีกลางบางซื่อเป็นตัวแทนของศูนย์กลางของระบบการขนส่งทางรางของประเทศไทย ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 600,000 คนต่อวัน มากกว่าสถานีหัวลำโพงถึง 10 เท่า และยังเป็นจุดศูนย์กลางการเชื่อมต่อระบบการขนส่งทางรางที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา เมื่อแล้วเสร็จจะมีระยะทางรวม 220 กิโลเมตร และเป็นจุดตั้งต้นของรถไฟความเร็วสูงสายแรกของไทย เส้นทาง กรุงเทพ-หนองคาย ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ระยะทางประมาณ 600 กิโลเมตร  ในอนาคตสถานีกลางบางซื่อจะกลายเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจแห่งใหม่ และเป็นจุดเชื่อมต่อหลักของระบบการขนส่งมวลชนทางรางของกรุงเทพมหานคร และในขณะนี้ กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการศึกษาโครงการรถไฟทางไกลซึ่งจะมีการเปลี่ยนจากพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลไปเป็นพลังงานไฮโดรเจน และการใช้แบตเตอรี่ไฟฟ้า โครงการทั้งหมดนี้เป็นการดำเนินการภายใต้แผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคม คือ 1. การขนส่งที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 2. การขนส่งที่มี่ประสิทธิภาพ 3. การเข้าถึงระบบขนส่งอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม 4. การใช้นวัตกรรมและการจัดการ”



ดร. พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า  “เพื่อสร้างแนวทางการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศไทย กระทรวงพลังงานอยู่ในระหว่างการจัดทำ “แผนพลังงานแห่งชาติ” โดยคำนึงถึงแนวคิดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งมุ่งเน้นการเสริมสร้างภาคพลังงานของประเทศให้มีความมั่นคงและสร้างความสามารถในการแข่งขันเพื่ออนาคตทางพลังงานที่ยั่งยืน โดยแผนพลังงานแห่งชาตินี้จะกำหนดอนาคตพลังงานของประเทศและเปลี่ยนภาคพลังงานให้สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้พลังงานหมุนเวียนและนวัตกรรมด้านพลังงานจะเป็นกุญแจสำคัญในการจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติเพื่อขับเคลื่อนทิศทางนโยบายพลังงานให้ประเทศไทยสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน รวมถึงการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำด้วยการดำเนินนโยบายที่ยั่งยืนในระยะยาว”

“นอกจากนี้ ในปีพ.ศ. 2565 ประเทศไทยจะเป็นประธานและเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิดหลัก คือ “โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว” (Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG) โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาความรู้ความสามารถ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อนำทรัพยากรด้านพลังงานของประเทศมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ ภายใต้แนวคิด BCG ดังกล่าว ภาคพลังงานถือเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่ช่วยพลิกโฉมประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและมีนวัตกรรมต่อไป”




นอกจากนี้ ภายในงาน ยังมีเวทีเสวนาหัวข้อ “A move towards a smarter future”  ซึ่งมีนายวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นักผลิตสารคดี และผู้ก่อตั้งช่อง “เถื่อน Channel” นายธนัย โพธิสัตย์ ผู้ก่อตั้ง ReCharge โครงการเพื่อสังคม และแอนโทนี่ ปิยชนม์ เด็กนักเรียนจากจังหวัดเชียงราย ผู้เสนอโครงการดักจับคาร์บอนในอากาศแปลงเป็นออกซิเจน เสนออีลอน มัสก์ มาบอกเล่าเรื่องราวและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับวิธีการที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานหรือการคมนาคมให้ดีขึ้น

นิทรรศการ “พลังงานสะอาดขับเคลื่อนอนาคต” จะเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 12 - 18 มีนาคม พ.ศ. 2564 เวลา 10.00 - 22.00 น. ที่ลานกิจกรรมชั้น 3 สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพฯ

นิทรรศการนี้ เป็นนิทรรศการสัญจรที่จัดขึ้นโดยสำนักงานต่างประเทศของรัฐบาลเยอรมนีร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ซึ่งสถานที่ต่อไปจะจัดที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น โดยจะนำเสนอการดำเนินงานด้านพลังงานและการคมนาคมสีเขียวของจังหวัด ระหว่างวันที่ 23 - 27 มีนาคม พ.ศ. 2564 นี้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad