แบนนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ดีไหม? ฟังข้อมูลก่อนช่วยก.พาณิชย์ตัดสินใจ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

แบนนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ดีไหม? ฟังข้อมูลก่อนช่วยก.พาณิชย์ตัดสินใจ

แบนนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ดีไหม? ฟังข้อมูลก่อนช่วยก.พาณิชย์ตัดสินใจ


ขยะพิษ
การปนเปื้อนมลพิษจากขยะสู่สิ่งแวดล้อม //ขอบคุณภาพจาก: มูลนิธิบูรณะนิเวศ
จากกรณีที่กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ประกาศรับฟังความเห็นประชาชนผ่านช่องทางออนไลน์ เรื่องการแบนการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ 428 รายการ จนถึงวันที่ 12 ธันวาคมนี้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ยอมรับขยะอิเล็กทรอนิกส์มีประโยชน์ สามารถนำมารีไซเคิลนำแร่หายากกลับมาใช้ใหม่ แต่นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชี้การดำเนินกิจการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ในไทยไม่ได้มาตรฐาน ก่อปัญหาต่อสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อมรุนแรง
กีรติ รัชโน ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศได้ยกร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. …. เพื่อห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 428 รายการ คลอบคลุมชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หรือเศษ (ไม่รวมเศษจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า) ที่มีส่วนประกอบ ซึ่งได้แก่ ตัวเก็บประจุไฟฟ้า และแบตเตอรี่อื่นๆ สวิทซ์ที่มีปรอทเป็นองค์ประกอบในการทำงาน เศษแก้วจากหลอดรังสีแคโทด และแอกติเวเต็ดกลาสอื่นๆ ตัวเก็บประจุไฟฟ้าที่มีสารพีซีบี หรือที่ปนเปื้อนด้วยแคดเมียม ปรอท ตะกั่ว โพลีคลอริเนทเต็ดไบฟีนิล
กีรติกล่าวเพิ่มเติมว่า การออกประกาศดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาทิ้งในประเทศไทย อีกทั้งยังช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน รวมทั้งเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีอยู่ภายในประเทศอย่างถูกต้องและเหมาะสม
นิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ให้ข้อมูลว่า ในทางทฤษฎีนั้น ขยะอิเล็กทรอนิกส์นับเป็นแหล่งทรัพยากรที่มีค่ายิ่ง เพราะเราสามารถสกัดเอาแร่มีค่าหายากเช่น ทอง เงิน หรือทองแดง จากขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ได้ และถ้าหากมีการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้อย่างถู๔กวิธี ก็จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก
“การสกัดแร่หายากจากขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นอีกทางเลือกในการนำแร่หายากเหล่านี้มาเป็นวัตถุดิบสำหรับพัฒนาอุตสาหกรรมขั้นสูง โดยที่ไม่ต้องทำเหมืองแร่เพื่อสกัดแร่ธาตุเหล่านี้จากธรรมชาติ เป็นช่องทางที่ช่วยให้ไทยสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมขั้นสูงได้อย่างยั่งยืน” นิรันดร์ กล่าว
“ในขณะนี้ไทยเรามีเทคโนโลยีที่สามารถสกัดแร่ธาตุหายากจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ผู้ประกอบการที่ต้องการเรียนรู้เทคโนโลยีดังกล่าว สามารถมาติดต่อขอความรู้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้ทันที”
จากแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมขั้นสูงที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาล เขากล่าวว่า การรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์เพื่อสกัดแร่มีค่าหายากนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง นับเป็นทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ พร้อมที่จะส่งเสริมกิจการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ไทยให้มีความยั่งยืน
สำหรับประเด็นการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้น เขากล่าวว่า ทางกรมฯไม่มีข้อมูลตัวเลขปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์นำเข้าเพื่อนำมารีไซเคิลในไทย แต่อย่างไรก็ดี การนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศมาจัดการอย่างถูกวิธี ถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนมากกว่า
ขยะอิเล็กทรอนิกส์
การปนเปื้อนมลพิษจากขยะสู่สิ่งแวดล้อม //ขอบคุณภาพจาก: มูลนิธิบูรณะนิเวศ
ด้าน ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า แม้หลายฝ่ายจะอ้างว่า เหตุผลของการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาในไทยนั้น เพื่อนำมารีไซเคิล แต่ในความเป็นจริงแล้ว ขยะอิเล็กทรอนิกส์นำเข้าส่วนมากได้รับการจัดการอย่างไม่เหมาะสมในโรงงานกำจัดที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น รีไซเคิลอย่างไม่ถูกวิธี หรือนำไปทิ้งในบ่อขยะผิดกฎหมาย ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง
ดร.สมนึก อธิบายว่า การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างไม่เหมาะสมส่งผลให้เกิดมลพิษร้ายแรงถึง รูปแบบ ได้แก่
  1. มลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็กมาก หรือ PM2.5 ที่เกิดจากการเผากากขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งฝุ่นเหล่านี้ยังปนเปื้อนด้วยสารโลหะหนักต่างๆอีกด้วย ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพประชาชนในวงกว้าง
  2. ไอระเหยจากการใช้กรดกัดในการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ ไอระเหยเหล่านี้แม้จะไม่ส่งผลกระทบในวงกว้างเท่าฝุ่น PM2.5 แต่ว่าก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพของคนงาน และประชาชนโดยรอบโรงงานอย่างรุนแรงเช่นกัน
  3. น้ำทิ้งจากโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในทางวิชาการแล้วถือว่าเป็นกากอุตสาหกรรมอันตราย เพราะมีการปนเปื้อนกรดและสารโลหะหนักสูงมาก หากแต่ในหลายพื้นที่ว่าพบว่าโรงงานปล่อยน้ำเสียเหล่านี้ออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติโดยไม่มีการบำบัด ทำให้เกิดการปนเปื้อนสารพิษในสิ่งแวดล้อมภายนอกอย่างรุนแรง
นอกจากนี้ เขากล่าวเพิ่มว่า การอนุมัติอนุญาตกิจการโรงงานรีไซเคิลขยะอันตรายเหล่านี้ยังทำได้ง่ายดายจากข้อผ่อนผันในกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทำให้กิจการที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ผุดขึ้นไปทั่ว สร้างผลกระทบในวงกว้าง
ดังนั้น เขาจึงสรุปว่า การยกเลิกการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จึงเป็นทางออกที่ดี ในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากมลพิษที่เกิดจากการจัดการาขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างไม่เหมาะสม
อนึ่ง ผู้ที่สนใจสามารถร่วมแสดงความเห็นต่อการยกเลิกการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ ที่นี่

ที่มา:GreenNews

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad