“พาณิชย์”รับฟังความเห็นฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู การเข้าร่วม CPTPP ก่อนชง กนศ.เคาะธ.ค.นี้ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

“พาณิชย์”รับฟังความเห็นฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู การเข้าร่วม CPTPP ก่อนชง กนศ.เคาะธ.ค.นี้

“พาณิชย์”รับฟังความเห็นฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู การเข้าร่วม CPTPP ก่อนชง กนศ.เคาะธ.ค.นี้

img
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู และการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP พร้อมนำเสนอประเด็นที่คาดว่าจะอยู่ในการเจรจาให้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เผยส่วนใหญ่เห็นควรทำให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ไม่กระทบประชาชน รัฐมีอิสระในการกำหนดนโยบาย เตรียมสรุปผลทั้งการรับฟังความเห็น ผลการศึกษา เสนอ กนศ. พิจารณาภายใน ธ.ค.นี้
        
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้จัดประชุมรับฟังความเห็นเรื่องการจัดทำกรอบเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) และกรอบเจรจาเพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ของไทย มีผู้แทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มเกษตรกร และภาคประชาสังคม เข้าร่วมกว่า 200 คน ซึ่งกรมฯ ได้นำเสนอหัวข้อการเจรจาที่คาดว่าจะปรากฏในการทำเอฟทีเอกับอียู และที่ปรากฏอยู่แล้วในความตกลง CPTPP ให้กับผู้เข้าร่วมได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์
        
โดยประเด็นที่ได้นำเสนอ เช่น การค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า มาตรการเยียวยาทางการค้า มาตรการปกป้อง มาตรการสุขอนามัย อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า การระงับข้อพิพาท ทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขัน พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ รัฐวิสาหกิจ ความโปร่งใส การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน และความร่วมมือ
        
“ผู้เข้าร่วมประชุม เห็นว่ากรอบเจรจาที่จะจัดทำควรสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายการพัฒนาประเทศของไทย ควรให้ความสำคัญกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนไม่ส่งผลกระทบหลักประกันสุขภาพของประชาชน รวมทั้งควรให้รัฐยังคงมีอิสระในการกำหนดนโยบายเพื่อประโยชน์สาธารณะ เป็นต้น”นางอรมนกล่าว
        
นางอรมนกล่าวว่า หลังจากนี้ กรมฯ จะนำความเห็นที่ได้ไปประมวลรวมกับผลการศึกษาเรื่องประโยชน์และผลกระทบของการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู และผลการวิจัยเรื่องการเข้าร่วมความตกลง CPTPP ของไทย ตลอดจนผลการรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อจัดทำข้อมูลและยกร่างกรอบเจรจา เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตัดสินใจการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู และการเข้าร่วมความตกลง CPTPP ของไทยต่อไป โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ พร้อมเสนอต่อ กนศ. ภายในเดือนธ.ค.2562 นี้
        
สำหรับอียู เป็นตลาดที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก มี GDP กว่า 18.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ประชากรรวมกันกว่า 513 ล้านคน มีความก้าวหน้าทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกื้อหนุนเชิงยุทธศาสตร์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในหลากหลายด้าน ทั้งยังเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 4 ของไทย โดยในปี 2561 ไทยและอียูมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 47,341.5 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 9.4% ของการค้ารวมของไทย โดยไทยส่งออก 25,068.5 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และไทยนำเข้า 22,273.1 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบิน เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม ส่วนในช่วง 10 เดือนของปี 2562 (ม.ค.–ต.ค.) ไทยและอียูมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 37,379.8 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออก 19,918.4 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้า 17,461.4 ล้านเหรียญสหรัฐ
        
ส่วน CPTPP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมกว้าง ทั้งเรื่องการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายนักธุรกิจชั่วคราว พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขัน รัฐวิสาหกิจ การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ แรงงาน และสิ่งแวดล้อม มีสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ประชากรรวมอยู่ที่ประมาณ 500 ล้านคน หรือ 6.7% ของประชากรโลก โดยในปี 2561 ไทยมีมูลค่าการค้ากับสมาชิก CPTPP 11 ประเทศ เป็นมูลค่ารวม 148,429 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 30% ของการค้าไทยกับโลก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad