ระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ ปัญหาท้าทายของทั้งโลก - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ ปัญหาท้าทายของทั้งโลก


ระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ ปัญหาท้าทายของทั้งโลก



ระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ ปัญหาท้าทายของทั้งโลก
"คริสตีน ลาการ์ด" ประธานธนาคารกลางแห่งยุโรป (อีซีบี)
“คริสตีน ลาการ์ด” กล่าวสุนทรพจน์ครั้งแรกในฐานะประธานธนาคารกลางแห่งยุโรป (อีซีบี) ต่อที่ประชุมการธนาคารยุโรป (ยูโรเปียน แบงกิ้ง คอนเฟอเรนซ์) ในนครแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี เมื่อ 22 พ.ย. ที่ผ่านมา ถ่ายทอดพลวัตในระบบการค้าและระบบเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างชัดเจน
อดีตกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เตือนทุกคนว่า การค้าของทั้งโลกกำลังจัดระเบียบทั้งหมดใหม่ซึ่งส่งผลสะท้อนต่อเนื่องให้เกิดการจัดระบบเศรษฐกิจของโลกเสียใหม่ตามมาด้วย
เหตุปัจจัยแรกของการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากความตึงเครียดทางการค้า ซึ่งคงอยู่อย่างต่อเนื่อง เมื่อผสมผสานเข้ากับความไม่แน่นอนในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้การค้าโลกชะลอตัว ลดลงมากถึงกว่าครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ปริมาณการค้าโลกที่ลดลงมหาศาล กดดันให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกลดต่ำลงสู่ระดับต่ำสุด นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกาเมื่อ 1 ทศวรรษที่ผ่านมา
ประเทศกำลังพัฒนาที่เศรษฐกิจรุดหน้า ซึ่งถูกเรียกรวม ๆ ว่า อีเมิร์จจิ้ง คันทรีส์ทั้งหลาย เคยพึ่งพาอาศัยการค้าโลกและห่วงโซ่ซัพพลายของโลก ในการส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศตนมาตลอด แต่พอเกิดความขัดแย้งทางการค้าขึ้น สิ่งที่เคยพึ่งพาและนำมาใช้อย่างได้ผล ก็ไม่เป็นผลอีกต่อไป
ขณะที่เหตุปัจจัยอีกประการก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั่นคือพัฒนาการของเทคโนโลยี ที่ก้าวรุดหน้าไม่หยุดยั้ง ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกกันติดปากในปัจจุบันว่า การ “ดิสรัปชั่น” รูปแบบทางเศรษฐกิจที่คุ้นเคยกันมาแต่ไหนแต่ไร
“เรากำลังเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในระดับโลก เปลี่ยนจากการแสวงหาอุปสงค์ภายนอกมาเป็นการแสวงหาอุปสงค์ภายใน เปลี่ยนจากการลงทุนไปเป็นการบริโภค เปลี่ยนจากการผลิตไปเป็นการบริการ”
ผู้ที่ผลักดันให้เกิดการ “ชิฟต์” จากสิ่งหนึ่งไปอีกสิ่งหนึ่งดังกล่าวนั้น ลาการ์ดบอกว่า คือบรรดา “ตลาดเกิดใหม่” หรืออีเมิร์จจิ้ง คันทรีส์นั่นเอง
เมื่อส่งออกไม่ได้ ความต้องการจากภายนอกก็ไม่มีบทบาทในการสร้างความเติบโตต่อเนื่องให้กับประเทศเศรษฐกิจใหม่เหล่านี้อีกแล้ว เมื่อซัพพลายเชนเปลี่ยนแปลง หรือถูกโละทิ้ง การลงทุนผลิตเพื่อการส่งออกก็ไม่สำคัญอีกต่อไป เมื่อต้องหันมาพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศเป็นหลักในการผลักดันให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ การให้ความสำคัญต่อธุรกิจบริการจึงเป็นสิ่งจำเป็น
ประเทศที่มีปัญหาในขณะที่่โลกกำลังจัดระเบียบเศรษฐกิจใหม่ คือประเทศที่ไม่ได้ส่งสินค้าซึ่งเป็น “สินค้าสุดท้าย” (ไฟนัล โปรดักต์) ซึ่งผู้บริโภคต้องการ แต่เป็นประเทศที่ส่งออก “สินค้าทุน”(แคปิตอล โปรดักต์) เช่น เครื่องจักรสำหรับการผลิต กับประเทศที่ส่งออก “สินค้าช่วงกลาง” (อินเตอร์มิเดียต โปรดักต์) ที่ผลิตและส่งออกไปยังประเทศที่นำไปประกอบเป็นสินค้าสุดท้ายอีกต่อหนึ่ง
เธอบอกว่า การผลิตของสหภาพยุโรป โดยเฉพาะในเขตยูโรโซนล้วนแล้วแต่เน้นหนักไปที่สินค้าทุนและสินค้าช่วงกลางดังกล่าวนี้ทั้งสิ้น
เศรษฐกิจโลก ซึ่งแต่เดิมเคยวางอยู่บนพื้นฐานของการค้าระหว่างประเทศ และใช้การเปิดตลาดการค้าให้กว้างขวางมากขึ้น เป็นหนทางในการสร้างการเติบโตต่อเนื่องในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ไม่สามารถคงรูปแบบเดิมได้อีกต่อไป เมื่อบางประเทศรวมทั้งสหรัฐ ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก ไม่ให้ความสนใจและให้ความสำคัญต่อระบบการค้าพหุภาคีอีกต่อไป สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือความไม่แน่นอนของระบบเศรษฐกิจ ที่ส่งผลกระทบเชิงจิตวิทยาต่อการลงทุนและสั่นคลอนความเชื่อมั่นของตลาดเงินตลาดทุนไปทั่วโลก
โมเดลเศรษฐกิจของโลกก็เปลี่ยนไป โมเดลเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศก็ต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย
นี่คือสิ่งที่ ลาการ์ด เรียกว่า “ความจริงใหม่” ที่ทุกคนต้องตระหนัก
สิ่งที่ คริสตีน ลาการ์ด เรียกร้องให้สหภาพยุโรปดำเนินการ ไม่ใช่การผละหนีจากระบบการค้าพหุภาคี แต่ต้องผสมผสานนโยบายให้ดี ภาครัฐต้องลงทุนอย่างเหมาะสม ทุกประเทศต้องร่วมมือก้าวไปในทิศทางเดียวกัน
แต่ละประเทศ รวมทั้งยุโรป ต้อง “ลงทุน” และสร้างสรรค์ “นวัตกรรม” ใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายเหล่านี้ และรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวต่อไป
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad