ชู ‘เศรษฐกิจสีน้ำเงิน’ ใช้ทะเลพัฒนาชาติยั่งยืน ดันฐานทรัพยากรใต้น้ำ สร้างรายได้ล้านล้านบ. - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ชู ‘เศรษฐกิจสีน้ำเงิน’ ใช้ทะเลพัฒนาชาติยั่งยืน ดันฐานทรัพยากรใต้น้ำ สร้างรายได้ล้านล้านบ.

ชู ‘เศรษฐกิจสีน้ำเงิน’ ใช้ทะเลพัฒนาชาติยั่งยืน ดันฐานทรัพยากรใต้น้ำ สร้างรายได้ล้านล้านบ.

ภาควิชาการจัดประชุม-นำเสนอแนวคิด “เศรษฐกิจสีน้ำเงิน” พัฒนารายได้บนฐานทรัพยากรทะเล-ชายฝั่งอย่างยั่งยืน สร้างผลประโยชน์ให้ประเทศมหาศาล
รศ.ปัทมาวดี โพชนุกูล รองผู้อำนวยการด้านการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยในการประชุมวิชาการเศรษฐกิจสีน้ำเงินครั้งที่ 1 จัดโดยคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สกว. เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมา ตอนหนึ่งว่า การนำแนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงินมาสู่การปฏิบัติในระดับนโยบายอย่างจริงจังในไทย จะถือเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เนื่องจากไทยเป็นรัฐชายฝั่งที่ตั้งอยู่ในทำเลที่เชื่อมต่อกับทะเลจีนใต้และมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในภูมิภาค
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีอาณาเขตทางทะเลกว่า 3.2 แสนตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็น 60% ของอาณาเขตทางบก และมีความยาวชายฝั่งทะเลทั้งสิ้นกว่า 3,100 กิโลเมตร ครอบคลุมจำนวน 23 จังหวัด โดยอาณาเขตทางทะเลทั้งหมด มีไม่น้อยกว่า 1.7 แสนตารางกิโลเมตร ที่ถูกจัดเป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะ มีการดำเนินกิจกรรมที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากมาย อาทิ การประมง การท่องเที่ยว ปิโตรเลียม และอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ โดยปัจจุบันไทยมีมูลค่าผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลไม่ต่ำกว่า 24 ล้านล้านบาท และรายได้ที่เกิดจากแหล่งทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งหลายแสนล้านบาทต่อปี
“กล่าวได้ว่าพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งมีส่วนสำคัญในการสร้างแหล่งรายได้ เป็นแหล่งผลักดันให้เกิดการพัฒนาในหลายภาคส่วน และที่สำคัญคือการเป็นแหล่งทรัพยากรที่ทรงคุณค่าต่อประเทศไทย สกว.จึงได้มุ่งมั่นส่งเสริมการขับเคลื่อน การศึกษาวิจัยว่าด้วยแนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงินมาอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มมีโครงการวิจัยในด้านต่างๆ ตั้งแต่ปี 2553 เพื่อเป็นฐานองค์ความรู้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีน้ำเงิน รวมถึงการประชุมวิชาการครั้งนี้ ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกลไกขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น” รศ.ปัทมาวดี กล่าว
รศ.ปัทมาวดี กล่าวว่า สาระสำคัญของแนวคิดว่าด้วยเศรษฐกิจสีน้ำเงิน คือการเป็นเศรษฐกิจที่พัฒนาบนฐานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน ซึ่งการใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจทวีความสำคัญมากขึ้น ทั้งในแง่ของการนำมาใช้โดยตรงและโดยอ้อม และเป็นวาระที่องค์การระหว่างประเทศและภาคีเครือข่ายนานาชาติ อาทิ องค์การสหประชาชาติ (UN) ธนาคารโลก กลุ่มประเทศ OECD และพันธมิตรเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมทางทะเลในเอเชียตะวันออก (PEMSEA) ต่างหยิบยกหัวข้อนี้เป็นวาระสำคัญทางนโยบาย
ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ประเมินว่าในปี ค.ศ.2030 มูลค่าของเศรษฐกิจสีน้ำเงินจะเพิ่มขึ้น 2 เท่า หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีกราว 10 ล้านตำแหน่ง สอดคล้องกับธนาคารโลกที่เชื่อว่าเศรษฐกิจสีน้ำเงินจะเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ในประเทศที่เป็นชายฝั่งและเกาะขนาดเล็ก ซึ่งมักเป็นประเทศรายได้ปานกลางถึงต่ำ
นายธนิต โสรัตน์ อดีตรองประธานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตัวแทนภาคการขนส่งทางทะเล กล่าวว่า ประเทศไทยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจจากทะเลปีละ 24.38 ล้านล้านบาท โดยคิดเป็นสัดส่วนขนส่งฝั่งทะเลอ่าวไทย 70% ฝั่งทะเลอันดามัน 30% รวมเป็นมูลค่าของอุตสาหกรรมพาณิชย์นาวีปีละไม่น้อยกว่า 9.5-9.8 แสนล้านบาท ซึ่งการจะพัฒนาอุตสาหกรรมพาณิชย์นาวีให้ยั่งยืนนั้น จะต้องมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ บริหารจัดการอุตสาหกรรมพาณิชย์นาวีทั้งระบบในลักษณะบูรณาการ และมีมาตรการบริหารความเสี่ยงครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง และนิเวศทางทะเล
นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ประธานกรรมการกลุ่มบริษัท ศิริชัยการประมง จำกัด ตัวแทนภาคการประมง กล่าวว่า ข้อมูลจากกรมประมง พบว่าตัวเลขปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้จากธรรมชาติในประเทศไทย ระหว่างปี 2534-2561 มีปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยในปี 2560 ขนาดเศรษฐกิจของภาคประมงไทยใน GDP อยู่ที่ 1.1 แสนล้านบาท มีเรือประมงพาณิชย์ 10,000 ลำ เรือประมงพื้นบ้าน 80,000-100,000 ลำ และแรงงาน 400,000 คน ไม่รวมภาคอุตสาหกรรม ซึ่งรัฐจะต้องมีมาตรการดูแลผู้ได้รับผลกระทบ รับรองอนาคตของชาวประมง รวมถึงมีมาตรการพื้นฟูทรัพยากรที่ยั่งยืน
นายวนิช สนพิพัฒน์ กรรมการที่ปรึกษา อู่ซ่อมเรือสินสุคนธ์ จ.สงขลา ตัวแทนภาคอุตสาหกรรมอู่ต่อเรือ กล่าวว่า ประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกทางน้ำมากกว่า 90% โดยมีอุตสาหกรรมต่อเรือเป็นตัวเชื่อมต่อธุรกิจหรือเศรษฐกิจต่างๆ เข้าด้วยกัน แต่อู่ต่อเรือมักมีปัญหาและอุปสรรคกับชุมชนในการอยู่ร่วมกัน เนื่องจากผลกระทบด้านเสียง สิ่งแวดล้อม การปล่อยน้ำเสีย ซึ่งถ้ามองเศรษฐกิจสีน้ำเงินในอนาคต ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจต้องเข้ามาช่วยดูความต้องการของผู้ประกอบการ ว่าอยากให้ช่วยรองรับด้านใดบ้าง
นายบรรจง นฤพรเมธี บ่อหินฟาร์มสเตย์ จ.ตรัง ตัวแทนภาคการท่องเที่ยว กล่าวว่า ในภาพรวมของการท่องเที่ยวนั้นใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลอย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นในด้านแนวประการัง การเดินเรือไปตามหมู่เกาะต่างๆ รวมถึงชายฝั่งที่มีการก่อสร้างที่พัก โรงแรม และยังมีการเชื่อมโยงไปยังภาคธุรกิจอื่นๆ อีกมากมาย แต่ในขณะเดียวกันการทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวขึ้นมาจากชุมชนเล็กๆ นับเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่มีความพยายามจัดรูปแบบวีธี ให้การท่องเที่ยวสอดคล้องกับการดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไปพร้อมๆ กัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad