งาน “บางกอกเจมส์” พร้อมแล้ว เตรียมโชว์สินค้า SMEs-นักออกแบบ-เครื่องประดับชั้นสูง-โชคลาง - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

งาน “บางกอกเจมส์” พร้อมแล้ว เตรียมโชว์สินค้า SMEs-นักออกแบบ-เครื่องประดับชั้นสูง-โชคลาง

งาน “บางกอกเจมส์” พร้อมแล้ว เตรียมโชว์สินค้า SMEs-นักออกแบบ-เครื่องประดับชั้นสูง-โชคลาง 

img
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศโชว์ความพร้อมจัดงาน “บางกอกเจมส์” เผยมีผู้เข้าร่วมจัดแสดงกว่า 800 ราย 1,800 คูหา ตั้งเป้าผู้ซื้อผู้นำชมงานกว่า 2 หมื่นคน ซื้อขายเงินสะพัด 2.4 พันล้านบาท เผยได้เน้นการเปิดโอกาสให้ SMEs นักออกแบบรุ่นใหม่ สินค้าที่มีนวัตกรรม นำมาจัดแสดง หวังดันโกอินเตอร์ พร้อมจัดไฮไลต์ โชว์เครื่องประดับเฉพาะกลุ่ม เจาะลูกค้าไฮโซ คนรวย คนเชื่อโชคลาง ระบุยังได้นำช่างฝีมือไทยมาโชว์ทำเครื่องประดับให้ต่างชาติได้ชมด้วย

น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้การจัดงาน Bangkok Gems & Jewelry Fair ครั้งที่ 63 ระหว่างวันที่ 20-24 ก.พ.2562 ที่อิมแพคเมืองทองธานี มีความพร้อมอย่างสมบูรณ์แล้ว โดยในครั้งนี้ จะมีความพิเศษกว่าการจัดงานครั้งก่อนๆ ด้วยการจัดงานภายใต้แนวคิด Thailand’s Magic Hands หรือมหัศจรรย์แห่งหัตถาช่างศิลป์ไทย โดยได้นำสินค้าจากผู้ประกอบการ ทั้งรายใหญ่ ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) และผู้ประกอบการท้องถิ่น มาร่วมจัดแสดงสินค้ากว่า 800 ราย รวมกว่า 1,800 คูหา และได้ตั้งเป้ามีผู้ซื้อผู้นำเข้ามาร่วมงานไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นรายจากทั่วโลก มีเงินสะพัดภายในงานไม่ต่ำกว่า 2,400 ล้านบาท

“การจัดงานครั้งนี้ กรมฯ ได้ความสำคัญกับการนำผลงานของผู้ประกอบการ SMEs ผลงานของนักออกแบบรุ่นใหม่ และผลงานที่มีนวัตกรรมมาจัดแสดง ประมาณ 120 ราย เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ได้มีโอกาสขยายตลาดไปยังต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เพราะหากมีการส่งออกได้ ก็จะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระดับฐานราก”

น.ส.บรรจงจิตต์กล่าวว่า สำหรับไฮไลต์ในการจัดงาน จะเป็นการจัดแสดงสินค้าเฉพาะกลุ่ม ได้แก่ เครื่องประดับชั้นสูง ที่จะเจาะกลุ่มลูกค้าไฮโซ คนรวย , เครื่องประดับกลุ่มศิลปวัฒนธรรม ที่จะเจาะกลุ่มผู้รักในศิลปะและสินค้าที่มีประวัติศาสตร์ มีที่มาที่ไป , เครื่องประดับแนวความเชื่อ โชคลาง ถือเป็นกลุ่มที่กำลังเติบโตสูง จากการที่คนมีความเชื่อในเรื่องเหล่านี้ เมื่อนำมาทำเป็นเครื่องประดับ ก็ยิ่งได้รับความนิยม , เครื่องประดับสำหรับผู้ชาย เป็นสินค้าที่กำลังเติบโตสูง เพราะปัจจุบันผู้ชายนิยมใส่เครื่องประดับกันมากขึ้น และสินค้าไลฟ์สไตล์อื่นๆ ที่ผสานอัญมณีและเครื่องประดับมาเป็นส่วนประกอบ ที่เริ่มได้รับความนิยมไม่แพ้กัน

นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้จัดพื้นที่สำหรับสาธิตการทำอัญมณีและเครื่องประดับ โดยนำช่างฝีมือของไทยมาทำสินค้าให้เห็นกันจริงๆ เพื่อเป็นการอนุรักษ์และส่งเสริมกลุ่มช่างฝีมือไทยให้คงอยู่ตามนโยบายรัฐบาล และทำให้ช่างต่างชาติที่เข้าร่วมงานได้เห็นถึงฝีมือของช่างไทย ซึ่งจะมีการจัดแสดงรวม 6 กิจกรรม ได้แก่ 1.การแกะแวกซ์ โดยอาจารย์ธเนศ เผ่าเวียงคำ 2.การฝังอัญมณีและเครื่องประดับ โดยอาจารย์สุเมธ มากเพ็ง 3.การลงยาสี โดยอาจารย์นิพนธ์ ยอดคำปัน 4.การลงยาถม โดยอาจารย์มงคล สาระพางค์ 5.การเจียระไนแฟนซี โดยอาจารย์ฐิรภัทร โชติจินดา และ 6.การประกอบงานรูปพรรณเครื่องประดับ โดยอาจารย์บุญสิน พรหมมูสิก
        
ส่วนกิจกรรมอื่นๆ จะมีการจัดสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับทิศทางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ การออกแบบและดีไซน์สมัยใหม่ การบุกเจาะตลาดจีน และความรู้เกี่ยวกับอัญมณีราศีต่างๆ รวมกิจกรรมสัมมนาและ workshop หัวข้อ “เคล็ด (ไม่) ลับ ฉบับจำเป็น (ต้อง) ชุบและเรื่องไม่ลับที่ต้องรู้ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ปี 2019” เป็นต้น
        
ในปี 2561 อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย ได้ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ช่างฝีมือและแรงงานในภาคอุตสาหกรรมถึง 1.2 ล้านคน และมีการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับรวมทองคำ มีมูลค่าถึง 383,713 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 4.74% ของการส่งออกทั้งหมดจากประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad