Air4Thai ไม่แม่น ผู้เชี่ยวชาญแนะเช็คค่าฝุ่นแอปเรียลไทม์อื่น เตือนธันวานี้อ่วมแน่ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

Air4Thai ไม่แม่น ผู้เชี่ยวชาญแนะเช็คค่าฝุ่นแอปเรียลไทม์อื่น เตือนธันวานี้อ่วมแน่

Air4Thai ไม่แม่น ผู้เชี่ยวชาญแนะเช็คค่าฝุ่นแอปเรียลไทม์อื่น เตือนธันวานี้อ่วมแน่


ฝุ่นควัน
ขอบฟ้ากรุงเทพมหานครในเช้าวันที่ 18 พฤศจิกายน ถูกปกคลุมด้วยชั้นฝุ่นควัน PM2.5 บางๆ / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์
นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชี้ประชาชนยังต้องพึ่งตนเองในการป้องกันตนจากมลภาวะทางอากาศช่วงฤดูกาลหมอกควัน หน้าหนาวนี้ เหตุเพราะระบบรายงานคุณภาพอากาศของทางการมีปัญหาและข้อจำกัดมากมาย จนไม่สามารถใช้เป็นแหล่งอ้างอิงข้อมูลคุณภาพอากาศสำหรับเตือนภัยสุขภาพให้กับประชาชนได้
เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสถานการณ์ฝุ่นควันด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลดาวเทียม พบว่าค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลมีแนวโน้มสูงขึ้นจนถึงระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (16 – 18 พฤศจิกายน) เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ปัญหาฝุ่นควันกำลังกลับมาเยือนกรุงเทพฯอีกครั้ง
GISTDA map
แผนที่แสดงพื้นที่ประสบปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ในวันที่ 18 พฤศจิกายน //ขอบคุณภาพจาก: GISTDA
GISTDA คาดว่า สาเหตุหลักของปัญหาฝุ่นควันที่กำลังส่งผลกระทบขณะนี้ เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์จากภาคอุตสาหกรรม และแหล่งก่อสร้างประเภทต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ประกอบกับสภาวะอากาศนิ่ง ทำให้เกิดการสะสมตัวของฝุ่นควันในชั้นบรรยากาศ
GISTDA ระบุเพิ่มเติมว่า สำหรับพื้นที่อื่นๆส่วนใหญ่ของไทยยังคงมีคุณภาพอากาศในระดับปานกลาง โดยคุณภาพอากาศในบริเวณภาคเหนือตอนบนและบางพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงอยู่ในระดับดี
อย่างไรก็ดี สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ คาดการณ์ว่าช่วงเดือนธันวาคมนี้ สถานการณ์ปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ในไทย โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น จากปัจจัยของอิทธิพลของความกดอากาศสูงจากประเทศจีนที่จะแผ่ลงมายังประเทศไทย ซึ่งจะทำให้เกิดปรากฎการณ์อุณหภูมิผกผัน (temperature inversion) อากาศนิ่งไม่ถ่ายเท นำไปสู่การสะสมตัวของฝุ่นควันและมลพิษในชั้นบรรยากาศระดับล่างจนก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพประชาชน
แม้ว่าปัญหาฝุ่นควันมลพิษจะส่อเค้าลางรุนแรงและประชิดเข้ามาทุกที แต่ สนธิ กล่าวว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังขาดความพร้อมอย่างยิ่งที่จะปกป้องสุขภาพของประชาชน และรับมือกับปัญหามลพิษฝุ่นควันในฤดูหนาว เพราะแม้แต่ระบบรายงานคุณภาพอากาศของภาครัฐยังมีข้อบกพร่องมากมายจนไม่อาจเป็นระบบที่ประชาชนสามารถพื่งพิงในการตรวจเช็คคุณภาพอากาศ เพื่อที่จะป้องกันสุขภาพของตนจากฝุ่นควัน PM2.5 ได้อย่างทันท่วงที
สนธิระบุว่า ปัญหาที่ใหญ่และชัดเจนที่สุดคือ แม้แต่ระบบรายงานคุณภาพอากาศของทางการผ่านแอปพลิเคชัน Air4Thai ยังมีปัญหาการรายงานคุณภาพอากาศไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริงในหลายพื้นที่ จากการที่บางสถานีตรวจวัดคุณภาพของกรมควบคุมมลพิษยังไม่มีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดปริมาณฝุ่น PM2.5 จนทำให้การรายงานดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ในพื้นที่นั้นๆคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
“หากดูในแอปพลิเคชัน Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษ ที่รัฐบาลขอให้ประชาชนตรวจสอบคุณภาพอากาศทุกวันเพื่อป้องกันตัวในช่วงวิกฤตฝุ่นควันในฤดูหนาวจะพบว่าฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 ส่วนใหญ่จะสัมพันธ์กับสีที่แสดง หรือค่า AQI ดังเช่นหากค่าฝุ่นPM 2.5 เกินค่ามาตรฐานก็จะแสดงเป็นสีส้มหรือสีแดงหากต่ำกว่ามาตรฐานจะแสดงสีเหลือง สีเขียวหรือสีฟ้า เป็นต้น” สนธิกล่าว
หากแต่ข้อเท็จจริงคือ ที่ผ่านมาสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศในเขต กทม.จำนวน 24 แห่งที่แสดงในแอป Air4Thai ไม่ได้มีการตรวจวัดฝุ่น PM2.5 เลย ดังนั้นการคำนวณค่า AQI ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศเหล่านี้ จึงไม่มีการคำนวณค่า PM2.5 ร่วมด้วย และทำให้ผลการรายงานคุณภาพอากาศคาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจผิดคิดว่าบริเวณนี้อากาศสะอาดทั้งปี ไม่ต้องป้องกันตนเอง โดยการพกพาหน้ากาก N-95 เพื่อป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เมื่อต้องออกไปในพื้นที่ดังกล่าว
เขายังระบุว่า ข้อจำกัดจากค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ของไทยที่สูงกว่าค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ถึง 2 เท่า และรูปแบบการรายงานคุณภาพอากาศที่รายงานผลย้อนหลังเป็นค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ทำให้การรายงานคุณภาพอากาศของทางการไม่สะท้อนสถานการณ์คุณภาพอากาศในเวลาจริง และไม่แสดงถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพที่แท้จริงจากมลพิษฝุ่นควัน PM2.5
ยิ่งไปกว่านั้น เขายังเปิดเผยว่า แม้ว่ารัฐบาลจะมีแนวทางและมาตรการการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ตามระดับความรุนแรงของสถานการณ์แล้ว หากแต่ในทางปฏิบัติกลับยังไม่มีแผนการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ชัดเจน ทำให้ยังมีความลักลั่นในข้อปฏิบัติมาตรการการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5
ดังนั้น สนธิจึงสรุปว่า อย่างน้อยในช่วงวิกฤตฝุ่นควันในปีนี้ ภาคประชาชนยังคงจำเป็นจะต้องพึ่งตนเองใน การป้องกันตัวจากภัยสุขภาพที่มากับฝุ่น PM2.5 เขาแนะนำว่า ประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงมลพิษทางอากาศเช่น พื้นที่ริมถนน หรือใต้สถานีรถไฟฟ้า ควรเช็คคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ก่อนออกไปทำกิจกรรมภายนอกบ้าน โดยเราสามารถเช็คได้โดยใช้แอปพลิเคชันตรวจวัดคุณภาพอากาศอื่นๆเช่น AQICN หรือ AirVisual ทดแทน หรือใช้เครื่องมือตรวจวัด PM 2.5 ชนิดพกพาแบบ Laser Sensor ซึ่งมีขายทั่วไปในตลาด และมีงานวิจัยโดยสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ (US Environmental Protection Agency) รองรับว่ามีความเที่ยงตรงใกล้เคียงกับเครื่องมือตรวจวัด PM 2.5 ของทางการ
สำหรับผู้ที่ใช้เครื่องตรวจวัด PM 2.5 ชนิดพกพา สนธิแนะนำว่า หากเครื่องอ่านค่าได้
  • 0 – 29 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร แสดงว่าปริมาณฝุ่น PM5 มีค่าต่ำ สามารถทำกิจกรรมนอกบ้านได้เต็มที่
  • 30 – 69 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร แสดงว่าปริมาณ PM 5 มีค่าปานกลาง ยังสามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ แต่ควรจำกัดไม่เกิน 1 ชั่วโมง และควรเช็คคุณภาพอากาศเป็นระยะ
  • 70 – 499 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร แสดงว่าปริมาณ PM 5 มีค่าสูงถึงระดับเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ควรใส่หน้ากากกันฝุ่น N-95 หรือหลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณดังกล่าว
  • มากกว่า 500 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร แสดงว่าปริมาณ PM 5 มีค่าสูงถึงระดับเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างยิ่ง ควรออกมาจากบริเวณนั้นทันที

ช่าวที่เกี่ยวข้อง
ที่มา:GreenNews

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad