“วีรศักดิ์”ลั่นจัดการยาปลอม หลังพบ “ไวอากร้า-ลดน้ำหนัก”ขายเกลื่อน หวังปกป้องผู้บริโภค - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

“วีรศักดิ์”ลั่นจัดการยาปลอม หลังพบ “ไวอากร้า-ลดน้ำหนัก”ขายเกลื่อน หวังปกป้องผู้บริโภค

“วีรศักดิ์”ลั่นจัดการยาปลอม หลังพบ “ไวอากร้า-ลดน้ำหนัก”ขายเกลื่อน หวังปกป้องผู้บริโภค

img
“วีรศักดิ์”เตรียมจับมือหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเดินหน้ารณรงค์ "Safe Meds, Save Lives” สร้างความตระหนักประชาชนและนักท่องเที่ยวใช้ยาที่ปลอดภัย พร้อมเดินหน้าจัดการยาปลอมเครื่องหมายการค้า ปลอมตัวยาใช้แป้งแทน หลังตรวจสอบเจอขายเกลื่อนที่ซอยนานา ถนนสุขุมวิท พบมีทั้ง “ไวอากร้า-ลดน้ำหนัก” เตือนภัยผู้บริโภค ซื้อกินแล้วระวังอันตรายต่อสุขภาพ

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศุลกากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร องค์การเภสัชกรรม และสมาคมร้านขายยา เป็นต้น ให้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรในการรณรงค์ "Safe Meds, Save Lives” เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวซื้อยาจากร้านขายยาที่ได้รับอนุญาต และร่วมมือกันสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากการแก้ปัญหาการจำหน่ายยาปลอมจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เห็นผลในระยะยาว

ทั้งนี้ กระทรวงฯ ยังเตรียมการหารือกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อจัดกิจกรรมมอบนโยบายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและปราบปรามการจำหน่ายยาปลอม และยาที่จำหน่ายโดยผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาต พร้อมทั้งลงพื้นที่รณรงค์อย่างเข้มข้นในบริเวณที่มีการกระทำผิดค่อนข้างมาก เช่น ซอยนานาและถนนสุขุมวิท ซึ่งมีการหลอกขายยาปลอมแก่นักท่องเที่ยวและประชาชนอยู่บ่อยครั้ง

“การดำเนินการดังกล่าว นอกจากจะสร้างความเข้าใจให้แก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ รวมถึงผู้บริโภคชาวไทยได้ตระหนักถึงอันตรายจากการใช้ยาปลอมแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ให้เห็นว่าประเทศไทยไม่สนับสนุนให้มีการจำหน่ายยาปลอมและยาที่จำหน่ายโดยผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตด้วย”

นายวีรศักดิ์กล่าวว่า ยาปลอมเป็นเรื่องการละเมิดเครื่องหมายการค้า โดยการนำเข้า ผลิต และจำหน่ายยาปลอม ซึ่งนอกจากสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อเจ้าของเครื่องหมายการค้าสินค้ายาแล้ว ยังเป็นการซ้ำเติมผู้ป่วยหรือผู้ที่ใช้ยาให้ได้รับความทุกข์ทรมาน ได้รับอันตรายต่อสุขภาพ หรือเสียชีวิตจากการใช้ยาปลอม โดยไม่คำนึงถึงมนุษยธรรมและผลกระทบต่อสังคม ซึ่งความเสียหายต่อสุขภาพผู้ซื้อยาปลอมนั้นประเมินมูลค่าไม่ได้ นับเป็นความสูญเสียที่เสียหายหนักกว่าปัญหาการละเมิดเครื่องหมายการค้า

ก่อนหน้านี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย โดยสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาสหรัฐ (USPTO) ทำการเปิดตัวโครงการรณรงค์ “Safe Meds , Save Lives” ซึ่งเป็นการรณรงค์เสริมสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้ตระหนักถึงอันตรายจากการใช้ยาปลอม หรือยาที่จำหน่ายโดยผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต จากนั้นสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ได้ขอให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา เชิญสำนักงานคณะกรรมการอาหารและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วมในการรณรงค์ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับยาปลอมที่มีการจำหน่ายกันเป็นอย่างมาก เช่น ยาเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ยาลดน้ำหนัก เป็นต้น โดยยาปลอมที่มีการจับกุมได้มาก คือ ยาไวอากร้า มีทั้งปลอมเครื่องหมายการค้า ด้วยการปลอมยี่ห้อของเจ้าดังๆ และปลอมตัวยา โดยใช้แป้งมาทำ ทำให้ไม่มีสารออกฤทธิ์ เมื่อซื้อไปใช้ก็ไม่มีประโยชน์และอาจเป็นโทษต่อร่างกาย โดยโทษกรณีปลอมเครื่องหมายการค้า จำคุก 4 ปี ปรับ 4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีทำยาปลอมตามพ.ร.บ.ยา จำคุก 3 ปีถึงตลอดชีวิต และปรับ 1-5 หมื่นบาท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad