เอ็นไอเอ เร่งอัพสปีดนวัตกรรมไทย แชร์ไกด์ไลน์ตามรอยกลุ่ม “นอร์ดิก” พร้อมโชว์โมเดลเทคโนโลยีที่ต้องก้าวตาม หนุนความยั่งยืนเป็นตัวแปรสำคัญ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

เอ็นไอเอ เร่งอัพสปีดนวัตกรรมไทย แชร์ไกด์ไลน์ตามรอยกลุ่ม “นอร์ดิก” พร้อมโชว์โมเดลเทคโนโลยีที่ต้องก้าวตาม หนุนความยั่งยืนเป็นตัวแปรสำคัญ

เอ็นไอเอ เร่งอัพสปีดนวัตกรรมไทย แชร์ไกด์ไลน์ตามรอยกลุ่ม “นอร์ดิก” พร้อมโชว์โมเดลเทคโนโลยีที่ต้องก้าวตาม หนุนความยั่งยืนเป็นตัวแปรสำคัญ

เอ็นไอเอ เร่งอัพสปีดนวัตกรรมไทย แชร์ไกด์ไลน์ตามรอยกลุ่ม “นอร์ดิก” พร้อมโชว์โมเดลเทคโนโลยีที่ต้องก้าวตาม หนุนความยั่งยืนเป็นตัวแปรสำคัญ
        
 - เอ็นไอเอสานความสัมพันธ์ไทย-ฟินแลนด์ จัดงาน FUSE@Bangkok เปิดมุมมองสร้างสรรค์นวัตกรรมแบบนอร์ดิก พร้อมเดินหน้าสานต่อความร่วมมือพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพ – ศักยภาพเทคโนโลยี
          สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จับมือพันธมิตร ได้แก่ สถานเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ และหอการค้าไทย – ฟินแลนด์ จัดสัมมนาเชิงวิชาการด้านนวัตกรรม Fuse@Bangkok เพื่อสร้างประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่างไทยและฟินแลนด์ เผยฟินแลนด์และกลุ่มประเทศนอร์ดิกเป็นต้นแบบการพัฒนาเทคโนโลยีที่สำคัญสำหรับประเทศไทยหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานของเทคโนโลยีชีวภาพ วิธีการเก็บและบริหารจัดการฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการสร้างความยั่งยืนและลดความเหลื่อมล้ำ นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าไว้ในอนาคตไทยและฟินแลนด์จะมีความร่วมมือทางด้านการพัฒนานวัตกรรมเพิ่มเติม เช่น การส่งเสริมสตาร์ทอัพระหว่างไทยและกลุ่มประเทศนอร์ดิก การแลกเปลี่ยนบุคลากรของไทยและฟินแลนด์ ฯลฯ
          ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า NIA ได้ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย หอการค้าไทย – ฟินแลนด์ และบริษัท Renesans Consulting จำกัด จัดงาน Fuse@Bangkok ซึ่งเป็นงานสัมมนาเชิงวิชาการด้านนวัตกรรม ที่ได้รับเกียรติจากผู้บรรยายที่มีชื่อเสียงจากในประเทศไทยและต่างประเทศ ทั้งองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน เช่น สถานเอกอัครราชทูตฟินแลนด์, KONE, SCG, NOKIA, AIT, และ VALMET มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองการสร้างสรรค์นวัตกรรมในไทย และฟินแลนด์ ทั้งในมุมองของภาครัฐและภาคเอกชน อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อการสร้างผู้นำนวัตกรรมยุคใหม่ การขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน การสร้างวัฒนธรรมด้านนวัตกรรม การพัฒนาศักยภาพเพื่อนวัตกรรมในอนาคต และนวัตกรรมในภาครัฐและสถาบันอีกด้วย ทั้งนี้ ตั้งเป้าไว้ว่าในอนาคตไทยและฟินแลนด์จะมีความร่วมมือทางด้านการพัฒนานวัตกรรมเพิ่มเติม เช่น การส่งเสริมสตาร์ทอัพระหว่างไทยและกลุ่มประเทศนอร์ดิก การพัฒนานวัตกรรมในองค์กรภาครัฐ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนบุคลากรของไทยและฟินแลนด์ เป็นต้น
          "สำหรับกิจกรรมดังกล่าว NIA ได้เรียนรู้ถึงแนวทางการพัฒนานวัตกรรมแบบ "นอร์ดิก" ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีประสิทธิภาพและใช้ในกลุ่มสาธารณรัฐฟินแลนด์ ราชอาณาจักรนอร์เวย์ ประเทศสวีเดน ราชอาณาจักรเดนมาร์ค และประเทศไอซ์แลนด์ โดยเทคโนโลยี และนวัตกรรมส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ กลุ่มประเทศนอร์ดิกยังถือเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีอิทธิพลในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลกโดยมีตัวอย่างความสำเร็จที่เคยเกิดขึ้น เช่น ระบบภาษา C++ ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในโลกปัจจุบันและเป็นรากฐานสำหรับระบบต่างๆ เกือบทุกอย่างในโลกเทคโนโลยี เช่น เซิร์ฟเวอร์โทรศัพท์มือถือ เราเตอร์ (Router) ฐานข้อมูล (Database) ระบบ Linux ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่โดดเด่นที่สุดของฟรีซอฟต์แวร์ หรือแม้แต่กระทั่งเครื่องมือสื่อสารยอดนิยมอย่าง NOKIA ก็ถือกำเนิดขึ้นในภูมิภาคนี้เช่นเดียวกัน"
          ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยสามารถหยิบยกการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมแบบนอร์ดิกมาเป็นต้นแบบได้ในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานของเทคโนโลยีชีวภาพให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เพื่อทำให้สังคมและเศรษฐกิจเติบโตได้อย่างสมดุล ส่วนต่อมาคือการเรียนรู้วิธีการเก็บข้อมูล (BIG DATA) ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการและนำมาใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ ยังมีกรณีศึกษาเกี่ยวกับนวัตกรรมสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และการสื่อสารโทรคมนาคมที่กำลังจะทวีบทบาทต่อการพัฒนาประเทศในปีถัดไป การมุ่งเน้นเทคโนโลยีที่สร้างความเสมอภาคและลดความเหลื่มล้ำสังคม เช่น การบริการรักษาพยาบาล การศึกษา การจัดระบบบำเหน็จบำนาญ การดูแลผู้พิการและผู้สูงอายุ ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีสะอาดให้เพิ่มมากขึ้นเพื่อปรับปรุงสภาพสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ตั้งแต่การจัดการเรื่องของเสีย การนำกลับมาใช้ใหม่ การจัดการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ ฯลฯ
          นางซาตู ซุยก์การี-เคลฟเวน (H.E. Mrs. Satu Suikkari-Kleven) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทย กล่าวว่า "ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีขีดความสามารถทางนวัตกรรมในระดับสูง ได้รับการจัดอันดับจาก Bloomberg Innovation Index ให้อยู่ในลำดับที่ 3 ของประเทศที่มีความก้าวหน้าทางนวัตกรรมของโลกประจำปี 2019 และอยู่ในอันดับ 6 ของดัชนีนวัตกรรมระดับโลก (Global Innovation Index 2019: GII 2019) ซึ่งจัดโดยองค์กรทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก เนื่องจากได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมจากรัฐบาล และหน่วยงานเอกชนต่างๆ อย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชาวฟินแลนด์ให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศแล้ว ยังสามารถช่วยในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างชัดเจน จึงทำให้ชาวฟินแลนด์ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาด้านนวัตกรรมต่อไปเพื่อความยั่งยืนในอนาคต และฟินแลนด์มีความยินดีเป็นอย่างมากที่จะสร้างความร่วมมือในการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพระหว่างไทยและฟินแลนด์ให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น"
          ด้านศาสตราจารย์อาลฟ์ เรห์น (Prof. Alf Rehn) ศาสตราจารย์และนักเขียนที่มีชื่อเสียงชาวฟินแลนด์ กล่าวว่า "ประเทศฟินแลนด์ใช้เงินลงทุนพัฒนาด้านนวัตกรรมโดยรวมมากกว่า 3,000 ล้านยูโร ในขณะที่องค์กรและบริษัทส่วนใหญ่ในปัจจุบันใช้เงินเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในการพัฒนา และการลงทุนด้านนวัตกรรมในบางครั้งก็สร้างนวัตกรรมที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด เช่น บริษัทแห่งหนึ่งผลิต magic socks ถุงเท้าที่จะมีสัญญาณการแจ้งเตือนแก่ผู้สวมใส่ว่าถุงเท้ายังคงอยู่ในสภาพดีหรือไม่ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ไม่ได้มีประโยชน์มากพอต่อสังคม เป็นการใช้เงินลงทุนไปแต่ได้ประโยชน์กลับมาเพียงเล็กน้อย เราจึงต้องคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีคุณค่าเพียงพอไม่ใช่นวัตกรรมตื้นเขิน (shallow innovation) ประเทศกลุ่มนอร์ดิกเป็นกลุ่มประเทศที่มีประชากรรวมกันน้อยกว่าประเทศไทยเสียอีก เราจึงต้องคิดวิธีที่จะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรบุคคลที่มีให้คุ้มค่าที่สุด หัวใจของการสร้างนวัตกรรมในกลุ่มนอร์ดิกไม่ได้เกิดจากใช้ทักษะด้านองค์ความรู้/ความสามารถเชิงเทคโนโลยีในมิติของ Hard skills เพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากมิติด้าน Soft skills ด้วย เช่น ความเชื่อใจ (trust) ความโปร่งใส (transparency) และ ความร่วมมือร่วมใจ (togetherness) เพื่อจะช่วยสร้างวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการใช้ความคิดสร้างสรรค์ และนำไปสู่การเกิดนวัตกรรมได้
          สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-0175555 เว็บไซต์ www.nia.or.th หรือ facebook.com/niathailand

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad