สวทช. ผนึกภาคีพันธมิตร จับมือจังหวัดร้อยเอ็ด เดินหน้า “Smart Tambon Model” ยกระดับคุณภาพชีวิตท้องถิ่นด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

สวทช. ผนึกภาคีพันธมิตร จับมือจังหวัดร้อยเอ็ด เดินหน้า “Smart Tambon Model” ยกระดับคุณภาพชีวิตท้องถิ่นด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

สวทช. ผนึกภาคีพันธมิตร จับมือจังหวัดร้อยเอ็ด เดินหน้า “Smart Tambon Model” ยกระดับคุณภาพชีวิตท้องถิ่นด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

เมื่อเร็วๆนี้ ที่เทศบาลตำบลคำพอุง อ.โพธิ์ชัย จ.ร้อยเอ็ด - สวทช. ลงนามบันทึกความร่วมมือกับจังหวัดร้อยเอ็ด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และเครือเบทาโกร เดินหน้าโครงการ Smart Tambol Model นำร่องที่เทศบาลตำบลคำพอุง พัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่แบบองค์รวม 5 ด้านด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และผู้อำนวยการสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) กล่าวว่า การส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่แบบองค์รวมในระดับตำบล หรือ Smart Tambon Model เป็นต้นแบบการพัฒนาท้องถิ่นที่เกิดจากการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน เพื่อพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่แบบองค์รวม 5 ด้าน ได้แก่ อาชีพ สุขภาพ การศึกษา สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินงาน “เทศบาลตำบลคำพอุง อ.โพธิ์ชัย จ.ร้อยเอ็ด เป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องของ Smart Tambon Model ซึ่งชุมชนมีผู้นำที่เข้มแข็ง เทศบาลฯ เห็นความสำคัญกับการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน ขณะเดียวกันยังมีสถาบันการศึกษาในพื้นที่ถึง 3 แห่งที่พร้อมเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนบุคลากร ความรู้ และขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับ สวทช. และภาคีพันธมิตร โดยที่ผ่านมา สวทช. ได้นำร่องถ่ายทอดโรงเรือนพลาสติกเพื่อการผลิตพืชผักคุณภาพให้กับชุมชน รวมถึงลงพื้นที่เก็บข้อมูลร่วมกับบริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) และกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและวางแนวทางการพัฒนาพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม”
นายจักริน แต้ไพสิฐพงษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สำนักกิจการเพื่อสังคม เครือเบทาโกร กล่าวว่า เครือเบทาโกรทำงานด้านชุมชนมากว่า 10 ปี ภายใต้แนวคิดการทำงานพัฒนาพื้นที่แบบองค์รวม (Holistic Area-based Community Development) หรือ HAB เพื่อให้เกิดการพัฒนาชุมชนในทุกด้าน “เราเชื่อว่าการพัฒนาชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จำเป็นต้องพัฒนาให้ครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ การศึกษา สุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม จะตอบโจทย์ปัญหาของชุมชนและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่แท้จริงให้ชุมชนได้ ทั้งนี้ต้องได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งประสบการณ์การทำงานชุมชนของเครือเบทาโกรจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนโครงการ Smart Tambon Model ให้เกิดขึ้นได้ จะเป็นต้นแบบการทำงานพัฒนาท้องถิ่นในพื้นที่อื่นและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศได้”
นายทวี จงประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า การพัฒนาจังหวัดร้อยเอ็ดให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของจังหวัดที่มุ่งให้เป็นจังหวัดเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคม บนพื้นฐานแหล่งผลิตและสร้างมูลค่าข้าวหอมมะลิคุณภาพสูง เอื้อต่อการลงทุนภาคเอกชน และเป็นเมืองน่าเที่ยวน่าอยู่นั้น จำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือและความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกจังหวัด รวมถึงการทำงานที่เข้มแข็งของบุคลากรในพื้นที่  “โครงการ Smart Tambon Model เป็นอีกหนึ่งกลไกการทำงานที่จะสนับสนุนการพัฒนาจังหวัดร้อยเอ็ด สอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัดที่มุ่งขยายผลการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน และด้วยการใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาชุมชน จะช่วยให้เกิดการพัฒนาแบบก้าวกระโดด ซึ่งเทศบาลตำบลคำพอุงเป็นพื้นที่นำร่องของจังหวัดร้อยเอ็ดที่เข้าร่วมโครงการนี้และจะเป็นต้นแบบการพัฒนาท้องถิ่นด้วยความรู้และขยายผลในพื้นที่อื่นของจังหวัดต่อไป”
ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) กล่าวว่า หนึ่งในพันธกิจของมหาวิทยาลัยคือ การบริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่สังคม ซึ่งมหาวิทยาลัยมีบุคลากรที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญพร้อมให้บริการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ “โครงการ Smart Tambon Model เป็นอีกมิติการพัฒนาชุมชนที่เริ่มจากระดับตำบลและครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่แบบองค์รวมทั้ง 5 ด้าน ซึ่งมหาวิทยาลัยในฐานะหน่วยงานด้านการศึกษาพร้อมส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการวิจัยพัฒนา ทดสอบ สาธิต และถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมสู่ชุมชน รวมถึงสนับสนุนบุคลากรและทรัพยากรร่วมดำเนินงานเพื่อตอบโจทย์ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวตำบลคำพอุงให้ดีขึ้น” ทั้งนี้ภายในงานยังได้จัดนิทรรศการแสดงผลงานและให้ความรู้เทคโนโลยีจาก สวทช. กรมพัฒนาที่ดิน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และหน่วยงานเอกชนในพื้นที่

ที่มา:สวทช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad